ค่ายรถ โหมแคมเปญ รับมือตลาดหดตัวแรง 

ค่ายรถ โหมแคมเปญ รับมือตลาดหดตัวแรง 

บริษัทรถยนต์เดินเกมรุก อัดแคมเปญ โปรโมชั่น หวังกระตุ้นยอด หลังพิษโควิดฉุดกำลังซื้อ

การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบในวงกว้าง และฉุดตลาดรถยนต์อย่างเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากการหยุดชะงักของภาคธุรกิจต่าง ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ขณะที่ผู้ที่ยังมีกำลังซื้อก็ชะลอการใช้เงิน ชะลอการตัดสินใจ เพราะไม่ต้องการสร้างภาระก้อนใหญ่ในช่วงเวลานี้ และก็ยังมีข่าวแว่วมาอีกว่า ลูกค้าหลายๆ คนที่จองรถไว้แล้วบางคน ตัดสินใจทิ้งจอง เป็นการป้องกันตัวเองไว้ก่อน 

ซึ่งระยะหลังๆ การทิ้งจองส่วนใหญ่จะไม่มีความเสียหายอะไรนัก เพราะบริษัทรถยนต์มักจะคืนเงินค่าจองให้ แม้ว่าจะสามารถเก็บไว้ไม่คืนได้ก็ตาม เพราะเห็นว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้ จะมีประโยชน์อนาคต มากกว่าการได้เงินหลักพันหรือหลักหมื่นบาท 

แต่แน่นอนผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และบริษัทผู้ผลิต จากยอดขายที่ร่วงไป โดยล่าสุดแหล่งข่าวระบุว่าช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ยอดขายติดลบประมาณ 25% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

ซึ่งไตรมาสแรกปี 2562 นั้น ตลาดมียอดขายรวม 2.63 แสนคัน ดังนั้นเท่ากับไตรมาสแรกปีนี้จะมียอดขายประมาณ 1.97 แสนคันเท่านั้น 

ตลาดรถยนต์ปีนี้ ที่แต่เดิมคาดการณ์กันว่าจะติดลบอยู่แล้ว ตามทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะมี ไวรัส มาทำให้การถดถอยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก 

โดยช่วงต้นปีหลายคนคาดการณ์ว่าตลาดน่าจะหดตัวประมาณ 5% จากยอดขาย 1.006 ล้านคัน ในปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่า บริษัทรถยนต์ต่างก็หันหน้าเข้าหาปัญหา พยายามสู้อย่างเต็มที่ เพราะเชื่อว่าหากสถานการณ์ตลาดไม่ดีแล้วผู้ทำตลาดโอนอ่อนไปตามทิศทางตลาด จะยิ่งทำให้สถานการณ์ต่างๆ แย่ลงกว่าเดิม ดังนั้นเราจึงได้เห็นการเดินดำเนินธุรกิจตามแผนการต่างๆ ที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขา เปิดโชว์รูมแห่งใหม่ การเปิดตัวรถรุ่นใหม่ รุ่นพิเศษ หรือว่ารุ่นไมเนอร์เชนจ์อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังเสริมศักยภาพการแข่งขันผ่านแคมเปญต่างๆ หลากหลายรูปแบบ ทั้งแนวทางเดิมคือเงื่อนไขทางการเงิน อย่างดาวน์น้อย ผ่อนนาน ดอกเบี้ยต่ำ การแจกแถม เช่น ประกันภัย การบริการหลังการขาย หรือช่วยเหลือฉุกเฉินแล้ว ก็ยังมีแนวทางใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามามากขึ้น เช่น การร่วมมือกับพันธมิตรอย่างบัตรเครดิตหรือองค์กรอื่นๆ มากขึ้น 

และแคมเปญรูปแบบใหม่ๆ ที่เริ่มใช้กันมากขึ้น เช่น การยืดระยะการผ่อนชำระงวดแรก มีทั้งยืดออกไป 3 เดือน ไปจนถึงยืดไปชำระงวดแรกกันในปี 2564 เพื่อให้ลูกค้าที่พอจะมีกำลังซื้ออยู่บ้าง ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และมีเวลาเตรียมตัวในการผ่อนชำระที่ยาวนาน 

รวมไปถึงความพยายามหารูปแบบทางการตลาดใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น การนำระบบออนไลน์เข้ามาใช้มากขึ้น ทั้งใช้บางส่วน เช่น เป็นช่องทางติดต่อสื่อสาร แจ้งข้อมูลข่าวสาร ไปจนถึงการใช้เต็มรูปแบบ ทั้งการติดต่อ นัดหมาย จองรถ ส่งมอบรถ ไปถึงการชำระเงิน ผ่านทางเว็บไซต์, แอพพลิเคชั่นเฉพาะ หรือ แอพพลิเคชั่นชื่อดังอย่าง ไลน์

รวมถึงการจัดกิจกรรมกระตุ้นตลาดในช่วงที่ผู้คนกำลังอยู่ในช่วงเว้นระยะทางสังคม เช่น การจัด มอเตอร์โชว์ ไลฟ์ เป็นต้น

ไม่ว่ากิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ได้ผลมากน้อยเพียงใด แต่อย่างไรก็ตามทำให้ยังมีความเคลื่อนไหวในตลาด และดึงอารมณ์ผู้คนไม่ให้ห่อเหี่ยวจนเกินไป 

ส่วนกิจกรรมที่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือ ภาคการผลิต ที่หลายโรงงานประกาศหยุดการผลิตชั่วคราว ระยะเวลาแล้วแต่ความเหมาะสมของตลาด สต็อก รวมถึงสถานการณ์ของผู้ผลิตชิ้นส่วน เพราะปัจจุบันการผลิตรถยนต์มีโครงข่ายทั่วโลก ชิ้นส่วนบางรายการผลิตในประเทศที่กำลังประสบปัญหาโควิด-19 รุนแรง ทำให้ไม่สามารถผลิตได้ หรือไม่สามารถขนส่งได้ เป็นต้น 

ล่าสุด "โตโยต้า" ซึ่งแต่เดิมประกาศปิดสายการผลิตระหว่างวันที่ 7-17 เม.ย. ทั้ว 3 โรงงานที่สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา ก็ตัดสินใจเลื่อนการหยุดสายผลิตจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่อีกหลายบริษัทประกาศไปก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น ฟอร์ด มาสด้า นิสสัน มิตซูบิชิ ฮอนด้า หรือว่า อีซูซุ ก็ตาม

หลายคนก็คงหวังว่า เมื่อสิ้นสุดเดือน เม.ย. สถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลาย และทำให้เกิดการผลิตเพื่อขับเคลื่อนตลาดรถยนต์ที่กำลังต้องการตัวช่วยเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้