กองทุนน้ำมันฯตุน3.6หมื่นล. พร้อมดูแลเสถียรภาพราคา

กองทุนน้ำมันฯตุน3.6หมื่นล.  พร้อมดูแลเสถียรภาพราคา

กบน. เผย โควิด-19 ฉุดยอดใช้น้ำมันต่ำกว่าเป้า ช่วยลดภาระอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ ยันสถานะกองทุนน้ำมันฯแข็งแกร่ง ตุนเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท พร้อมดูแลเสถียรภาพราคา “มนูญ” แนะรัฐทยอยยกเลิกอุดหนุน ดีเซล บี20 และแก๊สโซฮอลล์ อี85

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ สกนช. เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน วานนี้(17เม.ย.) ได้พิจารณาแผนบริหารงานของหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อยอดการใช้น้ำมันของประเทศไทยลดลง

โดยพบว่า ณ วันที่ 12 เม.ย. 2563 กองทุนน้ำมันฯ มีเงินสุทธิ 36,149 ล้านบาท แยกเป็น บัญชีน้ำมัน 41,837 ล้านบาท และ บัญชีแอลพีจี ติดลบ 5,688 ล้านบาท เนื่องจากเงินที่ใช้อุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพน้อยลงกว่าแผน โดยเฉพาะดีเซล บี 10 ที่เดิมคาดว่า ยอดการใช้เดือนมี.ค.จะเพิ่มเป็น 20 ล้านลิตร และสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 57 ล้านลิตร ต่อเดือน แต่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายเพราtการเดินทางเพื่อขนส่งและท่องเที่ยวชะลอตัวอันเนื่องมาจากปัญหาโควิดโดยตรงและผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด

รวมถึง การปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯสำหรับน้ำมันทุกชนิดลง 50 สตางค์ต่อลิตร ยกเว้น ดีเซล บี20 และแก๊สโซฮอล์ อี85 เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เดิมคาดว่า ช่วงกลางปีนี้ กองทุนน้ำมันฯจะเหลือเงินสุทธิประมาณ 28,000 ล้านบาทแต่เนื่องจากยอดใช้น้ำมันที่ลดลงจากผลกระทบโควิด-19 และราคาแอลพีจี ตลาดโลก อยู่ในเกณฑ์ต่ำ

ทั้งนี้จึงคาดการณ์ว่าปัจจัยต่างๆจะ ทำให้ช่วงกลางปี ยอดเงินสุทธิกองทุนน้ำมันฯ จะยังมีเงินเหลืออยู่ที่ประมาณ 36,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพราะราคาน้ำมันอยู่ระดับต่ำ ขณะที่ยอดขายน้ำมันก็ลดลงมาก

“แม้ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯ จะเข้าไปอุดหนุนราคาดีเซล บี10 ให้ต่ำกว่าดีเซล บี7 ในอัตรา 3 บาทต่อลิตร แต่ก็ไม่ทำให้สถานะของกองทุนฯลดลง เพราะยอดการใช้ไม่โต จึงมั่นใจว่า กองทุนฯจะดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันไปได้ในระยะยาว และอาจใช้จังหวะนี้ ยกเลิกการอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพบางชนิดได้ด้วย”

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงมากในปัจจุบัน ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสม หากภาครัฐจะทยอยยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี85 ที่อุดหนุนอยู่ที่ 7 บาทต่อลิตร และดีเซล บี20 อุดหนุนอยู่ 4 บาทต่อลิตร เพราะจะเป็นการลดภาระให้กับกองทุนน้ำมันฯ และให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เปลี่ยนไป 

หลังราคาหน้าโรงกลั่น เบนซิน 95 อยู่ที่ 5.32 บาทต่อลิตร ในขณะที่ราคา อี 85 สูงถึง 18.79 บาทต่อลิตร ซึ่งในอดีต การส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ อี85 เพื่อลดภาระการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศที่มีราคาแพง จึงส่งเสริมพืชพลังงานในประเทศ แต่ปัจจุบัน ราคาน้ำมันถูกมาก ทำให้ผู้ใช้รถหันไปเติมน้ำมันชนิดอื่นแทน และการคงหัวจ่ายแก๊สโซฮอล์ อี85 ไว้ ก็ทำให้ผู้ค้าน้ำมันแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้น การยกเลิก อี85 ตามกลไกตลาดก็เป็นเรื่องที่รัฐควรจะพิจารณาให้สอดรับกับสถานการณ์

ส่วนมาตรการของภาครัฐที่ต้องการช่วยเหลือกลุ่มโรงกลั่นฯ ด้วยการประกาศลดสำรองน้ำมันทางกฎหมาย ระยะแรกลดสำรองจาก 6% เหลือ 4% เป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากเดือนเม.ย.นี้ และระยะที่ 2 สำรองเป็น 5% เป็นระยะเวลาอีก 1 ปี นั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ในส่วนของระยะที่2 มองว่า ภาครัฐควรจะทบทวน ยืดเวลาให้สำรองอยู่ในระดับ 4% ไปก่อน เพราะผลกระทบจากโควิด -19 ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะคลี่คลายลงเมื่อใด

ขณะที่กำลังผลิตน้ำมันยังล้นตลาด ดังนั้น ความจำเป็นในการสำรองในปริมาณมากจึงมีความสำคัญลดลงไป ขณะที่ค่าการกลั่น ปัจจุบันก็ลดต่ำลงมาก เหลือประมาณ 0.58 บาทต่อลิตร จากที่อัตราที่เหมาะสมไม่ควรต่ำกว่า 2 บาทต่อลิตร

รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มโอเปก ประเมินราคาน้ำมันดิบว่าน่าจะได้รับแรงหนุนจากความหวังที่ความต้องการใช้น้ำมันจะฟื้นตัวเร็วกว่าคาด หลังบางประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเตรียมที่จะผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดโควิด-19 ในเร็ว ๆ นี้