‘ไทยคม’ พุ่ง 11 วันติด ลุ้นจับมือ ‘กสท’ บริหารดาวเทียม

‘ไทยคม’ พุ่ง 11 วันติด  ลุ้นจับมือ ‘กสท’ บริหารดาวเทียม

เข้าสู่ไตรมาส 2 มาได้เกือบเดือน ดูเหมือนว่าบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเริ่มดีขึ้น ดัชนีค่อยๆ ไต่ระดับมีแรงซื้อกลับเข้ามา หลังลงไปทำจุดต่ำสุดในรอบกว่า 8 ปี หลุด 1,000 จุด เมื่อต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวรอบนี้ไม่ได้การันตีว่า ตลาดกลับมาเป็นขาขึ้น 100% เพราะแรงเทขายหนักๆ ยังมีสลับออกมาเป็นระยะ ท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจที่อ่อนแอ จากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนธุรกิจ

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า จีดีพีปีนี้จะติดลบถึง 5.3% ส่วนตัวเลขล่าสุดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ให้ติดลบ 6.7% ต่ำสุดในภูมิภาค จากโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพารายได้หลักจากการท่องเที่ยวและการส่งออกซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องเร่งอัดฉีดงบประมาณ เติมเงินเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยฝ่าฟันมหาวิกฤตไวรัสมรณะนี้ไปให้ได้

แม้ตลาดหุ้นไทยเดือนนี้ยังผัวผวน ขึ้นแรง ลงแรง คาดเดาทิศทางลำบาก แต่มีหุ้น 1 ตัว ที่กำลังฟื้นคืนชีพ หลังถูกเมินมาพักใหญ่ จากผลประกอบการที่อ่อนแอของธุรกิจดาวเทียมที่เข้าสู่ช่วงขาลง คือ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM หลังราคาหุ้นแรงติดสปีดบวกมา 11 วันทำการติดต่อกัน

เรียกว่าแรงเกินหน้าเกินตาหุ้นใหญ่พื้นฐานดีหลายๆ ตัว โดยปิดการซื้อขายล่าสุดเมื่อวันศุกร์ (17 เม.ย.) ที่ราคา 3.52 บาท เพิ่มขึ้น 0.02 บาท หรือ 0.57% หรือ ขึ้นมาแล้วกว่า 50% จากสิ้นเดือน มี.ค. อยู่ที่ 2.30 บาท

ร้อนแรงขนาดนี้ไปไล่สืบได้ความว่า ตลาดคาดหวังบริษัทมีโอกาสจับมือเป็นพันธมิตรกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด เพื่อดูแลกิจการดาวเทียมไทยคม 4, 5 และ 6 ที่กำลังจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับรัฐในเดือน ก.ย. 2564 ต่อไป 

โดยก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาตั้งแต่ช่วงต้นปีว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จะมอบหมายให้ กสท เข้ามารับช่วงต่อดูแลกิจการดาวเทียมของไทยคมหลังสิ้นสุดสัมปทาน

ถามว่าความหวังครั้งนี้จะกลายเป็นจริงหรือเปล่า ? หรือ จะเป็นเพียงกว่าความฝัน ? หากวิเคราะห์แล้วมีความเป็นไปได้ เพราะในประเทศมีไทยคมเพียงเจ้าเดียวที่ทำธุรกิจดาวเทียมสื่อสาร รับสัมปทานมามากกว่า 20 ปี มีความเชี่ยวชาญเข้าใจในธุรกิจ

ดังนั้น ถ้า กสท ต้องหาพาร์ทเนอร์ บริษัทดูมีภาษีมากกว่าใคร แต่ถ้ารัฐเปิดทางต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจเหมือนกับหลายประเทศ แน่นอนว่าคู่แข่งย่อมมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการตั้งคณะทำงานศึกษาการเปิดเสรีธุรกิจดาวเทียมของหลายประเทศมาแล้ว

หากมองห้ามช็อต ถ้าดีลนี้เกิดขึ้นจริง กสท ตกลงเลือก ไทยคม มาร่วมเป็นพันธมิตรถือเป็นการต่อลมหายใจให้กับบริษัทสามารถดำเนินธุรกิจไปได้อีกหลายปี แต่รูปแบบรายได้คงเปลี่ยนไป จากเดิมที่บริษัทต้องหาลูกค้าทำตลาดเอง มีรายได้เข้ามาจากการขายและให้บริการ เปลี่ยนมาเป็นรายได้จากค่าจ้างในการดำเนินกิจการจาก กสท.

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าธุรกิจดาวเทียมเข้าสู่ช่วงขาลงมาหลายปี ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ที่ค่อยๆ เสื่อมความนิยม ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่เป็นไปทั้งโลก เนื่องจากมีสื่อใหม่ๆ เข้ามาทดแทน ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนดูทีวีน้อยลง หันไปเสพสื่อดิจิทัลมากขึ้น

ลูกค้าหลักในกลุ่มทีวีดิจิทัลปิดกิจการคืนใบอนุญาตไปแล้วหลายช่อง นอกจากนี้ การจะหาลูกค้าใหม่ๆ ทำได้ยากขึ้นเพราะเหลืออายุสัมปทานไม่มาก ที่สำคัญยังไม่มีความชัดเจนว่าหลังสิ้นสุดสัมปทานจะดำเนินการอย่างไรต่อ

แม้ที่ผ่านมา บริษัทจะเริ่มปรับตัวไปสู่การให้บริการดาวเทียมอินเตอร์เน็ต เพื่อส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไปยังพื้นที่ห่างไกล การส่งสัญญาณโทรทัศน์ด้วยเทคโนโลยีภาพที่คมชัดมากขึ้น รวมถึงการสำรวจ การนำทาง และการถ่ายภาพ ที่มีความชัดเจนในระดับสูงมาก แต่สัดส่วนรายได้ยังไม่เยอะ

ภาพรวมธุรกิจดาวเทียมถือว่ายังเหนื่อย แม้สุดท้ายบริษัทจะได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับ กสท. และให้บริการดาวเทียมไทยคม 4, 5 และ 6 ต่อไป แต่ผลประกอบการยังอยู่ในช่วงขาลงจากภาวะอุตสาหกรรมดาวเทียมที่ซบเซา ดังนั้น ราคาหุ้นที่บวกต่อเนื่องมาหลายวันติด เป็นความคาดหวังที่จะได้บริหารงานต่อ แต่คงเป็นเพียงแค่ปัจจัยบวกสั้นๆ เท่านั้น