ลดลงทุน-เพิ่มรายได้ ทางโต 'น้ำตาลครบุรี' !

ลดลงทุน-เพิ่มรายได้ ทางโต 'น้ำตาลครบุรี' !

ฐานะการเงิน 'ผันผวน' ตามปัจจัยลบเหนือความควบคุม ! 'อิสสระ ถวิลเติมทรัพย์' นายใหญ่ 'น้ำตาลครบุรี' แก้เกมผลักดัน 'ธุรกิจโรงไฟฟ้า' โต หวังกระจายเสี่ยง 'ธุรกิจน้ำตาล' หลังภัยแล้งรุนแรงในรอบ 40 ปี เผยปีนี้บอร์ดโยน 'โจทย์ยาก' หาวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายด่วน !

เมื่อธุรกิจเดิมที่คลุกคลีมาตลอดและคิดเป็นสัดส่วนรายได้เกือบ 80-90% ของ บมจ.น้ำตาลครบุรี หรือ KBS ไม่สามารถผลักดันฐานะการเงินให้ขยายตัวสม่ำเสมอ ! หลังที่ผ่านมาผลประกอบการเหวี่ยงขึ้นลงตามอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญหน้ากับความผันผวนของวัตถุดิบและราคา โดยเฉพาะปริมาณอ้อยในแต่ละปี 

สถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเผชิญความเสี่ยงจากปัญหา 'ภัยแล้งรุนแรง' ต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน ซึ่งหนักสุดในรอบ 40 ปี 'กดดัน' ผลผลิตอ้อยและปริมาณน้ำตาลลดลงต่อเนื่อง โดยปีฤดูการผลิต 2562/2563 คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบลดลงกว่า 45% ! เหลือแค่ 1.7 ล้านตันอ้อย จากปีก่อน (2561/2562) ที่ปริมาณอ้อยเข้าหีบ 3.3 ล้านตันอ้อย 

ขณะที่ปริมาณอ้อยเข้าหีบของทั้งประเทศในปีฤดูกาลนี้ (2562/2563) อยู่ที่ 71 ล้านตันอ้อย จากปีก่อนที่อยู่ที่ 131 ล้านตันอ้อย จากปริมาณอ้อยน้อยมากเนื่องจากเกษตรได้รับผลกระทบภัยแล้งรุนแรงมาก ผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ 

'อิสสระ ถวิลเติมทรัพย์' กรรมการ บมจ.น้ำตาลครบุรี หรือ KBS บอกเล่าสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟัง แนวโน้มของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของเมืองไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ เช่น อินเดีย , ออสเตรเลีย ซึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมาราคาน้ำตาลตลาดโลกมีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันอยู่ที่ 15-16 เซนต์ต่อปอนด์ จากปีก่อน 12.30 เซนต์ต่อปอนด์ 

ทว่า เดือนมี.ค.ที่ผ่านมาราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงมาแตะระดับ 11 เซนต์ต่อปอนด์ หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงไปทั่วโลก แต่มองว่าเป็นความกังวลระยะสั้นเท่านั้น เพราะว่ายังไงก็ตามน้ำตาลก็เป็นสินค้าที่อยู่ในส่วนประกอบของอาหาร เมื่อคนหายกังวล 'ความต้องการ' (ดีมานด์) สินค้าก็น่าจะกลับมาและแนวโน้มราคาน้ำตาลจะขยับดีขึ้นอีกด้วย 

ปัจจุบัน KBS แบ่งธุรกิจออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายของบริษัทสามารถจำแนกได้ 5 ชนิด 'น้ำตาลทรายดิบ' (Raw Sugar) น้ำตาลทรายดิบ คือ น้ำตาลทรายที่ได้จากกระบวนการผลิตขั้นต้น มีสีน้ำตาลเข้ม ยังมีสิ่งเจือปนเหลืออยู่และมี ความบริสุทธิ์ต่ำ 'น้ำตาลทรายสีรำ' (Brown Sugar) และ 'น้ำตาลธรรมชาติ' (Nature Sugar) น้ำตาลทรายสีรำและน้ำตาลธรรมชาติ คือ น้ำตาลทรายที่ผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์แล้ว แต่ไม่ได้ผ่าน กระบวนการลดค่าสี ทำให้สีของน้ำตาลเป็นเหลืองแกมทอง 

'น้ำตาลทรายขาว' (White Sugar) น้ำตาลทรายขาวคือ น้ำตาลทรายที่ได้จากการนำเอาน้ำตาลทรายดิบมาผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ (Refined) เพื่อสกัดเอาสิ่งเจือปนออกจนได้เป็นน้ำตาลทรายขาวที่มีความสะอาด น้ำตาลประเภทนี้ โดยทั่วไปเป็นวัตถุดิบในโรงงาน อุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการความบริสุทธิ์ปานกลาง เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง ขนมหวาน และนมเปรียว เป็นต้น 

'น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์' (Refined Sugar) และ 'น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ' (Super Refined Sugar) น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ คือ น้ำตาลทรายที่ได้จากการนำน้ำตาลทรายดิบมาผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์เช่นเดียวกับน้ำตาลทรายขาว แต่จะมีความบริสุทธิ์มากกว่า 'น้ำตาลทรายผสมซูคราโลส' (Sucralose Blended Sugar) น้ำตาลนวัตกรรมล่าสุดที่มีคุณสมบัติหวานเป็น 2 เท่า เพราะมีส่วนผสมของซูคราโลส ซึ่งเป็นน้ำตาลสกัดเข้มข้น จากอ้อยธรรมชาติ 100% ให้ทั้งความประหยัด สะอาดและปลอดภัย 

และ 2.ธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทราย นอกจากการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลคุณภาพแล้ว บริษัทสามารถนำผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย ไปสร้างรายได้เพิ่มเติมด้วยการต่อยอดธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจชีวพลังงาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงสุด

'กากน้ำตาล' (Molasses) กากน้ำตาลเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ที่ได้จากกระบวนการเคียวน้ำตาล มีลักษณะเป็นของเหลวเหนียวข้นสีน้ำตาลเข้ม โดยปกติบริษัทจะได้กากน้ำตาลประมาณ 43-45 กิโลกรัม จากปริมาณอ้อย 1 ตัน บริษัทขายให้กับลูกค้าในหลากหลาย อุตสาหกรรม เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และที่สำคัญโมลาสยังเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมพลังงานสำหรับการผลติเอทานอล    

'กากอ้อย' (Bagasses) บริษัทนำกากอ้อยที่ได้จากกระบวนการหีบอ้อย โดยใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำและกระแสไฟฟ้า เพื่อส่งต่อให้โรงงานน้ำตาลและยังสามารถผลิตกประแสไฟฟ้าส่วนเกินเพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยมีบริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด (KPP) เป็นผู้ดำเนินการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าตามสัญญาประเภท Firm ขนาด 22 เมกะวัตต์ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลติแหง่ประเทศไทย (กฟผ.) และมีสัญญา ประเภท Non-firm ขนาด 8 เมกะวัตต์ จำนวน 2 สัญญา ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปีนี้ผลประกอบการลดลงอย่างน้อย 20% ตามทิศทางปริมาณอ้อยลดลง โดยปีก่อนหีบ 3.3 ล้านตัน (ธ.ค.2561-มี.ค.2562)  โดยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.7 ล้านตัน (ธ.ค.2562-ก.พ.2563) ลดลงทั้งประเทศโดยประเทศจาก 131 ล้านตัน เหลือ 71 ล้านตัน ปีก่อนภัยแล้งกระทบหนักมาก ขณะที่เป้าหมายในปีฤดูกาล 2563/2564 คาดปริมาณหีบอ้อย 2.5 ล้านตันอ้อย ถือว่าเป็นระดับที่น่าจะใจแล้ว หลังจากแนวโน้มภัยแล้งเริ่มดีขึ้นจากปริมาณฝนที่มาเร็วขึ้น  

ทั้งนี้ บริษัทจะเน้นบริหารพื้นที่เพาะปลูก เพื่อรักษาปริมาณและคุณภาพผลผลิตให้อยู่ในเกณฑ์ดี พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพหีบสกัดให้ได้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยจากการใช้เทคโนโลยีต่อยอดสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมตั้งแต่ น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายสีรำ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์และน้ำตาลทรายขาวผสมซูคราโลส เพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มผู้ผลิตรายย่อยและผู้บริโภคทั่วไปทั้งในและตลาดส่งออกในทวีปเอเชีย

'ล่าสุดที่ผ่านมาเราเปิดปิดหีบอ้อยได้เพียง 3 เดือน (ธ.ค.2562-ก.พ.2563) เนื่องจากผลผลิตอ้อยหมดก่อน ขณะที่ช่วงปีก่อนเราเปิดปิดหีบอ้อยได้ 4 เดือน (ธ.ค.2561-มี.ค.2562) ซึ่งในปีที่ผ่านมาภัยแล้งหนักมาก และ 2 ปีติดต่อกัน'   

'อิสสระ' บอกต่อว่า จากสถานการณ์ที่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบเศรษฐกิจชะลอตัว 'กรรมการผู้จัดการ' (MD) ให้ 'โจทย์ใหญ่' ในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ว่า ให้บริษัทพยายาม 'ปรับลดค่าใช้จ่าย' ต่างๆ และหาช่องทางเพิ่มรายได้ใหม่ ดังนั้น ตอนนี้บริษัทกำลังพิจารณา 'โครงการก่อสร้างโรงงานโรงน้ำตาล' และ 'โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่' ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ที่เดิมคาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 4,000 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถเปิดโรงงานได้ในช่วงเดือนธ.ค. 2563 

โดยในส่วนของโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ กำลังการผลิต 1.2 หมื่นตันต่อวัน ขณะที่โรงงานน้ำตาลเดิมกำลังการผลิตรวม 3.5 หมื่นตันต่อวัน ซึ่งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่บริษัทอาจจะปรับลดเงินลงทุนราว 10% ของเงินลงทุนทั้งหมด 4,000 ล้านบาท ซึ่งอาจจะไปประหยัดในส่วนที่ยังไม่จำเป็นต้องลงทุนไปก่อน หรือในส่วนที่ไม่มีผลกระทบต่อการเปิดดำเนินการไปก่อน และลงทุนเฉพาะที่จำเป็น ซึ่งการปรับเปลี่ยนแผนลงทุนดังกล่าวจะช่วยลดเงินลงทุนลงได้  

ขณะที่ในส่วนของโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ กำลังการผลิต 18 เมกะวัตต์ เบื้องต้นบริษัทยังไม่มีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้า แต่เป็นการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองในโรงงานน้ำตาล แต่อนาคตข้างหน้าบริษัทหวังว่าจะมีภาคธุรกิจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าของเรา ซึ่งจะทำให้พื้นที่ตรงนี้มีความต้องการ (ดีมานด์) ใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และบริษัทอาจจะผลิตไฟฟ้าเพื่อขายได้   

สำหรับการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน บริษัทมีความพร้อมที่จะดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือกับชุมชนบ้างแล้ว แต่ทั้งนี้ ยังคงต้องรอดูนโยบายของภาครัฐออกมาชัดเจนก่อน

'ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจไฟฟ้าช่วยทำให้ลดความผันผวนของธุรกิจน้ำตาลได้มากขึ้น โดยปัจจุบันเรามีความสนใจลงทุนในโรงไฟฟ้าชุมชน และเตรียมความพร้อมถ้ามีความชัดเจนเราก็จะทำ อนาคตจะมีสัดส่วนรายได้ธุรกิจไฟฟ้าขยับมากยิ่งขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 10% โดยเฉพาะในแง่ของมาร์จินที่สูงกว่ามาร์จินธุรกิจน้ำตาล ขณะที่ธุรกิจน้ำตาลเราพยายามทำโปรดักท์ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นด้วย' 

ท้ายสุด 'อิสสระ' ทิ้งท้ายไว้ว่า อนาคตธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยลดความผันผวนของธุรกิจน้ำตาลได้ เนื่องจากสัดส่วนรายได้จะมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจน้ำตาลก็จะมีการออกโปรดักท์ใหม่ๆ เข้ามาเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้นอีกด้วย 

ลุยระดมทุน KBSPIF

'อิสสระ ถวิลเติมทรัพย์' กรรมการ บมจ. น้ำตาลครบุรี หรือ KBS บอกต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้ง 'กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี' (KBSPIF) จำนวนไม่เกิน 2,800 ล้านบาท เพื่อระดมเงินไปลงทุนในโรงงานน้ำตาล กำลังการผลิต 1.2 หมื่นตันอ้อยต่อปี และโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่ 18 เมกะวัตต์ ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา 

รวมถึงโครงการอื่นที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่ม KBS ซึ่งกองทุนฯ ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) คาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายได้ตามแผนคือเดือน พ.ค. 2563 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพในทุกด้าน และนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตมาสร้างรายได้เชิงธุรกิจ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิง ดำเนินการโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี (KPP) จำกัด ที่ KBS ถือหุ้น 99.99% มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 73 เมกะวัตต์ ซึ่งมีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 22 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 16 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในปี 2562 ทำรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่หน่วยงานภาครัฐ 728 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119.5 ล้านบาท คิดเป็น 19.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้ 608 ล้านบาท จากปริมาณจำหน่ายหน่วยในการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น