แรงงานอุตฯ ‘เครื่องนุ่งห่ม’ เสี่ยง ‘ตกงาน’ ​2 แสนคน

แรงงานอุตฯ ‘เครื่องนุ่งห่ม’   เสี่ยง ‘ตกงาน’ ​2 แสนคน

ปัจจัยสี่ของชีวิตประกอบด้วยอาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่สามารถดูแลชีวิตคนไทยได้เกือบครบทั้ง 4 อย่าง แต่ขณะนี้หนึ่งในปัจจัยสี่อย่าง“อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม”กำลังถูกโจมตีจากผลพวงของโควิด-19 อย่างหนัก และเสี่ยง “ตกงาน” กว่า 2 แสนคน

ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย(TGMA) และประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในภาคการส่งออก ของอุตสาหกรรมที่มีอยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท ปัจจุบันคำสั่งซื้อสินค้าหายไปมากกว่า 70% เนื่องจากเจ้าของแบรนด์สินค้าและผู้ซื้อในต่างประเทศได้รับผลกระทบจนขอชะลอคำสั่งซื้อในขณะนี้และมีแนวโน้มว่าอาจจะยกเลิกคำสั่งซื้อในที่สุด 

นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมยังมีภาคการค้าปลีกในประเทศ เช่น โบ้เบ้ ประตูน้ำ  ที่มีมูลค่าประมาณ 1.5แสนล้านบาท ได้รับผลกระทบจากการปิดห้างสรรพสินค้า การปิดสถานที่ที่ต้องมีการชุมนุมของคำจำนวนมาก เช่น ตลาด ร้านอาหาร เป็นต้น ทำให้รายได้ส่วนนี้หายไป ขณะเดียวกัน ช่องทางการค้าออนไลน์ ที่มีสัดส่วนที่ 10% ก็พบว่า ความต้องการซื้อสินค้าลดลงมาก เนื่องจากมาตรการ ทำงานที่บ้าน หรือ WFHทำให้คนทั่วไปไม่มีความจำเป็นต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ ทำให้ยอดขายส่วนนี้ไม่ขยายตัวแม้ว่าการค้าออนไลน์จะเป็นที่นิยมมากก็ตาม 

“กรณีที่ดีที่สุด หากโควิดจบได้ภายใน 3-4เดือนก็จะทำให้มูลค่าอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำลดลงไป 20-30%  แต่หากแย่กว่านั้น ก็อาจหายไป 40-50%เมื่อไม่มีรายได้ทำให้ค่าใช้จ่ายหลักอย่างค่าแรงคนงานกลายเป็นภาระหนัก”

จากโครงสร้างอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้มสูงถึง 30% ของต้นทุนทั้งหมด หรือมีแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ ประมาณ 4-5 แสนคน   จากจำนวนโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มประมาณ 2,200 แห่ง และโรงงานสิ่งทออีก มากกว่า 500 แห่ง เมื่อเผชิญกับปัญหาขาดรายได้เช่นนี้ ก็ประเมินได้ว่า อาจมีโรงงานปิดตัว เกือบครึ่ง  ซึ่งจะส่งผลให้แรงง 158710663785 านตกงานทันที 50% หรือประมาณ 2.5 แสนคน 

“ตอนนี้เป็นลักษณะพูดคุยถามกันในสมาคมว่า สถานการณ์เป็นอย่างไร ส่วนใหญ่บอกว่า ไม่น่าไปรอด  แต่ส่วนใหญ่ก็อยากไปต่อแต่ต้นทุนหลักที่ไม่สามารถหยุดจ่ายได้คือค่าแรงคนงาน ดังนั้น เราจึงอยากให้มีแผนมารองรับภาระในส่วนนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มฯไปได้ต่อ”

โดยต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงได้อย่างตรงจุด ซึ่งขอเพียงเรื่องเดียว คือการให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือเรื่องค่าแรงที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมอย่างน้อย 3 เดือน เพราะเมื่อโรงงานไม่มีรายได้ ต้องหยุดกิจการแต่ยังต้องจ่ายค่าแรงให้แรงงาน 75% ซึ่งจะนำเงินจากไหนมาจ่ายค่าแรง เพราะขายสินค้าไม่ได้ ดังนั้นรัฐควรนำเงินกองทุนประกันสังคมที่นายจ้างจ่ายให้ทุกเดือนมาเป็นค่าแรงให้กับแรงงาน ถือเป็นทางรอดให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม หากไม่เช่นนั้นก็ต้องปิดกิจการและปลดคนงานในท้ายที่สุด

ขณะที่ โรงงานบางแห่งกำลังหาช่องทางปรับตัวด้วยการหันไปผลิตหน้ากากผ้าแทนแล้ว และรับจ้างผลิตชุด พีพีอี ให้บุคลากรทางการแพทย์ แต่การผลิตหน้ากากผ้าคาดว่าในอีก 2 เดือนก็จะล้นตลาดเช่นกัน ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดเดือนเม.ย. กลุ่มเหล่านี้ก็จะไม่ได้ผลิตหน้ากากผ้าออกมา สิ่งที่น่าห่วงคือแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มหลังจากนี้แทบจะไม่มีงานทำดังนั้นเมื่อไม่ผลิตก็ต้องปิดกิจการ

สำหรับคาดการณ์ อุตสาหกรรมฯจากนี้ หลังโควิด-19 หยุดการระบาด ซึ่งจะมีหลายเงื่อนไข เช่น ต่อให้เปิดเมือง ก็พบว่าพฤติกรรมการบริโภคสินค้าเครื่องนุ่งห่มนั้นจะเปลี่ยนไป 

โดยจะมีการนำนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้านสุขอนามัยมาใช้ในการผลิตสินค้ามากขึ้น แต่การเปลี่ยนไลน์การผลิตไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องมีการลงทุน และมีเงื่อนไขทางเทคนิค เช่น กรณีการผลิตหน้ากากอนามัย และชุดทางการแพทย์ต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ที่มีมาตรฐานชัดเจนเช่น ต้องเป็นผ้าที่เลือดไม่ซึมผ่าน,ต้องมีการผลิตปลอดเชื้อทั้ง100% ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เวลาหากต้องการจะเปลี่ยนแผนการผลิต แต่ปัจจุบันยอมรับว่าแนวทางต่างๆยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจากธุรกิจกำลังได้รับผลกระทบแบบปัจจุบันทันด่วนทำให้ไม่มีรายได้เข้ามา กรณีธุรกิจที่มีส่วนป่านยาวก็อาจเดินต่อไปได้ แต่ก็คงไม่นาน

เนื่องจากคาดว่า โควิดแม้จะหยุดการระบาดได้ ซึ่งก็จะใช้เวลานาน อีก 2-3 เดือนจากนี้ และการฟื้นกลับมาของกำลังซื้อประชาชนก็คงจะไม่มีอีกจนถึงสิ้นปี เพราะเสื้อผ้าแม้จะเป็นสิ่งจำเป็นแต่ก็สามารถชะลอแผนการซื้อได้ ดังนั้นธุรกิจน่าจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปถึงสิ้นปี 

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการบริโภคจะเปลี่ยนไปจนกว่าจะมีวัคซีน ซึ่งอาจจะใช้เวลาอีก มากกว่า1 ปี ดังนั้น เสื้อผ้าที่จะผลิต จะต้องเปลี่ยนรูปแบบ เช่น เดิมผลิตเสื้อเชิ้ตเพื่อใส่ไปทำงาน ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นเสื้อรูปแบบที่ใส่สบายเหมาะกับการใส่อยู่บ้าน แต่ต้องเป็นเสื้อผ้าที่คล่องตัวเพราะต้องใส่ทำงานและอาจมีความเหมาะสมสำหรับการประชุมทางวีดีโอที่เห็นหน้า ตลอดจนท้ายสุดต้องมีรูปแบบเสื้อผ้าที่สามารถใส่ออกจากบ้านได้ด้วย 

“แต่กว่าจะถึงตรงนั้้น ซึ่งเราก็มองเห็นโอกาสหลังวิกฤติโควิด และอยากให้ประเทศไทยยังมีอุตสาหกรรมนี้ต่อไปแต่จนถึงที่สุดแล้วหากไม่สามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มอาจไม่มีอยู่ในประเทศไทยอีกต่อไป ”