อิเล็กทรอนิกส์ 'อัจฉริยะ' ทางรอดหลังวิกฤติโควิด

อิเล็กทรอนิกส์ 'อัจฉริยะ'  ทางรอดหลังวิกฤติโควิด

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมส่งออกอันดับ 1 ของไทย มูลค่าต่อปี 1.5 ล้านล้านบาท มีผู้ประกอบการ 2,500 ราย จ้างงานกว่า 7.5 แสนคน จึงเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ต้องจับตาในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด

สุภาพ สุวรรณพิมลกุล เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์บางส่วน โดยจากการประเมินเบื้องต้นในอุตสาหกรรมนี้จะมีมูลค่ายอดขายลดลงไปประมาณ 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งตลาดภายในประเทศกระทบมากกว่าตลาดส่งออก

กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเศรษฐกิจทั้งไทยและทั่วโลกซบเซา ผู้บริโภคต่างตัดสินใจใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า ถ้าเสียก็ซ่อมมากกว่าจะไปซื้อของใหม่ ทำให้ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าตกลงไปมาก โดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มเครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลกระทบต่อการส่งออกเริ่มตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน ทำให้สินค้าที่ส่งออกไปจีนเริ่มซบเซา จากนั้นแพร่ระยาดมายังยุโรป และสหรัฐ การส่งออกไปประเทศเหล่านี้ก็ค่อยๆลดลงมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันแพร่ระบาดไปทั่วโลก ยอดขายทั่วโลกก็ตกลงทั้งหมด ซึ่งภายหลังแม้ว่าจีนจะควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ แต่กำลังซื้อก็ไม่ได้กลับมาเต็มที่ รวมทั้งระบบซัพพลายเชนของจีนก็ยังไม่ฟื้นกลับมา 100%

158710258912

กลุ่มเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบไม่มากนักและบางสินค้ากลับได้รับผลบวก เช่น กลุ่มฮาร์ดดิสก์ ที่ไม่ได้รับผลกระทบเลย เนื่องจากนโยบาย Social Distancing ทำให้มีการทำงานที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้ใช้มีการใช้คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่อเชื่อมโดยเฉพาะปริ้นเตอร์ ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น

ขณะนี้ยังไม่มีโรงงานในกลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ฯปิดชั่วคราวหรือปิดกิจการอย่างแน่นอน นอกจากรัฐบาลจะสั่งปิด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งหากรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ก็อยากให้รัฐบาลยกเว้นกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ให้ผลิตขนส่งต่อไปได้ เพราะกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงพยาบาลเหมือนกับที่รัฐบาลยกเว้นในอุตสาหกรรมอาหาร ยาและพลังงาน

ส่วนเอสเอ็มอีในซัพพลายเชนอุตสาหกรรมนี้ยังพอมีออเดอร์ค้างเก่าอยู่ แต่เมื่อเข้าเดือนพ.ค.นี้ สถานการณ์จะเริ่มหนักขึ้น เพราะทางยุโรป และสหรัฐ เริ่มปิดเมืองและหยุดกิจการการซื้อขายต่างๆ ทำให้ไม่มีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามา หลายโรงงานคาดการณ์คำสั่งซื้ออนาคตจลดลงและหลายโรงงานเริ่มลดกำลังการผลิต กระทบต่อในห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วน โดยเฉพาะในสินค้าเครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า

รัฐบาลควรออกมาตรการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ผ่านพ้นในช่วงยากลำบากนี้ไปได้ ซึ่งมาตรการที่ภาคเอกลชนเรียกร้องสำคัญ ได้แก่ 

1.การปรับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้เอื้อประโยชน์ต่อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ โดยภาครัฐจะพิจารณาซื้อสินค้าที่มีราคาต่ำที่สุดเป็นหลัก ซึ่งหากใช้กฎเกณฑ์นี้ สินค้าของไทยก็สู่จีนได้ยาก เพราะโรงงานจีนมีขนาดใหญ่ผลิตสินค้าเป็นจำนวนมาก จึงมีต้นทุนต่ำกว่าไทยอย่างแน่นอน ทำให้สินค้าไทยเข้าสู่การจัดซื้อภาครัฐได้ยาก โดยรัฐควรเพิ่มเติมต่อให้กับสินค้าจากไทยให้แข่งกันสินค้าจากจีนได้

2.ภาครัฐควรจะให้ธนาคารของรัฐเปิดสินเชื่อใหม่ให้กับผู้ประกอบการ เพราะในขณะนี้สินเชื้อดอกเบี้ยต่ำ 2% ของรัฐบาลที่กระจายผ่านธนาคารพาณิชย์จะให้ผู้ประกอบการไม่เกินวงเงินเดิมที่อนุมัติไว้ หากต้องการวงเงินเพิ่ม ก็จะต้องนำสินทรัพย์เข้ามาค่ำประกันเพิ่ม ซึ่งในภาวะปัจจุบันผู้ประกอบการต้องการเงินมาเพิ่มสภาพคล่องจ่ายเงินเดือนเพื่อรักษาแรงงานในช่วงที่คำสั่งซื้อสินค้าลดลงอย่างเร่งด่วน และไม่สามารถหาสินทรัพย์ใหม่มาค้ำประกันเงินกู้ได้ 

รวมทั้งบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ควรจะขยายวงเงินค้ำประกันที่ 80% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์กล้าปล่อยสินเชื่อมากขึ้น 3.การลดจ่ายเงินประกันสังคมฝ่ายนายจ้างให้เหลือ 0-2% ชั่วคราว 3-6 เดือน ซึ่งที่ผ่านมารัฐลดให้เพียง 1% เหลือ 4% ซึ่งไม่ได้ช่วยผู้ประกอบการมากนัก

สถานการณ์ภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สงบ มองว่าตลาดในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะแข่งขันดุเดือนและตัดราคามากขึ้น เพราะลูกค้าในและต่างประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถ้วนหน้า ทำให้กำลังซื้อลดลง และต้องการสินค้าราคาถูก ดังนั้นผู้ผลิตต้องปรับตัวให้มีต้นทุนต่ำที่สุด โดยแนวทางที่สำคัญรัฐบาลควรจะลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วนประกอบต่างๆในอุตสาหกรรมนี้ให้ต่ำที่สุด เพื่อให้ต้นทุนทั้งซัพพลายเชนลดลงสามารถสู้กับคู่แข่งต่างชาติได้ เพราะในอุตสาหกรรมนี้พึ่งพาชิ้นส่วนจากต่างประเทศพอสมควร

นอกจากนี้ รัฐบาลควรจะเร่งผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากหลักการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีอัตราการเติบโตสูงขึ้น จากการขยายตัวของธุรกิจออนไลน์ และธุรกิจด้านดิจิทัลอื่นๆที่นำมาใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามมา

“หลังจากวิกฤตโควิด-19 พฤติกรรมลูกค้าจะเปลี่ยนไป จะไม่เน้นสินค้าหรูหรา แต่จะซื้อสินค้าที่พอใช้ได้และราคาไม่แพง ซึ่งกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะขายดีขึ้น เพราะประชาชนได้เรียนรู้ระบบไอทีและซื้อขายออนไลน์ช่วงวิกฤติโควิด-19 จะทำให้สินค้าในกลุ่มไอที อุปกรณ์ไอโอที และกระแสดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นจะแรงขึ้น ทำให้ไทยปฏิรูปไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะในกลุ่มสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์”