เทรนด์ใหม่ 'อีคอมเมิร์ซจีน' หลังผ่านวิกฤติไวรัสโคโรน่า

เทรนด์ใหม่ 'อีคอมเมิร์ซจีน' หลังผ่านวิกฤติไวรัสโคโรน่า

ในวันที่โควิด-19 ยังครองเมืองอยู่ทั่วโลก ช่องทางออนไลน์จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญมากขึ้น และในยุคหลังวิกฤติไวรัสผ่านพ้นไป น่าจะทำให้ S-Commerce เติบโตมากขึ้น เนื่องจากเป็นการผสมผสานของโซเชียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซที่กำลังมาแรง

วันนี้ผมขออัพเดทเทรนด์ใหม่ของวงการอีคอมเมิร์ซปี 2563 ซึ่งก่อนคิดจะบุกตลาดจีนควรรู้ไว้ครับ อันที่จริงบางเรื่องหลายคนก็อาจจะรู้อยู่แล้วหรือใช้งานในชีวิตประจำวันอยู่ก่อนแล้ว แต่โจทย์คือจะนำมาทำให้เกิดรายได้หรือยอดขายบนช่องทางออนไลน์ได้อย่างไร 

ปีที่ผ่านมาข้อมูลจาก CIW ชี้ว่าแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่นิยมใช้งานบนมือถือ ไม่ว่าจะเป็น WeChat Tencent Video QQ Music ทั้งหมดนี้ มีส่วนสำคัญในการช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคและผู้ซื้อในจีนได้มากถึง 50% ต่อวัน ที่น่าสนใจคือ 90% ของประชากรจีน นิยมชำระเงินทางออนไลน์ด้วยแอพพลิเคชั่นบนมือถือมากที่สุด

สำหรับจำนวนผู้ใช้งานที่เปิดบัญชีใช้งานทั้งหมดบนอาลีเพย์และวีแชทเพย์อยู่ที่ 700 ล้านคน และ 1,000 ล้านคน ตามลำดับ แล้วยังมีข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในเมืองใหญ่อย่างเช่นเซี่ยงไฮ้ มีการใช้จ่ายเงินทางออนไลน์โดยเฉลี่ยต่อคนมากกว่า 150,000 หยวนต่อปี 

ขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายเงินทางออนไลน์ในจีนจากปี 2561 มีมูลค่าสูงถึง 7.18 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ถึง 32.2% และยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เคโอแอลยังมีผลต่อการทำตลาด เนื่องจากในปัจจุบันเคโอแอล (Key Opinion) ถือว่าเป็นมากกว่าแค่พรีเซนเตอร์สำหรับตลาดจีน แต่เป็นตัวช่วยที่มีผลอย่างมากในการกระตุ้นให้เกิดความต้องการและสนใจซื้อสินค้าและบริการ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์

มีข้อมูลจาก Jingdaily ชี้ว่า ในปี 2562 มีเคโอแอลชื่อดังในจีนมากกว่า 30 คน ที่ช่วยให้มีรายได้กลับมาเพิ่มราว 3.2% สำหรับกลุ่มสินค้า Luxury โดยเฉพาะแบรนด์ดังจากตะวันตก

ถึงกระนั่นก็มีข้อควรระวังคือ มันไม่ได้การันตีว่าเคโอแอลจะช่วยให้ทำตลาดได้รุ่ง หรือเพิ่มยอดขายได้เสมอไป เพราะมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อยู่มากเกินไป ตัวอย่างเช่น กลุ่มลูกค้า กระแสปากต่อปาก  

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ต้องระวังหากมีการใช้เซเล็บและเคโอแอลเพื่อทำตลาด กรณีเกิดมีเหตุการณ์ดราม่าขึ้นมา เหมือนอย่างเหตุการณ์ของแบรนด์ Versace และ D&G ที่ส่งผลแง่ลบ ทำให้แบรนด์ถูกแบนจากคนจีนไปเลย

โดยรวมแล้วปัจจัยต่างๆ ในการตัดสินใจบนออนไลน์อยู่ที่หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์และชื่อเสียงของแบรนด์เหล่านั้น การดีไซน์สินค้า รูปแบบ สไตล์ ไปจนถึงการออกโปรโมชั่น การบอกต่อทางโซเชียล และยังรวมถึงเรื่องดราม่าที่อาจเป็นกระแสในเวลานั้นๆ

เอส-คอมเมิร์ซ (S-Commerce) เป็นรูปแบบการผสมผสานของโซเชียลและอีคอมเมิร์ซที่กำลังมาแรงมากครับ เรียกง่ายๆ ว่า มันคือผสมผสานระหว่างอีคอมเมิร์ซและโซเชียลมีเดียเข้าด้วยกัน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการสำรวจพบว่า 11-12% ของสินค้าแบรนด์เนมในประเทศจีนจะสั่งซื้อผ่านช่องทางนี้ แม้ว่าตัวเลขยังไม่มากนัก แต่ด้วยการผสมผสานระหว่างข้อเด่นของแพลตฟอร์มออนไลน์กับโซเชียลมีเดียเข้าด้วยกัน ทำให้เป็นอีกรูปแบบที่ทุกแบรนด์หรือเอสเอ็มอีที่จะเข้ามาในตลาดจีน และช่องทางออนไลน์ต้องสนใจ

เช่น ช่องทาง Xiaohongshu ที่ผสมผสานระหว่างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ กับ โซเชียลมีเดีย ที่ไม่ใช่เป็นแค่หน้าร้านอีคอมเมิร์ซทั่วไป แต่ยังใช้การเข้าถึงแบบโซเชียลมีเดีย ซึ่งรูปแบบนี้วัยรุ่นในจีนกำลังชอบมาก และมีแนวโน้มว่าอาจจะกลายเป็นกระแสหลักภายใน 2-3 ปีนี้

ไลฟ์ วีดิโอ คอนเทนท์  รูปแบบหนึ่งในการทำคอนเท็นท์ที่สำคัญมาก ก็คือ การทำไลฟ์ผ่านแพลตฟอร์มที่คนจีนนิยมใช้งาน เช่นใน Tiktok, Taobao Live, Kwai ข้อมูลจาก CIW ชี้ว่า เมื่อปลายปี 2561 โดยเฉลี่ยคนจีนที่เข้ามาดูไลฟ์สตรีมมิ่ง โดยเฉพาะในคอนเทนท์ด้านบันเทิงสูงถึงราว 89 ล้านคนต่อวัน และต่อหนึ่งคนจะเข้ามาดูประมาณ 5 ครั้งต่อวัน ใช้เวลาประมาณเฉลี่ย 43.8 นาที ซึ่งมักมาจากเมืองในระดับเทียร์ 1 ของจีน เช่น กรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น ฯลฯ

ดังนั้นสินค้าและบริการถ้าสามารถทำให้มีคอนเทนท์ประเภทที่เน้นความบันเทิง สนุกสนาน ย่อมมีโอกาสมากกว่า ที่สำคัญคือ หลังจากผ่านวิกฤติรอบนี้ไปได้ ช่องทางออนไลน์จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะมันช่วยธุรกิจได้จริงในยามวิกฤติที่ผู้คนไม่สามารถเดินทางไปจับจ่ายใช้สอยได้สะดวกเหมือนที่เคยเป็นมา