โลกธุรกิจหลัง Covid-19

โลกธุรกิจหลัง Covid-19

ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ มี 2 เรื่องใหญ่ที่โลกที่ธุรกิจต้องเผชิญ ก่อนที่ต้องไปพบกับ 3 ความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวต่อไป ปัจจัยเหล่านี้จะมีอะไรบ้าง และทำให้ภาคธุรกิจหรือเศรษฐกิจเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

ในฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้เขียนถึงเศรษฐกิจและสังคมโลกในยุคหลัง Covid-19 ฉบับนี้จึงขอเขียนถึงโลกธุรกิจหลัง Covid-19 โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้น ภาคธุรกิจจะเผชิญกับความจริง 2 ประการ ได้แก่

1.เศรษฐกิจในระยะต่อไปจะยิ่งแย่ลงกว่าปัจจุบันอีกมาก ซึ่งจะทำให้ธุรกิจต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมากโดย ณ ขณะนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกต้องถูกปิดตัวลง ซึ่งจะทำให้ยอดขายของบริษัททั่วโลกหายไปกว่า 50% พิจารณาได้โดยง่าย จากราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปัจจุบันที่ต่ำเกินกว่า 50% จากราคาช่วงก่อนหน้า โดยมีการประมาณกันว่า ความต้องการน้ำมันโลกในปัจจุบันหายไปกว่า 35% เป็นอย่างต่ำ

ขณะที่ในไทยนั้น หลายภาคธุรกิจโดยเฉพาะภาคบริการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เห็นได้จากจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศของหายไปกว่า 99% ในช่วงต้นเดือน เม.ย. ขณะที่ดัชนีการบริโภคภาคบริการของ ธปท. หดตัวถึง -12.2% ต่อปี ในเดือน ก.พ. เช่นเดียวกับตัวเลขการใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ลดลงกว่า 15% ในเดือน มี.ค.

เมื่อการปิดเมืองรุนแรงขึ้น ธุรกิจต้องขาดรายได้ ขณะที่ยังต้องจ่ายต้นทุนประจำ เช่น ค่าเช่า ค่าจ้าง ภาษี ทำให้ต้องปลดคนงานมากขึ้น โดยในสหรัฐเริ่มมีการปลดคนงานออกกว่า 17 ล้านคน ขณะที่งานวิจัยของ ธ. กลางสหรัฐ (Fed) สาขาเซนต์หลุยส์ คาดว่าอัตราว่างงานสหรัฐจะไปอยู่ที่ 32% ขณะที่ในไทยนั้น คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า แรงงานในไทยจะตกงานประมาณ 7.2 ล้านคน ทำให้อัตราว่างงานในไทยขึ้นไปสู่ระดับ 20% เช่นเดียวกับงานวิจัยขององค์กรแรงงานโลก (ILO) ที่พบว่า กว่า 60% ของแรงงานทั่วโลกเสี่ยงต่อการตกงาน

แม้ปลดคนงานแล้ว แต่ภาคธุรกิจก็ยังมีความเสี่ยงต่อการล้มละลาย ปิดกิจการ หรืออย่างน้อยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating) ขึ้นอยู่กับว่า ธุรกิจจะมีสายป่านเพียงพอในการอยู่รอดในช่วงที่ต้องปิดกิจการเพียงใด

โดยปกติแล้ว บริษัทขนาดใหญ่มีเงินสดเพียงพอสำหรับการปิดกิจการเพียง 3- 6 เดือนเท่านั้น และยิ่งถ้าบริษัทมีหนี้ที่ต้องครบกำหนดชำระ และไม่สามารถกู้ยืมหรือต่อรองเพื่อเลื่อนกำหนดชำระได้ (roll-over) ก็จะเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ เกิด Credit event และนำไปสู่วิกฤตการณ์การเงินได้

2.ธุรกิจต่างๆ จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับ

(1) ความแข็งแกร่งด้านการเงิน โดยบริษัทที่เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป กู้ยืมน้อย (Organic growth) ก็จะแข็งแกร่งกว่า

(2) อยู่ภาคอุตสาหกรรมใด โดยถ้าเป็นภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองโดยตรง ย่อมได้รับผลกระทบมากกว่าภาคการผลิต ขณะที่ผู้ผลิตสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าคงทน ก็จะได้รับผลกระทบกว่าสินค้าจำเป็น

โดยในงานวิจัยของ ILO พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้สูงสุด ได้แก่ ภาคการค้า การผลิต สันทนาการ รวมถึง อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง ขณะที่การสำรวจของ กกร. พบว่า ภาคธุรกิจที่ต้องปิดตัวลงได้แก่ภาคธุรกิจบันเทิง ร้านอาหาร สปา โรงแรม ศูนย์การค้าและค้าปลีก และหากลุกลามต่อไปจะเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงธุรกิจส่งออกโดยรวม

(3) ขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจ รวมถึงสายป่าน และเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากง่ายเพียงใด โดยธุรกิจขนาดเล็ก ย่อมเข้าถึงแหล่งเงินทุนยากกว่าขนาดใหญ่ ทำให้เสี่ยงต่อการล้มละลายมากกว่า โดยงานวิจัยของ Metlife และหอการค้าสหรัฐ คาดว่ากว่า 54% ของบริษัทขนาดเล็กในสหรัฐจะปิดตัวลงชั่วคราวหรือถาวรในสัปดาห์นี้

(4) ขึ้นอยู่กับการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ว่าในทางปฏิบัติจะทำได้แค่ไหน โดยแม้ว่าในปัจจุบัน รัฐบาลขนาดใหญ่ทั่วโลกรวมทั้งไทย ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดมหาศาล แต่ในปัจจุบัน เม็ดเงินยังไม่สามารถเข้าถึงภาคเอกชนได้ โดยในสหรัฐนั้น การเบิกจ่ายสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก ทำได้เพียง 1.5% ของวงเงินรวม 3.5 แสนล้านดอลลาร์เท่านั้นและ

(5) ขึ้นอยู่กับความสามารถในการฟื้นตัว และความพร้อมในการกลับมาทำงานของภาคธุรกิจ โดยบางธุรกิจที่มีการเตรียมความพร้อมดี เช่น Amazon มีการตรวจวัดเชื้อ & X-ray ปอด พนักงานเป็นการภายใน จะทำให้สามารถกลับมาทำงานได้รวดเร็ว เมื่อสถานการณ์บรรเทาลง

ในระยะยาว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจอย่างน้อย 3 ด้าน คือ

1.ธุรกิจที่จะอยู่รอดได้ในระยะยาว จะต้องน้อมรับเทคโนโลยีมากขึ้นโดยมีช่องทางการค้า (e-commerce) การชำระสินค้าและบริการ (digital payment) รวมถึงการทำงานออนไลน์มากขึ้น (Remote-working) เห็นได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดังกล่าว เช่น Grab ในเอเชีย, WeChatในจีน, หรือแม้แต่ Zoom, Slack รวมถึง Microsoft's Team ที่เกี่ยวข้องกับการทำ Videoconference ได้รับความนิยมทั่วโลก

2.กระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ด้านการผลิตจะลดลงในระยะยาวโดยห่วงโซ่การผลิต (Supply chain) จะเปลี่ยนไป บริษัทขนาดใหญ่จะลดความยาวของ Supply chain (เช่น ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ในหลายประเทศ และส่งไปประกอบอีกประเทศหนึ่ง) ให้สั้นลง กระจายการผลิตในหลายประเทศ รวมถึงลดการพึ่งพิงการผลิตจากจีน และหันไปเลือกในประเทศอื่น เช่น เวียดนาม พม่า บังคลาเทศ รวมถึงอินเดีย

นอกจากนั้น บริษัทข้ามชาติอาจหวนคืนกลับไปผลิตในบ้านเกิด ซึ่งจะทำให้การลงทุนโดยตรง (FDI) ทั่วโลกจะลดลง 30-40% เป็นอย่างต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ (เช่น IoT, 3D printing เป็นต้น) ที่ทำให้การผลิตทำได้โดยง่าย ไม่จำเป็นต้องผลิตจำนวนมาก ๆ หรือใช้แรงงานมากเท่าสมัยก่อน โดยแม้ว่าการหันกลับไปผลิตที่บ้านเกิดจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ลดลง (เพราะต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น) แต่ก็จะมีภูมิต้านทานต่อวิกฤตที่กระทบต่อ Supply chain ในอนาคต

3.จะเกิดการควบรวมกิจการ ธุรกิจขนาดใหญ่ สายป่านยาว และมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลจะสามารถอยู่รอดได้มากกว่าธุรกิจขนาดเล็ก สายป่านสั้น โดยในปัจจุบันกว่า 25% ของ 2,000 บริษัทที่ใหญ่ที่่สุดในโลกที่จัดอันดับโดย Forbes ยังมีเงินสดมากกว่าหนี้สิน ทำให้เป็นไปได้ที่เข้าควบรวมกับบริษัทที่อ่อนแอกว่า และจะเห็นการควบรวมกิจการในระดับมหาศาลอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น ในอุตสาหกรรมรถยนต์ สายการบิน รวมถึงบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างๆ จะเข้ามาควบรวมกิจการกับธุรกิจในภาคเศรษฐกิจจริง (Real sector) มากขึ้น

วิกฤติ Covid ครั้งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์โลกธุรกิจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นักธุรกิจทั้งหลาย เตรียมพร้อมแล้วหรือยัง

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]