‘กสิกร’อุ้มลูกจ้างรายได้น้อย อัดงบ 500 ล้าน ผุดโครงการ ‘เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ’

‘กสิกร’อุ้มลูกจ้างรายได้น้อย อัดงบ 500 ล้าน ผุดโครงการ ‘เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ’

“กสิกรไทย” เปิดตัวโครงการ “เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ” ใช้งบราว 500 ล้านบาท คาดช่วยผู้ประกอบการช่วยดูแลพนักงาน ป้องกันการเลิกจ้างได้กว่า 1.5 หมื่นคน ผ่านการพักชำระหนี้ พร้อมลดดอกเบี้ย และปล่อยกู้ซอฟท์โลนเติมสภาพคล่อง นำร่อง 2 โรงแรมใน “ภูเก็ต”

วิกฤติจากไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือ "โควิด-19" นับเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ของทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทย ที่พึ่งพารายได้จากท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมได้รับผลกระทบมากค่อนข้งมาก ลามไปถึงพนักงานระดับล่างของระบบ ที่มีเงินเดือนไม่เกิน 10,000-15,000บาทต่อเดือน ที่อาจถูกยกเลิกจ้าง และหยุดชั่วคราวได้

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เพื่อให้ทุกคนผ่านวิกฤตนี้ไปได้ กสิกรไทย ได้เริ่มโครงการ “เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ” เพื่อช่วยเหลือพนักงานที่มีรายได้น้อย ให้สามารถอยู่รอดได้ ในสถานการณ์นี้ โดยการลดดอกเบี้ย เพิ่มเงินทุนให้กับธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจมีกำลังจ้างพนักงานได้ต่อเนื่อง 

โครงการนี้ มีผู้ประกอบการนำร่อง 2 ราย คือ โรงแรมในเครือกะตะธานี และเครือกะตะกรุ๊ป ซึ่งทั้งสองโรงแรมเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ในจังหวัดภูเก็ต และเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจาก โควิด-19

นอกจากพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้ธุรกิจแล้ว โครงการนี้ ธนาคารจะลดดอกเบี้ยให้ด้วย โดยไม่ต้องจ่ายคืนดอกเบี้ยภายหลัง เท่ากับว่าแบงก์มีรายได้เป็นศูนย์ จากการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจนำเงินส่วนนี้ไปบวกกับเงินทุนที่ธุรกิจโรงแรมมีอีก 50% ใช้ดูแลพนักงาน ไม่ให้ถูกเลิกจ้าง

"โครงการนี้เกิดได้ต่อเมื่อมีเถ้าแก่ใจดี มีคุณธรรม และมีเจ้าหน้าที่มีกำลังเพียงพอจะตัดกำไรส่วนหนึ่งไปเลยเพื่อช่วยดูแล โจทย์ คือ อยากให้ธุรกิจเก็บพนักงานไว้ โดยช่วยกันคนละครึ่ง กสิกรมีกำลังขั้นหนึ่งเราก็ยอมแทงศูนย์ในส่วนรายได้ เพื่อรักษาคนระดับล่างสุดของระบบให้อยู่รอด ต้องไม่ปล่อยให้เขาตาย เพราะวันนี้ชีวิตอยู่รอดกับไม่รอด อยู่แค่คาบเส้นเท่านั้น"

158704426986

สำหรับผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ตที่เป็นลูกค้าธนาคารมีราว 127 ราย คาดว่า ธนาคารจะเข้าไปช่วยเหลือได้ทั้งหมด ซึ่งจะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ช่วยพนักงานได้ราวๆ 3 พันคน เป็นเวลา 6 เดือน และเตรียมขยายผลไปจังหวัดอื่นๆ ด้วย โดยโครงการนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 500 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถช่วยพนักงานระดับล่างได้ราว 1.5 หมื่นคน 

“แม้การช่วยเหลือของเราจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ หากเทียบกับโครงการที่รัฐทำอยู่ แต่ภาวะแบบนี้ ก็คงมีหนี้เสียไม่น้อย เพราะการค้าขายยังไม่เกิด ดังนั้นเงินที่กู้ไปคือไปเลี้ยงชีวิตคนในธุรกิจ แต่ก็ต้องทำให้แน่ใจว่า ต่อให้เป็นหนี้เสีย เงินส่วนนี้ต้องลงไปต่อชีวิตระดับล่างสุดได้ ไม่ใช่เข้ากระเป๋าเถ้าแก่ ไม่ใช่ถูกตัดไว้ สำหรับแบงก์คิดว่าเสียเงินแน่ แต่แบงก์พาณิชย์ก็รับความเสียหายได้ขั้นหนึ่ง แม้จะไม่มีกำไรเลยทั้งปี ก็ไม่ใช่เรื่องจะเป็นจะตาย สำคัญกว่า คือ ต้องให้แน่ใจว่า เงินลงไปถึงคนที่จะตายจริงๆ อย่าไปซ้ำเติม โดยทำให้เงินเข้ากระเป๋าคนที่ไม่ควรได้”

นายสมบัติ อติเศรษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร โรงแรมในเครือกะตะธานี กล่าวว่า  รอบนี้เป็นวิกฤติที่ยากมาก คงใช้เวลายาวนานถึง 18 เดือน กว่าจะมีวัคซีนต่างๆออกมา คำถามคือ จะอยู่อย่างไรหากวิกฤติลากยาว การคิดแผนธุรกิจข้างหน้าต้องรัดกุม ต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรต่อ เพื่อไม่ให้กระทบต่อธุรกิจมากนัก แต่เรายืนยันว่าจะไม่ปลดพนักงาน ไม่ลดสวัสดิการต่างๆ ลง หากโรงแรมอยู่ได้ ทุกคนจะต้องอยู่ได้ ไม่ต้องตกงาน

นายประมุขพิสิฐ อัจฉริยะฉาย ประธานกรรมการบริหาร โรงแรมในเครือกะตะกรุ๊ป กล่าวว่า พนักงานเป็นทรัพย์สินอันทรงคุณค่าของธุรกิจ ไม่เคยคิดเลิกจ้าง ในสถานการณ์ปกติพนักงานช่วยทำงาน สร้างความมั่งคั่งให้ธุรกิจ ในยามเจอวิกฤตก็ต้องฝ่าฟันไปด้วยกัน เพราะเชื่อมั่นว่ายามที่พนักงานลำบาก แล้วเจ้าของไม่ทอดทิ้ง คอยประคับประคองให้เขาอยู่ได้ เมื่อวันที่โรงแรมกลับมาเปิดอีกครั้ง พนักงานทุกคนจะกระตือรือล้น มุ่งมั่นและรักในองค์กรมากขึ้น