สธ.ค้นหาคนกรุงติดโควิด-19ไม่แสดงอาการ ลุยตรวจภูมิต้านทาน

สธ.ค้นหาคนกรุงติดโควิด-19ไม่แสดงอาการ ลุยตรวจภูมิต้านทาน

สธ.ลุยตรวจภูมิต้านทานคนกรุง ค้นหากลุ่มติดโควิด-19ไม่แสดงอาการ นำร่อง 2 เขต บางเขน-คลองเตย ระบุเป็นพื้นที่ตั้งสถานที่เสี่ยงผับ สนามมวย ชุมชนหนาแน่น

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 16 เมษายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุขในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 นายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การดำเนินการทางระบาดวิทยาเพื่อค้นหาผู้ติดโควิด-19นั้นจะมีการดำเนินการ 3 มาตรการ ได้แก่ 1. การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย (Close contact tracing)ซึ่งดำเนินการทันทีเมื่อพบผู้ป่วยยืนยันทุกราย 2.การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก(Active case finding) ทั้งในกลุ่มคนที่สัมผัสใกล้ชิดมากและใกล้ชิดน้อย และ3.การค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน
การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกมีการดำเนินการแล้วในจังหวักภูเก็ต ซึ่งผลปรากฏว่า การตรวจเชื้อในผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคพบอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 4.5 % ส่วนการตรวจในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงพบอัตราการติดเชื้อ 6.24 % ซึ่ง 2 %ที่ห่างกันนี้มีความแตกต่างอย่างมาก แสดงให้เห็นว่า การกำหนดกลุ่มเสี่ยงสูงที่เป็นเป้าหมายชัดเจนและตรวจหาเชื้อในคนกลุ่มนี้มีความคุ้มค่ากว่าเพราะมีโอกาสเจอคนติดเชื้อมากกว่าการตรวจในกลุ่มคนที่ไม่ได้เสี่ยงสูง 


นายแพทย์อนุพงศ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการค้นหาในชุมชนนั้น เป็นการตรวจหาภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีของคน โดยใช้ชุดตรวจที่เป็นการเจาะเลือดปลายนิ้ว หรือRapid Test เพื่อต้องการค้นหาคนที่มีภูมิต้านทานโรคนี้แล้ว ซึ่งแสดงว่าเป็นคนที่เคยติดเชื้อและไม่แสดงอาการ เบื้องต้นนำร่องในกรุงเทพมหานครที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศ โดยเลือกดำเนินการในพื้นที่ 2 เขต ได้แก่ เขตบางเขน ที่เป็นพื้นที่ตั้งของสถานที่เสี่ยงที่พบผู้ป่วย เช่น สนามมวย สถานบันเทิง และเขตคลองเตย ที่เป็นที่ตั้งของชุมชนแออัดที่มีความหนาแน่นของประชากร และเป็นการเลือกตรวจในประชากรที่ข้อมูลเชิงระบาดวิทยาระบุว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงโดยอาจจะไม่ใช่คนที่สัมผัสผู้ป่วยโควิด-19มาก่อน อาทิ กำหนดเป็นกลุ่มอายุ วัยหนุ่มสาว เด็ก และผู้สูงอายุ เป็นการกระจายกลุ่มตัวอย่าง


“ผลที่ได้จากการค้นหาในชุมชนโดยการตรวจหาภูมิต้านทานนั้น จะทำให้ทราบว่าในพื้นที่ที่กำหนดเป้าหมายลงไปนั้น มีคนติดเชื้อแล้วแสดงอาการซึ่งมีภูมิต้านทานแล้วมากน้อยแค่ไหน หากพบว่ามีน้อยมากๆ เช่น ไม่ถึง 1 % แสดงว่าคนไทยยังมีการติดเชื้อน้อย และส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทานเกี่ยวกับโรคนี้ ก็จะต้องมีการกำหนดมาตรการเฝ้าระวังที่เหมาะสมต่อไปด้วย และหลังจากนำร่องใน 2 เขตนี้แล้ว หากพบว่าเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้และมีความคุ้มค่าก็จะขยายผลดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายที่ระบาดวิทยากำหนดต่อไป”นายแพทย์อนุพงศ์กล่าว