ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ถูกจับคุมประพฤติแล้ว 619 คดี ศาลสั่งบริการสังคมแทนค่าปรับ

ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ถูกจับคุมประพฤติแล้ว 619 คดี ศาลสั่งบริการสังคมแทนค่าปรับ

กรมคุมประพฤติ เผยฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ถูกจับคุมประพฤติแล้ว 619 คดี ศาลสั่งคุมความประพฤติหรือทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับแล้ว

วันนี้ (16 เมษายน 2563) กรมคุมประพฤติเผย จากการประกาศเคอร์ฟิวห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถาน เวลา 22.00 - 04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 ได้มีรายงานตัวเลขการจับกุมผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรการเคอร์ฟิว และศาลสั่งคุมความประพฤติหรือทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับแล้ว จำนวน 619 คดี

นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 2) ข้อ 1 ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิว ระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 ว่า มีรายงานตัวเลขการจับกุมผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรการเคอร์ฟิว นับตั้งแต่วันที่ 4-15 เมษายน 2563 ซึ่งมีคดีที่ศาลพิพากษาจำคุก โทษจำคุกให้รอการลงโทษ แบ่งเป็น คดีที่ศาลกำหนดเงื่อนไขให้คุมความประพฤติ จำนวน 341 คดี คดีที่ศาลสั่งทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ จำนวน 278 คดี รวมทั้งสิ้น 619 คดี ในส่วนของเงื่อนไขคุมความประพฤติ กรณีที่ศาลสั่งทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ส่วนใหญ่ศาลกำหนดให้ทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง และบางรายกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกบ้านเป็นเวลา 7 วัน หรือ 15 วัน ร่วมด้วย 


ทั้งนี้ กรมคุมประพฤติได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับผู้ถูกคุมความประพฤติที่กระทำผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยให้สำนักงานคุมประพฤติชี้แจงเงื่อนไขการคุมความประพฤติ และประเมินความเสี่ยงและสภาพปัญหาความต้องการ หากพบว่ามีปัญหา เช่น การติดสุรา ติดยาเสพติด ปัญหาทางจิต หรือมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม จะต้องส่งบำบัดรักษาและให้คำปรึกษา และให้ครอบครัวหรือขอความร่วมมือฝ่ายปกครองเฝ้าระวังไม่ให้กระทำผิดในลักษณะเดียวกันอีก

ในกรณีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดให้พนักงานคุมประพฤติตรวจสอบถึงเหตุการณ์และให้รีบทำรายงานและความเห็นเสนอต่อศาล ในกรณีผู้ถูกคุมความประพฤติเป็นกลุ่มเสี่ยงและต้องกักตัวหรือเข้ารับการบำบัดรักษา ให้พนักงานคุมประพฤติประสานสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ถูกคุมความประพฤติ หรือแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เพื่อให้ไปตรวจหาเชื้อไวรัสหรือรับการบำบัดรักษา กรณีที่ศาลสั่งให้ผู้ถูกคุมความประพฤติทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ หรือทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ

หรือศาลไม่มีคำสั่งแต่พนักงานคุมประพฤติพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ถูกคุมความประพฤติรายดังกล่าวควรทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ที่เป็นการสร้างจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคมและตระหนักถึงความเสียสละและอุทิศตนในการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด 


อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมคุมประพฤติคำนึงถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของพนักงานคุมประพฤติและเจ้าหน้าที่ รวมถึงประชาชนที่มารับบริการทุกคน โดยขอให้ตรวจคัดกรองผู้มาติดต่อราชการตามแนวทางที่กรมคุมประพฤติกำหนด และในการให้บริการหรือสอบปากคำควรนั่งเว้นระยะห่างกันประมาณ 1 - 2 เมตร และให้ผู้ถูกคุมความประพฤติรวมทั้งพนักงานคุมประพฤติสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และใช้เจลหรือแอลกอฮอล์ในการล้างมือ และให้สำนักงานคุมประพฤติทำความสะอาดสถานที่สม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ และป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19