“สมคิด”ลั่นรัฐมีงบเพียงพอดูแลเศรษฐกิจ

“สมคิด”ลั่นรัฐมีงบเพียงพอดูแลเศรษฐกิจ

“สมคิด”ระบุ รัฐบาลได้วางแผนการใช้งบดูแลเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม และเพียงพอ ทั้งการใช้งบกลางและการกู้เงินที่จะมาสอดรับกันอย่างพอดี พร้อมดึงปตท.-ซีพีออล์ร่วมกระจายสินค้าหลังรัฐบาลเข้าฟื้นฟูการผลิตผ่านแรงงานท้องถิ่น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรียืนยัน รัฐบาลมีงบเพียงพอที่จะเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่((โควิด-19) โดยนอกจากงบประมาณกลางที่รัฐบาลได้เตรียมไว้ ยังมีเงินกู้ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งทั้งสองนี้ จะมีวงเงินที่เพียงพอ

เขากล่าวว่า ขณะนี้ ไม่มีประเทศใดที่จัดเตรียมงบประมาณไว้สำหรับสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ดังนั้น การจัดการงบประมาณก็เป็นไปแบบปกติ ฉะนั้น งบที่จะนำมาใช้ในการดูแลโควิด-19 ก็จะเป็นงบที่มาจากการกู้ยืมเงิน เพื่อมาดูแลประชาชนที่เดือดร้อน ในส่วนของไทยนั้น กระทรวงการคลังก็ได้ออกพ.ร.ก.กู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในเรื่องดังกล่าว

“เมื่อวานนี้ ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ออกข่าวว่า ตัวเลขหนี้ของโลกจะสูงมากในปีนี้และปีหน้า แต่เขาก็ยังหนุนให้ทุกประเทศกู้มาดูแลประชาชน ฉะนั้น กระทรวงการคลังก็ได้รีบออกพ.ร.ก.กู้เงินในเวลาที่พอดี เพราะเงินที่มาดูแลประชาชนในระยะแรกจะมาจากงบกลางปี 2563 และวางแผนที่จะมีเงินกู้มาดูแลในช่วงเดือนพ.ค.นี้”

ทั้งนี้ การกู้เงินหรือการก่อหนี้ดังกล่าว เราจะทำเป็นช่วงๆขึ้นอยู่กับการใช้จ่าย ไม่ใช่กู้มาทั้งหมด ฉะนั้น การขาดแคลนเงินก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะเรามีแผนรองรับ ทั้งนี้ การก่อหนี้ดังกล่าวจะแบ่งการใช้จ่ายเป็น 3 ส่วน คือ 1.สำหรับการเยียวยา 2.สำหรับการดูแลเศรษฐกิจท้องถิ่น และ 3.การดูแลภาคการเงิน

เขากล่าวด้วยว่า วานนี้(16เม.ย.)ได้เชิญผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)และภาคเอกชน อาทิ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) มาร่วมหารือถึงแผนการกระจายสินค้าจากท้องถิ่นทั่วประเทศ เนื่องจาก ในช่วงที่เกิดโควิด-19 นี้ จะมีแรงงานในเมืองกลับสู่ท้องถิ่นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีแนวทางที่จะเข้าไปพัฒนาอาชีพ ดังนั้น เมื่อมีการผลิตเกิดขึ้นในท้องถิ่น ก็จำเป็นต้องมีจุดที่จะสามารถกระจายสินค้าให้กับท้องถิ่นเหล่านั้นได้

“ขณะนี้ ภาวะเศรษฐกิจทุกอย่างหยุดนิ่ง คนเดินทางกลับบ้าน เราก็คิดว่า อนาคตข้างหน้าจะทำอย่างไรให้คนเหล่านั้นมีรายได้มีงานทำ ซึ่งก็จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ทำให้เราต้องวางแผนที่จะทำให้เกิดการจ้างงาน ขณะเดียวกัน เราก็ต้องเตรียมการเรื่องการผลิตและการตลาด โดยจะให้ธ.ก.ส.เป็นหัวใจและชี้นำการผลิตและปล่อยสินเชื่อ และให้ปตท.เป็นจุดช่วยกระจายสินค้า”