ไวรัสระบาดเปิดปฐมบท ทวงฮับ'ฉันทนา'นาโน

ไวรัสระบาดเปิดปฐมบท  ทวงฮับ'ฉันทนา'นาโน

'NR Nanofiber'ผู้ไม่เคยทิ้งลายฝีเข็ม'สิ่งทอไทย' ไม่หยุดคิด ไม่ทิ้งโอกาส กล้าลอง กล้าเสี่ยง เปิดไลน์ผลิตใหม่หน้ากาก ในเวลาที่ใช่ วิกฤติโควิด -19 พลิกฟื้นเส้นด้ายนาโน ทอหน้ากาก เปิดปฐมบทใหม่ สร้างงานให้สาวฉันทนาไทย ปักหมุดฮับโรงงานเย็บผ้านาโน

คำว่า “วิกฤติ” มาพร้อมกับโอกาสยังใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย แม้แต่วิกฤติไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ระบาดหนัก จะสร้างความเสียหายเป็นลูกโซ่กับภาคธุรกิจ 

เพราะในวันที่ผู้คนทั่วโลกใส่หน้ากากอนามัย สปอร์ตไลท์จึงส่องมาที่ฐานการผลิตสิ่งทอ อย่างประเทศไทย จากยุคอาทิตย์อัสดง เมื่อเกิดภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัย ไม่แน่ว่าอาจกลายเป็น “ปฐมบทใหม่” ของไทยในการทวงความเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) “สาวโรงงานทอผ้ายุคนาโน” ดังตัวอย่างการปรับตัวรอดของธุรกิจสิ่งทอไทย ที่ไม่เคยตาย

บริษัท นำรุ่ง เรย่อน จำกัด โรงงานผลิตเส้นด้าย เส้นใย ก่อตั้งเมื่อปี 2518 เป็นหนึ่งในนั้น ที่พลิกจากการรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) เสื้อผ้าให้กับแบรนด์ดัง สร้างแบรนด์ “NR nanofiber”  ทอผ้าทอนาโน นวัตกรรมเพื่อการแพทย์

ผ่านคำบอกเล่าของทายาทรุ่นที่2 บุญญาภา บุญทองรุ่งทวี” Project Director NR Nanofiber Department มองว่า บริษัทนำรุ่งเดินมาถึงวันนี้เพราะความไม่ยอมแพ้ กล้าลองสิ่งใหม่ กล้าท้าทาย บทเรียนจากวิกฤติหลังจากลูกค้าเทไปหาฐานการผลิตใหม่ แต่สิ่งทอไทยยังอยู่รอดได้ โดยใช้ศักยภาพฝีมือเติบโตมากับโรงงานทอผ้า ฐานการผลิตในตำนาน แหล่งจ้างงานสาวโรงงาน ฉันทนา” มากว่า 40 ปี เบนเข็มไปสู่การพัฒนาผ้าชนิดพิเศษ ตระเวนค้นหานวัตกรรมการผลิตผ้าจากทั่วทุกมุมโลก มีจังหวะเข้าไปเทคโอเวอร์โรงงานผลิตผ้าจากเบลเยี่ยม

จากฉันทนา โรงงานทอผ้า ขยับไปพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ แบรนด์ NR ตั้งแต่ปี 2560 ส่งสินค้าด้านสุขภาพให้กับโรงพยาบาล และอุปกรณ์กีฬา เช่น กางเกง พยุงเข่า แผ่นกรองผู้ป่วยโรคไต ถุงเท้าเพื่อเพื่อป่วยเบาหวาน

 เมื่อวิกฤติโควิด-19 เริ่มต้นปลายปี 2562 แม้แต่จีน ยักษ์ใหญ่โรงงานผลิตสิ่งทอโลก ยังตกอยู่ในภาวะขาดแคลนหน้ากาก มีลูกค้าผู้หวังดีทั้งในไทยและจีน ชี้โอกาส สั่งซื้อนับล้านชิ้น แต่โรงงานปฏิเสธออเดอร์ชิ้นนั้นไป เพราะความไม่แน่ใจ

แม้โรงงานนำรุ่ง เรย่อน ทิ้งโอกาสออเดอร์มหาศาลล็อตแรก แต่ยังไม่ใช่จุดสุดท้าย เพราะยังมีหลายออเดอร์มาท้าทายให้ลองทำ จนต้องเปิดล็อตแรกของไลน์การผลิตเริ่มในเดือนก.พ. คนมาสั่งทำหน้ากากผ้าราคาถูกจากเศษผ้าโดยไม่ต้องใช้ความซับซ้อนและนวัตกรรมมากนัก ขายล็อตใหญ่ในราคาชิ้นละ 20-30 บาท

จากผลิตหน้ากากผ้าธรรมดาไม่ซับซ้อน เป็นจุดเริ่มต้นของการคิดต่อยอดหน้ากาก จากผ้านาโน ป้องกันเชื้อโรค แบคทีเรีย เริ่มรับออเดอร์แบบสั่งผลิต(Made to Order) พบว่าออเดอร์เต็มกำลังผลิตใน 7 วัน แม้ราคาเริ่มต้นสูงถึง 300 บาทต่อชิ้น และยังต้องซื้อยกโหลแต่คนก็ยังยอมสั่งซื้อ ทั้งที่ยังไม่มีผลวิจัยจากแล็บ ยืนยัน

“ออเดอร์แรกขายล็อตใหญ่ไม่แพง จากนั้นเมื่อเมืองอู่ฮั่นชัตดาวน์ เป็นก้าวแรกที่คิดพัฒนาหน้ากากที่มีเนื้อผ้าสูงขึ้น ช่วงนั้นไทยยังไม่ขาดแคลนหน้ากาก เริ่มอยากพัฒนาของที่มีคุณภาพ ไม่ต้องการโกหกลูกค้า จึงทำหน้ากากที่หนากันแบคทีเรียได้”

ปัจจุบันผลิตหน้ากากมากกว่า 10 ล็อต จากเริ่มยอมลดราคาชิ้นละ 100 บาท จนมาถึงชิ้นละ 300 บาท มีการเพิ่มคุณสมบัติที่มากขึ้นในผ้าแต่ละล็อต เช่น ผ้าบางขึ้น ป้องกันเชื้อโรคระดับ 5 ไมครอน นำไปสู่การบอกต่อชวนเพื่อน ครอบครัว รวมออเดอร์สั่งซื้อเป็นล็อตๆ

จุดแข็งที่พ่อ (สมหวัง บุญทองรุ่งทวี) เข้าใจทุกอนูเส้นใยผ้า และฟังลูกค้าเสียงตอบรับ (Feed Back) ลูกค้าทางเพจมาตลอด ไม่หยุดแค่หน้ากากกันเชื้อโรค ขยับไปตอบโจทย์คนเล่นกีฬา จากกำลังการผลิตล็อกแรกหลัก 1 พันชิ้น เพิ่มเป็น 5,000 ชิ้น

“ลูกค้าคอมเมนท์มาผ่านเพจ จึงคิดต่อทำเนื้อผ้าบางขึ้น แต่ยังซึมซับเหงื่อได้ดีให้คนเล่นกีฬา กันเชื้อโรคได้ เพราะคนยุคนี้วิ่งเพื่อสุขภาพแล้วต้องรับผิดชอบต่อสังคม พอลองใส่วิ่งเทียบกับแบรนด์ดังจากประเทศอังกฤษที่ราคา 600 บาทแล้ว ยังซับไม่ได้เกรดดีเท่าจึงมั่นใจในสินค้าเรา”

เธอมองว่า วิกฤติโควิด -19 เกิดปฐมบทใหม่ให้กับ “NR Nanofiber” ได้พิสูจน์ฝีเข็มของ โรงงานเย็บผ้า โอกาสในการทวงคืน ฮับเย็บผ้าที่มีมูลค่าพิเศษ” นำไปสู่การสร้างงาน ให้กับคนไทย เช่น ผ้านาโนในอุปกรณ์การแพทย์ และสุขภาพ เพราะวิกฤติครั้งนี้ สร้างบรรทัดฐาน(Norm) ให้กับสังคมใหม่ ทำให้หน้ากากไม่ใช่เพียงแค่ ป้องกันเชื้อโรค แต่ใส่เพื่อสุขภาพ ในโอกาสต่างๆ จึงวางแผน ต่อยอด 3 ด้าน ประกอบด้วย

1.พัฒนาสินค้า สิ่งทอทางการแพทย์ พัฒนาหน้ากากเกรดสำหรับห้องผ่าตัดเพื่อหมอ และเกรดสำหรับคนทั่วไป เพราะหน้ากจะเป็นปัจจัยที่ 5 ซึ่งทุกคนต้องพกพร้อมออกจากบ้าน หรือพัฒนานวัตกรรมเสื้อผ้าสวมใส่กันเชื้อโรค รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ส่งให้กับองค์การสหประชาชาติ(UN) ใช้ เช่น เต๊นท์กันยุง คุณสมบัติผ้าที่ไม่เคลือบสารเคมี ทนทานทุกสภาวะ ฝนตกไม่มีการชะล้างสารเคมีไปสู่ผืนดิน

2.พัฒนาออกแบบ(ดีไซน์) สำหรับคนสายแฟชั่น ต้องการบ่งบอกความเป็นตัวตน (Identity) ตอบโจทย์สมาชิกในบ้านมี 5 คนหากสีเดียวกันหมดก็สับสน จึงพัฒนาให้แตกต่าง รวมถึงพัฒนาซองใส่ หูหน้ากากให้ใส่กระชับ

3.พัฒนาการตลาด ตอบโจทย์การเป็นฮับสิ่งทอ ปัจจุบันมีลูกค้าในประเทศคือองค์กร และลูกค้าสั่งซื้อ จึงรุกขยายตลาดต่างประเทศ ผ่านอีคอมเมิร์ซ เริ่มมีออเดอร์คนไทยในสหรัฐสั่งซื้อ หากออเดอร์ล็อตใหญ่ขึ้นจะมีการขยายการผลิต สร้างงานสร้างอาชีพให้กับสิ่งทอไทย

จังหวะ เวลา โอกาส ทำให้เกิดบริบทการผลิตใหม่ วิกฤติการณ์นี้อาจจะเป็นจุดที่ทำให้สิ่งทอไทยกลับมาปักหมุดหมายในโลกอีกครั้ง หากทุกฝ่ายร่วมมือกันพัฒนา แทนต่างฝ่ายต่างทำมันช้า”

นี่คือความฝันของกองทัพ สิ่งทอไทย ธุรกิจที่เคยทำรายได้ส่งออกอันดับต้นๆ ของไทย จะกลับมาทวงบัลลังก์ สร้างกองทัพ “ฉันทนา”ผลิตผ้านาโน ในยุคที่เสื้อผ้าไม่ใช่แค่เพียงสวมใส่แฟชั่น แต่จะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และทำให้สุขภาพดี ไร้โรค

เธอยังเล่าว่า สิ่งที่ส่งต่อมาจากเจเนอเรชั่นที่ 1 คือนักสู้ กล้าเสี่ยง กล้าลุย ไม่กลัวความผิดพลาด เพราะความผิดพลาดของการทำธุรกิจคือการกลัวทำในสิ่งที่ผิดพลาด (The mistake is not to do the mistake) จึงต้องเริ่มทำพร้อมกับปรับปรุงแก้ไข วิจัยและพัฒนา(R&D) โดยฟังเสียงของลูกค้าคือ กุญแจความสำเร็จ

“สิ่งที่ผิดพลาดของการทำธุรกิจคือการกลัวทำในสิ่งที่ผิดพลาด เพราะไม่มีใครไม่เคยผิด แต่ถ้าไม่เริ่มต้นก้าวแรกจะไม่มีก้าวต่อไป การยอมทำรับออเดอร์แรก ทำให้พัฒนาหน้ากากที่เข้ากับหน้า และผืนผ้าที่คนใส่สบาย เราออกสินค้าเราจะไม่รู้ว่าจะเพอร์เฟคหรือไม่ แต่จะเสียใจกว่าหากไม่ได้ออกมา อยู่ดีๆ จะเริ่มอันละ 300 เลยไม่ได้ต้องค่อยๆ เพิ่มมูลค่า ความพิเศษ และบวกราคาเพิ่ม ลูกค้าก็รับได้”

จุดพลิกสำคัญที่สุดคือ การมองวิกฤติเป็นโอกาส เพราะทำให้คู่แข่งหายไป ก็เป็นโอกาสเช่นกัน 

วิกฤติทำให้คู่แข่งหายไปจากตลาด เช่น วิกฤติทำให้จีนขาดแคลน หน้ากาก ทำให้ผู้ผลิตไทยมีโอกาสขาย"เธอเล่า

สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้รุ่นพ่อส่งต่อมาธุรกิจมาถึงรุ่น 2 คือ ตอบแทนสังคม ในภาวะวิกฤติโรคระบาด ผู้คนล้มป่วย วงการแพทย์ขาดแคลน โรงงานจึงไม่เพียงผลิตเพื่อขายอย่างเดียวหลังจากคุ้มทุน ก็แบ่งอีกส่วนเพื่อบริจาคให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลน นี่คือหลักการที่จะทำให้ธุรกิจยั่งยืนระยะยาว

 

 

 

 

เส้นทางทวงบัลลังก์ฮับสิ่งทอ

-กล้าลอง ทำสิ่งใหม่ ไม่หยุดคิดต่อยอด

-ไม่กลัววิกฤติ ไม่กลัวพลาด ปรับปรุงเสมอ

-พัฒนาตลาดใหม่ เช่น เครื่องมือแพทย์

-ผลิตคุ้มทุนและคืนสู่สังคม