กองรีท‘โรงแรม-ห้าง’อ่วม พิษ‘โควิด’กดดัชนีกลุ่มทรุดหนักเฉียด 20%

กองรีท‘โรงแรม-ห้าง’อ่วม พิษ‘โควิด’กดดัชนีกลุ่มทรุดหนักเฉียด 20%

กองรีท-อสังหาฯ กลุ่มโรงแรม-ห้างสรรพสินค้า-สนามบิน อ่วมพิษโควิด ทำรายได้หด ยอดใช้บริการวูบ กดดันผลดำเนินงานปีนี้ แต่มั่นใจหลังสถานการณ์จบ ทุกอย่างดีขึ้น ลั่นเดินหน้าจ่ายปันผลตามปกติ

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” นอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวโดยตรงแล้ว ยังกระทบไปถึง ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ตลอดจนอาคารสำนักงานให้เช่าบางแห่ง จากคำสั่งของหน่วยงานภาครัฐที่สั่ง “ล็อคดาวน์” เพื่อควบคุมการรวมตัวกันของผู้คน หวังลดการแพร่ระบาด ผลกระทบดังกล่าวส่งผลต่อเนื่องไปยังกองทุนอสังหาริมทรัพย์และกองรีท ต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนที่ลงทุนในธุรกิจโรงแรมและศูนย์การค้า ซึ่งได้รับผลกระทบมากสุด

โดยการเคลื่อนไหวของ ดัชนีกลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์และกองรีท (PF&REIT) ตั้งแต่ต้นปี 2563 ร่วงลงมาแล้ว 19.07% ใกล้เคียงกับดัชนี SET ที่ปรับลดลง 20.48% สำหรับกองรีทในส่วนของโรงแรม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างมาก พบว่าราคาต่างลดลงรุนแรงกว่ากลุ่ม อาทิ กองสตราทีจิก ฮอสพิทอลลิตี้(SHREIT) ลดลง 45.8% , กองทรัสต์โรงแรมศรีพันวา(SRIPANWA) ลดลง 30.3% และ กองแกรนด์ โฮสพีทาลิตี้ (GAHREIT) ลดลง 21.4% ขณะที่กองรีท ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดห้างฯ จนถึงสิ้นเดือน เม.ย. อาทิ กองทรัสต์บัวหลวง เค.อี.รีเทล(BKER)ลดลง 34.5% และ กอง CPN รีเทล โกรท (CPNREIT) ลดลง 14.5%

นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด หรือ LH Fund กล่าวว่า แม้คำสั่งล็อคดาวน์จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า แต่เชื่อว่าจะเป็นผลกระทบเพียงชั่วคราว โดยกระทบหนักสุด คือ ช่วงไตรมาส 2 แต่หลังจากนั้นจะค่อยๆ ทยอยฟื้นกลับมา ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยก็ลดลงต่อเนื่อง ภาครัฐก็มีแผนทยอยปลดล็อคดาวน์บางพื้นที่ด้วย

“ผู้ลงทุนกองรีทและกองอสังหาฯ ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบันที่ลงทุนระยะยาว มีความเข้าใจสภาพตลาดดี ขณะที่ผู้ลงทุนรายย่อยที่ซื้อหุ้นกลุ่มดังกล่าวในตลาดฯ มองว่า เป็นผู้ลงทุนที่ลงทุนระยะยาวและต้องการเงินปันผล ฉะนั้นด้วยผลกระทบดังกล่าวต่อเงินปันผลเป็นระยะเวลาแค่ช่วงสั้นๆเท่านั้น แค่ขอให้สถานการณ์กลับคืนมาเรามั่นใจว่าเรายังแก้หมัดได้”

158695722167

นายยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.ภัทร ในฐานะผู้จัดการกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ สนามบินสมุย หรือ กองทุน SPF กล่าวว่า ผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว ทำให้จำนวนเที่ยวบินที่มาใช้บริการลดน้อยลง ส่งผลต่อรายได้กองทุน  อย่างไรก็ดีกองทุนยังมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิ

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยไทยระยะยาวยังเติบโตดี รวมทั้งเกาะสมุยยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของไทย กองทุนจึงยังมีแนวโน้มเติบโตดี อีกทั้งยังมีระยะเวลาสิทธิการเช่าของสนามบินสมุยที่เหลือ 16 ปีครึ่ง และศักยภาพในการเติบโตของรายได้ของกองทุนเฉลี่ยย้อนหลัง 12 ปี ที่ 4.4% ต่อปี

นอกจากนี้ด้วยโครงสร้างของกองทุน กองทุนมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่ระดับกองทุนเท่านั้น เนื่องจากผู้เช่าช่วงของกองทุน SPF เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการทรัพย์สินทั้งหมด ทำให้กองทุนคาดว่าจะยังมีกำไรในการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยได้ในช่วงปีนี้

นายกวินทร์ เอี่ยมสกุลรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท เค.อี. ในฐานะผู้จัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้มอลล์รีทบีเคอีอาร์ “BKER”  กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น กระทบต่อรายได้ค่าเช่าและค่าบริการของศูนย์การค้าที่ลดลง และเรายังให้ความช่วยเหลือผู้เช่าพื้นที่ ด้วยการลดค่าเช่า เพื่อให้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้ ขณะเดียวกันยังใช้วิธีลดต้นทุน ทำให้ศูนย์ฯ ยังมีอัตราการเช่าพื้นที่ที่ดี ด้วยแบรนด์ที่ดี และสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาว

นอกจากนี้ เรายังสามารถเปิดให้บริการบางพื้นที่ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารมีดิลิเวอรี่ ยังเปิดให้บริการคิดเป็นพื้นที่1ใน3ของพอร์ตทั้งหมด และหากสถานการณ์ฟื้นตัวดีขึ้น น่าจะกลับมาได้เร็วกว่า