พรรคก้าวไกล ยื่น 4 ข้อเรียกร้องรัฐบาล กรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท

พรรคก้าวไกล ยื่น 4 ข้อเรียกร้องรัฐบาล กรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท

บุกทำเนียบรัฐบาล โฆษกพรรคก้าวไกล นำทีมยื่น 4 ข้อเรียกร้องรัฐบาล กรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท

ช่วงเช้าวันนี้ (15 เม.ย. 2563) พรรคก้าวไกล นำโดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรค เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นจดหมาย "ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล กรณีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน 5,000 บาท" สะท้อนกระแสเสียงของประชาชนต่อมาตรการภาครัฐดังกล่าวที่เพิ่งจะประกาศใช้ไปไม่กี่วันก่อนหน้า

เนื้อหาของข้อเรียกร้องมีดังนี้

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ให้มีมาตรการชดเชยรายได้แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน จำนวน 8 ล้านคน เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา จากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการหลายแห่ง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประกาศมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม เป็นต้นมา โดยเปิดให้ประชาชนเข้ามาลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www. เราไม่ทิ้งกัน .com โดยรัฐบาลจะใช้ระบบ AI ตรวจสอบคัดกรองพิสูจน์ความทุกข์ยากของประชาชน

พรรคก้าวไกล ได้มีข้อท้วงติงเชิงเสนอแนะต่อรัฐบาลมาโดยตลอด ว่าแรงงานนอกระบบในภาคบริการ และภาคการผลิต ตลอดจนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมในมาตรา 39 และมาตรา 40 และมาตรา 33 ที่ยังไม่เกิดสิทธิประกันการว่างงานนั้น มีอยู่จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 14.5 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลควรจะช่วยเหลือเยียวยาแรงงานนอกระบบทั้งหมดแบบถ้วนหน้าทุกคน และไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะใช้กระบวนการตรวจพิสูจน์ความทุกข์ยากของประชาชน เพราะจะกินระยะเวลายาวนาน ในขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของประชาชนเกิดขึ้นทุกวันและไม่อาจที่จะรอได้ นอกจากนี้ระบบที่ต้องให้ประชาชนกรอกข้อมูลที่มีความซับซ้อนมาก จะเป็นการกันประชาชนที่ไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยีที่มีอยู่จำนวนไม่น้อย ให้เข้าไม่ถึงระบบการลงทะเบียนของรัฐ ที่สำคัญหลักเกณฑ์การคัดกรองผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด 19 ได้ตัดบางอาชีพออก เช่น คนงานก่อสร้าง โปรแกรมเมอร์ นักศึกษา โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้รับผลกระทบทางตรง เพราะไม่ว่าอาชีพใดในขณะนี้ ต่างก็ได้รับความเดือดร้อนทั้งสิ้น ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม นอกจากนี้ การกำหนดวงเงินช่วยเหลือไว้ให้ประชาชนเพียง 8 ล้านคน ย่อมทำให้มีแรงงานนอกระบบมากถึง 6.5 ล้านคนถูกทอดทิ้ง

และเมื่อเทียบเคียงกับกรณีที่ ทอท. มีมติเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในท่าอากาศยานเป็นระยะเวลายาวนานถึง ปี พ.ศ. 2565 ซึ่งยังผลให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ผลประโยชน์สูงสุด ท่ามกลางการประมาณการว่า ในระยะเวลา 3 ปี การท่าอากาศยานจะสูญเสียกำไรสุทธิไปรวมกันถึง 22,536 ล้านบาท ซึ่ง ณ ขณะนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ยังไม่ได้รุนแรงเมื่อเทียบกับปัจจุบัน แต่กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็ไม่ได้กำหนดให้มีกระบวนการพิเศษ ในการประเมินความทุกข์ยากของผู้ประกอบการ และกลุ่มทุนแต่ละราย แต่อย่างใด แล้วเหตุใดในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน รัฐบาลจึงต้องกำหนดให้มีกระบวนการในการพิสูจน์ความทุกข์ยาก ที่วุ่นวาย ซับซ้อน แก่ประชาชนด้วย

ในที่สุดเมื่อวันที่ 12 เมษายน ผลการคัดกรองรอบแรกปรากฏจำนวนประชาชนผู้ลงทะเบียนที่มีมากถึง 27 ล้านคน โดยมีการตรวจคัดกรองไปได้เพียง 7.99 ล้านราย โดยมีประชาชนที่ผ่านเกณฑ์ 1.68 ล้านราย

ในจำนวนนี้ ยังมีประชาชนอีกจำนวน 1.53 ล้านราย ที่ต้องกรอกข้อมูลเพิ่มเติมให้กับรัฐบาลเพื่อดำเนินกระบวนการพิสูจน์ความทุกข์ยากต่อไป ซึ่งก็ยังไม่ได้มีคำตอบจากรัฐบาลว่า หลังจากที่กรอกข้อมูลเพิ่มเติมไปแล้ว รัฐบาลจะพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน

สำหรับกลุ่มประชาชนที่ถูกปฏิเสธการช่วยเหลือเยียวยาที่มีมากถึง 4.78 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นความผิดพลาดของระบบที่ระบุอาชีพที่ไม่เป็นจริง เช่น เป็นเกษตรกร ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็น บางกรณีถูกระบุว่าเป็นนักเรียน/นักศึกษาเพราะเรียน กศน. ระบุว่าเป็นผู้ประกอบการทั้งๆ ที่เป็นพ่อค้า แม่ค้ารายย่อย แม้จะเปิดให้ประชาชนอุทธรณ์ได้ในวันที่ 20 เมษายนนี้ แต่ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า จะใช้เวลานานเท่าไหร่ในการพิจารณาอุทธรณ์จากประชาชน

ด้วยเหตุผลทั้งหมดข้างต้น ยืนยันได้ว่ากระบวนการในการพิสูจน์ความทุกข์ยากของประชาชนนั้นประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทั้งในแง่ของความครอบคลุมประชาชนที่เดือดร้อนจริง และในแง่ความเร่งด่วนในการช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที ซึ่งหากรัฐบาลยังคงยืนกรานที่จะดำเนินมาตรการช่วยเหลือเยียวยาในลักษณะนี้ต่อไป ยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่กำลังประสบความทุกข์ยากให้เกิดความสิ้นหวัง โดยไม่อาจสร้างความเชื่อมั่น และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ของประชาชนคนไทย ให้มีกำลังใจที่จะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ไปร่วมกันเลย

พรรคก้าวไกล จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินมาตรการการเยียวยาประชาชน และเร่งรัดการดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด ทั้งสิ้น 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. ขอให้รัฐบาลเปลี่ยนกรอบความคิด จากเดิม ที่รัฐบาลมีฐานคิดที่ว่าตนเป็นเจ้าของงบประมาณ ที่กำลังเจียดเงิน เพื่อบริจาคสงเคราะห์ให้กับประชาชน ให้เปลี่ยนมาเป็น รัฐบาลเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน ให้มาทำหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณที่เป็นของประชาชน ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

2. ขอให้รัฐบาลยกเลิกกระบวนการพิสูจน์ความทุกข์ยากของประชาชน ยกเลิกเกณฑ์อาชีพที่เดิมรัฐบาลปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับเงินโดยถ้วนหน้า และรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงนักเรียน นักศึกษาที่หาเลี้ยงตนเอง และจุนเจือครอบครัว หากช่วยเหลือเยียวยารายละ 5,000 บาท จำนวน 14.5 ล้านคน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ก็จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 217,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่อยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถจัดสรรได้

3. ขอให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือเยียวยาแรงงานในระบบประกันสังคมที่มีอยู่ประมาณ 12 ล้านคน ที่ ณ ปัจจุบัน กำลังประสบปัญหารายได้ลดลง อันเนื่องมาจากถูกลดเงินเดือน ถูกสั่งให้หยุดงานบางวัน และจ่ายค่าแรงเพียงบางส่วน หรือถูกลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลา และเร่งช่วยเหลือเยียวยาแรงงงานนอกระบบในภาคเกษตร ที่มีอยู่ราวๆ 11.5 ล้านคน

4. รัฐบาลควรเตรียมมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาเก็บตก กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เข้าไม่ถึงระบบการลงทะเบียนแบบออนไลน์ ให้สามารถลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ได้ และจัดหาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตอื่นๆ เช่น ศูนย์พักพิง ศูนย์กักกันโรค อาหาร น้ำดื่ม และของใช้จำเป็น เพื่อให้มั่นใจได้ว่า รัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัญญาเอาไว้

พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่า จะใช้อำนาจนิติบัญญัติที่ประชาชนได้มอบความไว้วางใจให้จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ยืนเคียงข้างกับประชาชนในยามที่ประชาชนได้รับความทุกข์ยาก โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลทุกคน จะลงพื้นที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อน และการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล รวมทั้งพรรคก้าวไกล ได้เปิดเว็บไซต์ www. ทำไมไม่ได้5พัน .com เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากมาตรการของรัฐบาลทั่วประเทศ และจะใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดผ่านกลไกของคณะกรรมาธิการสามัญ ตลอดจนการเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนเพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของพวกเขา ผ่านการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ พระราชกำหนดกู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 172 วรรคสาม รวมทั้งให้การช่วยเหลือแก่ประชาชน ในการเรียกร้องความเป็นธรรมของตนตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป"