เกษตรกรปรับ 'รถพุ่มพวงปลาสด' สู้โควิด-19

เกษตรกรปรับ 'รถพุ่มพวงปลาสด' สู้โควิด-19

เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง จ.อุตรดิตถ์ ปรับตัวสู้โควิด-19 ปรับรถกระบะเป็น “รถพุ่มพวงปลาสด”ตระเวนไปตามหมู่บ้าน ชุมชน หลังจับปลาขายไม่ได้

เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 63 นายประสาน เครือน้ำคำ เจ้าของเปรมแพรปลาวัวแดง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประสบปัญหาปลาที่เลี้ยงไว้ ไม่สามารถขายได้ตามกำหนด ซึ่งได้มีการลงทุนเลี้ยงลูกปลา เพื่อให้จับขายได้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ มากถึง 15 กระชัง หรือประมาณ 12 ตัน ด้วยต้นทุน กระชังละ 3 หมื่นบาท แต่จากวิกฤติโรคระบาดและมาตรการเคอร์ฟิว ทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่เคยรับซื้อ ทั้งตลาดนัด ร้านอาหาร โต๊ะจีน และรถจากต่างจังหวัดไม่มารับปลาที่หน้ากระชัง ซึ่งหากปล่อยไว้นานขนาดของปลาจะใหญ่กว่าที่ตลาดต้องการ ทำให้ขาดทุนหลายแสนบาท

ขณะนี้จึงได้ปรับตัวด้วยการลดราคาปลาหน้ากระชังลง เพื่อให้ขายได้ง่ายขึ้น และเพิ่มช่องทางการขายด้วยวิธีขับรถเร่ขายไปตามหมู่บ้าน แต่ก็ยังขายได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงอยากให้ภาครัฐช่วยในด้านการจัดหาตลาดเปิดโอกาสให้ผู้เลี้ยงปลามีช่องทางการจำหน่ายมากยิ่งขึ้น

158692326033

ขณะที่ นางนุชนาฎ เอมสะอาด เกษตรกรเลี้ยงปลากระชังอีก 1 รายหาวิธีการแก้ไขปัญหาในการระบายปลากระชังจำนวนมาก ที่ไม่มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อและไม่สามารถจัดส่งปลาไปยังต่างจังหวัดได้ และออร์เดอร์ในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ถูกยกเลิกทั้งหมด จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องนำรถยนต์กระบะติดตั้งถังออกซิเจน และเครื่องเสียงตระเวน หรือเร่ขายปลาไปตามหมู่บ้าน ชุมชนต่างๆ

โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ทุกปี ออร์เดอร์เพิ่ม 1 เท่าตัว ปีนี้ด้วยโรคระบาดโควิด-19 ปลาที่ลงทุนเลี้ยงไว้ 5 เดือนถึงเวลาต้องจับ ไม่มีแหล่งขาย คาดว่าจะมีกำไรไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท กลายเป็นศูนย์ทันที ทั้งนี้ปลาทั้งขนาดตัวและน้ำหนักถึงเวลาจับขาย ไม่จับแออัดและลอยตายในที่สุด สงกรานต์ทุกปีจากช่วงปีทอง ปีนี้ต้องยอมรับขาดทุน เพื่อเป็นช่องทางระบายปลาในกระชัง ลดความแออัด และลดต้นทุนอาหาร จึงดัดแปลงรถยนต์กระบะ เป็น “รถพุ่มพวงปลาสด” ตักปลาที่ขนาดใหญ่เกินพิกัด ตระเวนไปตามหมู่บ้าน ชุมชน ประกาศขายปลากระชังน้ำน่านสดๆ ราคาไม่ถูก เพราะอยู่ในช่วงโควิด-19 การขายจะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะชุด ต้องสวมชุดผ้ากันฝน สวมหน้ากากอนามัย สวมหมวก และฉีดแอลกอฮอล์ตลอด วิธีดังกล่าวแม้ไม่ได้กำไร ก็ยังสามารถระบายปริมาณปลา ขายได้วันละ 100 กิโลกรัมมีรายได้จุนเจือครอบครัว

158692329745

ด้าน นายฐาปกรณ์ ลิ่มบรรจง หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง จังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า สำนักงานประมงจังหวัดอุตรดิตถ์ได้มีการช่วยเหลือผู้เลี้ยงปลาโดยการจัดหาตลาดที่สามารถขายได้ หรือการขายแบบเดลิเวอร์รี่ส่งขายถึงบ้าน และรวมถึงห้องเย็นที่สามารถแช่แข็งปลาจำนวนมากได้ ทั้งนี้ แนะนำให้ชาวประมงลดอาหารลงเป็นการชะลอการเติบโตและประหยัดต้นทุน รวมถึงเน้นการดูแลความสะอาดมากกว่าปกติ เพื่อรักษาปลาให้นานขึ้น รอวันจำหน่ายต่อไป และเตรียมทำหนังสือรับรอง ขนส่งสัตว์น้ำข้ามจังหวัด เพื่อให้จับปลาส่งขายข้ามจังหวัดได้ตามปกติ

158692333969