'กสศ.' ชี้ 'โควิด-19' กระทบครอบครัวยากจน หนักสุดไม่มีข้าวกิน

'กสศ.' ชี้ 'โควิด-19' กระทบครอบครัวยากจน หนักสุดไม่มีข้าวกิน

กสศ. ชี้ "โควิด-19" กระทบครอบครัวยากจน หนักสุดถึงขั้นไม่มีข้าวกิน อนุมัติงบช่วยเหลือฉุกเฉินเพิ่ม 300 ล้านบาทบรรเทาความเดือดร้อน

นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 13-19 เม.ย. 63 สพฐ. ร่วมกับ กสศ. ทำการสำรวจผลกระทบและแนวทางการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ โดยกระบวนการระดมข้อมูลและประสบการณ์จากสังคม (Crowdsourcing) ผ่านทางโทรศัพท์ (Telephone Survey) และแบบสอบถามออนไลน์ ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู นักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพและตรงจุดจากผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่หน้างานจริง (Frontline) มากกว่า ​1,000 คนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อครอบครัวของเด็กยากจน และเด็กยากจนพิเศษ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงมาถึงเรื่องอาหาร และสวัสดิภาพ ความปลอดภัย ดังนั้นเรื่องการปกป้องและให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและครอบครัวในกลุ่มเสี่ยงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ เพราะสำหรับเด็กบางคนอาจส่งผลกระทบหลายมิติ สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือการเฝ้าติดตามครอบครัวเด็กนักเรียนกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิด เพื่อหาทางช่วยเหลือสนับสนุนนบรรเทาปัญหาอุปสรรคอย่างเหมาะสม เพราะถือว่ามีความจำเป็นที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ

“ดังนั้นทาง สพฐ. ขอให้บุคลากร ครู ในสังกัดสพฐ.หรือสังกัดอื่นๆ ช่วยกันให้ข้อมูลกับทาง กสศ. และ สพฐ. อย่างเต็มที่ เพราะผู้รับประโยชน์สูงสุดก็คือนักเรียนในสังกัดของพวกเราทุกคน ถึงแม้ว่า สพฐ. จะมีทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ที่จัดสรรให้เด็กพร้อม กสศ. อยู่แล้วก็ตาม แต่เพื่อประโยชน์ของเด็กยากจนพิเศษทาง สพฐ. ยินดีให้ความร่วมมือ ทั้งหมดจะเข้าไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำไม่ให้ขยายเพิ่มขึ้นอีก การสำรวจข้อมูลของ สพฐ. และ กสศ. ถือเป็นการเตรียมความช่วยเหลือที่ตรงจุดอย่างแท้จริง และความร่วมมือที่เกิดขึ้นทำให้มั่นใจว่าการขับเคลื่อนช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายสามารถทำได้ทันทีไม่ต้องรอให้เปิดเทอม”

นายไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ได้ทำการสำรวจผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดโรคโควิด-19 ในกลุ่มเป้าหมายผู้ปกครองนักเรียนยากจนพิเศษ หรือนักเรียนทุนเสมอภาค ผ่านทางโทรศัพท์ (Telephone survey) จำนวน 1,100 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า ร้อยละ 80 มีความกังวลต่อผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในระดับมากถึงมากที่สุด

ส่วนประเด็นที่เป็นผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ
1.ไม่มีอาหารรับประทาน
2.ถูกพักงานหรือถูกเลิกจ้าง
3.ไม่มีของใช้จำเป็นในครอบครัว
4.การศึกษาเล่าเรียนของคนในครอบครัว และ
5.ปัญหาสุขภาพ หากเจาะลึกไปในเรื่องการเรียนของบุตรหลานในครอบครัวพบว่า

สิ่งที่เป็นผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ
1.เพิ่มรายจ่ายด้านอาหารที่บ้าน
2.ไม่ได้ไปเรียนหนังสือ
3.ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเพียงพอ
4.ไม่ได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ และ
5.แผนการเรียนที่ยุ่งยากขึ้น

“จากการสำรวจเบื้องต้นจะพบว่า การไม่มีอาหารรับประทาน คือปัญหาเร่งด่วนของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทบต่อการจ้างงาน และรายได้ที่น้อยอยู่แล้วของคนกลุ่มนี้ ต้องมีแนวโน้มลดลงอีกหรือไม่มีรายได้เลย เงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อการศึกษาที่ต่อเนื่อง และมีคุณภาพของนักเรียนกลุ่มนี้ คือเรื่องปัจจัยสี่ โดยเฉพาะอาหารที่จำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กและผู้ปกครองได้รับผลกระทบมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กเยาวชนกลุ่มนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในที่สุด เบื้องต้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษ และป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาในปีการศึกษานี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้อนุมัติวงเงินช่วยเหลือฉุกเฉินเพิ่มเติมจำนวน 300 ล้านบาท เพื่อสมทบทุนเสมอภาคที่นักเรียนยากจนพิเศษจะได้รับในเทอม 1/2563 ให้กับกลุ่มเป้าหมายในครอบครัวที่มีความเดือดร้อนจำเป็นเร่งด่วน จากการระบาดของโรคโควิด-19 ” นายไกรยส กล่าว

นอกจากนี้ กสศ. ได้จัดประชุมระดมสมองร่วมกับองค์การยูเนสโก และองค์การยูนิเซฟ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากนานาชาติในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อระบบการศึกษาและเด็กเยาวชนในครอบครัวที่มีรายได้น้อยและด้อยโอกาสที่จะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาในประเทศไทยเมื่อเปิดเทอม ซึ่งข้อสรุปที่ได้จากการประชุมระดมสมองดังกล่าวพบว่า เด็กเยาวชนและครอบครัวที่มีรายได้น้อยล้วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แล้วตั้งแต่วันนี้ และระยะเวลาอีกเกือบ 3 เดือนที่จะเปิดเทอมถือเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอย่างมาก หากได้รับการช่วยเหลือที่ตรงจุดและทันเวลา นักเรียนยากจนพิเศษเหล่านี้จะมีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ครบทุกคน หน่วยงานที่จะมีบทบาทอย่างมากคือสถานศึกษาและคณะกรรมการสถานศึกษาซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 3 ภาคส่วน โดยเฉพาะประธานกรรมการสถานศึกษาที่ส่วนใหญ่มักเป็นผู้นำชุมชนท้องถิ่น สามารถเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ท้องถิ่น และภาคเอกชน เพื่อให้ความช่วยเหลือนักเรียนในครอบครัวยากจนพิเศษที่ได้รับผลกระทบในระดับรุนแรง โดยเฉพาะด้านโภชนาการ การขาดแคลนอาหาร นม และน้ำสะอาด ซึ่งในปีการศึกษา 2562 ที่ผ่านมา ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือiSEE รายงานว่า ประเทศไทยมีนักเรียนยากจนพิเศษที่มีภาวะทุพโภชนาการมากกว่า 20,000 คน

นายไกรยส กล่าวอีกว่า ถึงเวลาเปิดเทอมแล้วครูและบุคลากรทางการศึกษาล้วนปฏิบัติหน้าที่จัดการศึกษาในแนวหน้า (Frontline) ให้แก่เด็กเยาวชนทุกคนอย่างเสมอภาคด้วยความเสียสละไม่ ต่างจากแพทย์ พยาบาล และบุคลากรในระบบสาธารณะสุข กสศ. จึงยกย่องและให้ความสำคัญในประสบการณ์ตรง และคำแนะนำจากครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน เพื่อให้การบริหารจัดการงบประมาณในสถานการณ์ฉุกเฉินนี้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็กเยาวชนในครัวเรือนที่ยากจนที่สุดในประเทศมากกว่า 200,000 คนนี้ รวมทั้งช่วยให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวได้รับความช่วยเหลืออย่างแม่นยำและตรงสภาพปัญหามากที่สุด ดังนั้น กสศ. จึงขอเชิญชวนให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นำชุมชน ผู้ปกครองและนักเรียน ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา และป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนทุนเสมอภาค สามารถเข้ามาให้ข้อมูลผ่านการตอบแบบสอบถามในช่องทางออนไลน์ที่ www.eef.or.th ด้วย