อุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินไทยส่อเจ๊ง จากผลกระทบโควิด-19

อุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินไทยส่อเจ๊ง จากผลกระทบโควิด-19

นายกสมาคมเครื่องประดับเงินไทย ร้องรัฐช่วย หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19  ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐไม่ได้  ทำสูญเงิน กว่า 2 พันล้านบาท ส่อปิดกิจการ 50 %

นายกิตติศักดิ์ อุดมแดงอร่าม นายกสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องจากสินค้าที่ผลิตแล้วไม่สามารถส่งออกได้ โดย โดยเฉพาะสหรัฐที่เป็นตลาดส่งออกเครื่องประดับเงินไทย ได้ขอให้ชะลอการส่งออกไปก่อน ทำให้ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับอยู่ในสภาวะขาดสภาพคล่อง ธุรกิจเริ่มย่ำแย่ เพราะสินค้าที่ผลิตตามออเดอร์เสร็จแล้วก็ส่งออกไม่ได้

นอกจากนี้ยอดสั่งผลิตสินค้า หรือออเดอร์ ที่สั่งก็มีการยกเลิก หรือชะลอการผลิตออกไปก่อน  รวมทั้งยอดสั่งสินค้าในปัจจุบันก็ไม่มี จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย แต่ปัญหาที่หนักสุดของผู้ประกอบการคือ ออเดอร์ที่ผลิตไปแล้วแต่ส่งออกไม่ได้ทำให้ขาดเงิน เพราะทุกวันนี้โรงานต้องมีค่าบริหารจัดการ ทั้งค่าแรง เงินเดือนพนักงาน ทำให้ไม่มีรายรับเข้ามา ซึ่งเราใช้แรงงานหลายแสนคน

“เครื่องประดับเงินไทย ส่งออกไปตลาดสหรัฐเป็นอันดับหนึ่งของโลก ปี 2562 มูลค่าการส่งออกไปสหรัฐ  1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี  ช่วง 3 เดือนแรกที่เราส่งออกไม่ได้ทำให้เราสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท  โดยขณะนี้ทุกโรงงานชะลอการส่งออกทั้งหมด"

           

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า  จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้สมาชิกของสมาคมกว่า 200 ราย หรือ70% ของผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าเครื่องประดับของไทย ได้รับผลกระทบอย่างหนักเนื่องจากไม่มีคำสั่งซื้อก็ไม่มีรายได้เข้ามาเพื่อจ่ายเงินเดือนค่าจ้างให้กับพนักงานในขณะที่มาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐไม่ทั่วถึงและเพียงพอกับความเดือดร้อนที่สมาชิกของสมาคมได้รับซึ่งที่ผ่านมาสมาคมได้ทำหนังสือเพื่อร้องขอความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานเช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ( องค์การมหาชน) หรือจีไอที ซึ่งทางสถาบันก็ได้หารือกับสถาบันการเงินต่างๆเพื่อให้ความช่วยเหลือกับสมาชิกของสมาคมแต่สถาบันการเงินได้ระบุว่าธุรกิจของสมาคมมีความเสี่ยงสูงโอกาสการชำระคืนเงินกู้ต่ำจึงไม่มีการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการในสมาคมโดยให้เหตุผลว่าธุรกิจของสมาคมเป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกซึ่งขณะนี้ติดปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก จึงทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องซึ่งจะส่งผลกระทบจนทำให้ต้องปิดโรงงานในเร็วๆ นี้ ทำให้พนักงาน3-4 แสนคนต้องตกงาน

    158686167563       

ดังนั้นสมาคมจึงขอให้ภาครัฐ ทบทวนมาตรการให้ความช่วยเหลือกับภาคเอกชนให้ทั่วถึง ข้อ 1. ในเรื่องของเงินประกันสังคมและที่ภาครัฐจะเยียวยาให้เฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ในข่ายถูกสั่งให้ปิดสถานประกอบการแต่โรงงานเครื่องประดับเงินไม่อยู่ในข่ายที่ภาครัฐสั่งให้ปิดจึงทำให้ผู้ประกอบการไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ ทั้งที่ในความเป็นจริงแม้ว่าภาครัฐไม่สั่งให้ปิดโรงงานเครื่องประดับเงินแต่เนื่องจากไม่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาก็ทำให้ไม่มีรายได้เข้ามาโรงงานก็ต้องปิดโดยปริยาย จึงขอให้ภาครัฐทบทวนเพื่อให้ผู้ประกอบการโรงงานเครื่องประดับเงินได้รับความช่วยเหลือในส่วนนี้ด้วย

2.มาตรการออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์ โลน) ในความเป็นจริงทางสถาบันการเงินกลับมองว่าผู้ประกอบการเครื่องประดับเงินมีศักยภาพการชำระหนี้คืนต่ำทำให้ไม่ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการจนเป็นสาเหตุทำให้ขาดสภาพคล่องจนถึงขั้นต้องปิดโรงงานในเร็วๆนี้จึงอยากให้ภาครัฐทบทวนและมองเห็นความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเหล่านี้ด้วยเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไป

 3.ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาเยียวยาและชดเชยรายได้ ที่หายไปบางส่วนเหมือนในต่างประเทศให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น. มีการให้เงินชดเชยรายได้ลูกจ้างพนักงานที่ถูกลดเงินเดือนบางส่วน อย่างทั่วถึงซึ่งจะทำให้ทั้งโรงงานและลูกจ้างดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น เงินเดือน  1 หมื่น พนักงานช่วยด้วยการลดเงินเดือน 15 %  เหลือ 7,500 บาท รัฐบาลก็ช่วยออกให้50% ผู้ประกอบการ 50 %  เป็นเวลา 6 เดือน หรือ 9 เดือนเพื่อพยุงการจ้างงาน