โควิดสร้างนิวนอร์มอลเศรษฐกิจ 'ทีดีอาร์ไอ' แนะเร่งปรับตัว

โควิดสร้างนิวนอร์มอลเศรษฐกิจ 'ทีดีอาร์ไอ' แนะเร่งปรับตัว

ทีดีอาร์ไอ ชี้โควิดทำสังคม-เศรษฐกิจไทย เกิดนิวนอร์มอล ส่งผลธุรกิจบริการบางสาขาอาจต้องยกเลิกบริการ ขณะด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีมีอัตราเร่งการพัฒนาเพื่อใช้งานมากขึ้น แนะรัฐเฟ้นแผนช่วยเหลือตรงจุด ส่วนเอกชนต้องปรับตัวรับเปลี่ยนแปลง

นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยผ่านบทความเรื่อง“แลไปข้างหน้า: ชีวิต(ใหม่?)ของคนไทยหลัง 30 เมษา 63” ว่าคนไทยจำนวนมากมีความหวังที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตที่ปกติหรือเกือบปกติหลังวันที่ 30 เม.ย.2563 เนื่องจากแต่ละจังหวัดส่วนใหญ่กำหนดเวลาปิดเมืองไว้ถึงแค่ 30 เม.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม การที่คนไทยทั้งประเทศจะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติในช่วงหนึ่งปีครึ่งถึงสองปีข้างหน้า คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากประชาชนไทยและในโลกก็ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ภูมิคุ้มกันหมู่” (herd immunity) ทำให้แทบทุกประเทศจึงหันมาใช้วิธีหยุดการระบาดของเชื้อโดยการจำกัดการติดต่อของผู้คน ควบคู่ไปกับการตามหาผู้ติดเชื้อ

ส่วนการพัฒนาวัคซีนกว่าที่ประเทศไทยจะสามารถนำวัคซีนมาใช้กับคนไทยทั่วประเทศเร็วที่สุดก็คือน่าจะได้ในช่วงกลางหรือปลายปี2564 เป็นอย่างเร็ว คนไทยส่วนใหญ่ก็จะยังต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความระมัดระวังไม่ให้ตัวเองติดเชื้อไปอีกนานอย่างน้อยปีครึ่งหรือสองปี

“การกลับมาสู่จุดเดิมก็อาจไม่ใช่เรื่องง่าย โดยในบรรดาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น หลายอย่างจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม ที่บางอย่างอาจถูกนำมาใช้เร็วขึ้น และช่วยทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายของทั้งสังคมแต่กิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ขณะที่คนจำนวนมากไม่สามารถทำธุรกิจหรือให้บริการแบบเดิมอีกต่อไป”

ในช่วงระหว่างและหลังการระบาดของโควิด-19จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า“ภาวะปกติใหม่”หรือ“New normal”ในภาคธุรกิจและการดำเนินชีวิตได้แก่1.การเติบโตของเทคโนโลยีการสื่อสาร คอมพิวเตอร์ และดิจิทัลที่มีส่วนช่วยทำให้องค์กรและธุรกิจจำนวนมากสามารถใช้คนจำนวนมากให้ทำงานจากบ้าน (work from home) ได้ง่ายขึ้นคงจะได้ทั้งแรงผลักดันและแรงหนุนส่งให้พัฒนาเร็วขึ้นไปอีก เช่น การมีระบบการประชุม ธนาคารออนไลน์ และธนาคารมือถือ (mobile banking)ซีึ่งจะช่วยผลักดันให้เทคโนโลยี 5G ขยับไปได้เร็วขึ้นซึ่งรัฐควรจะเอื้อให้เกิดการพัฒนาในส่วนนี้ และกับกำกับดูแลให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้นในราคาที่ไม่แพง

2.เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งประเทศไทยเคยมีรายได้จากภาคบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยว ซึ่งในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า รายได้ส่วนนี้จะหายไปมาก ทั้งจากปัญหาโรคระบาดและเศรษฐกิจในประเทศต้นทาง รวมทั้งประเทศจีนที่เคยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก และแม้กระทั่งคนไทยเองก็คงเดินทางและท่องเที่ยวน้อยลง หลายกิจการที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวก็ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายกิจการโดยเฉพาะที่เป็นกีฬา สถานบันเทิง รวมทั้งโรงภาพยนต์ ก็อาจต้องปิดกิจการไปในช่วงนี้

 กิจการที่จะกลับมาเปิดได้คงต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างลูกค้าให้มากขึ้นธุรกิจและการให้บริการที่จำเป็นต้องเว้นระยะห่างให้มากขึ้นนั้นการเพิ่มระยะห่างมักหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน ขนส่งสาธารณะ รถตู้ ร้านอาหาร แท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์ ต่างก็มีความท้าทายว่าจะจัดบริการอย่างไร

“ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการที่ต้องจัดระยะห่างที่มากขึ้น หรือความต้องการที่ลดลง เช่น แท็กซี่ อาจทำให้บางธุรกิจต้องหยุด ลดขนาด หรือกระทั่งปิดตัวลง และถึงแม้ว่าจะเป็นสถานการณ์ชั่วคราว ก็อาจส่งผลแรงขนาดที่ทำให้บางธุรกิจไม่สามารถกลับมาได้อีก”

ในส่วนนี้รัฐอาจควรพิจารณาด้วยว่ามีกิจการอะไรที่สำคัญที่รัฐควรอุดหนุนการขาดทุนชั่วคราวที่เกิดขึ้นด้วย แต่สำหรับกิจการจำนวนมากที่เมื่อผ่านช่วงนี้ไปแล้วความต้องการน่าจะลดลงไปด้วยนั้น รัฐควรสนใจช่วยเหลือตัวผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าจะพยายามรักษาให้ธุรกิจทั้งหมดอยู่ได้เหมือนเดิม