นักเศรษฐศาสตร์เตือนเศรษฐกิจถดถอย ทำคนเสียชีวิตมากกว่าโควิด-19

นักเศรษฐศาสตร์เตือนเศรษฐกิจถดถอย ทำคนเสียชีวิตมากกว่าโควิด-19

ผลศึกษาล่าสุด ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจขาลงส่งผลกระทบโดยตรงต่ออายุขัยโดยเฉลี่ยของคนเรา และอาจจะกำจัดบทบาทของคนเราในระบบเศรษฐกิจโลก จนท้ายที่สุดภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกอาจจะเป็นสาเหตุให้คนทั่วโลกเสียชีวิตมากกว่าไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ด้วยซ้ำ

รายงานวิจัยล่าสุด ของ "ฟิลิป โธมัส" ศาสตราจารย์ด้านบริหารความเสี่ยงจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกเพราะผลพวงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นอาจจะทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าโรคโควิด-19 ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อกิจกรรมทางธุรกิจหยุดเคลื่อนไหว ผลผลิตทางเศรษฐกิจก็ลดลง แรงงานก็ไม่มีงานทำ หรือมีงานทำแต่อาจจะถูกลดเงินเดือน ท้ายที่สุดเมื่อสถานการณ์เลวร้ายลงอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการฆ่าตัวตายเพราะเครียด และการเสียชีวิตจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอยจะมีจำนวนมากกว่าการถูกฆ่าจากไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่

มหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอพกินส์ รายงานว่า นับจนถึงวันอาทิตย์ (12เม.ย.)ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 1,851,011 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ 114,098 ราย ส่วนผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว มีจำนวน 422,566 ราย นักเศรษฐศาสตร์บางคน กลับคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีกมากถ้ามาตรการต่างๆของทุกประเทศไม่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แม้ว่าผู้กำหนดนโยบายทุกประเทศจะระงับกิจกรรมทางธุรกิจและเศรษฐกิจ จนส่งผลให้มีแรงงานตกงานจำนวนหลายล้านคน

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ และอัตราว่างงานล่าสุดพุ่งสูงอย่างน่าตกใจ โดยข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (9 เม.ย.) แสดงให้เห็นว่า ประชาชนประมาณ 17 ล้านคน กลายเป็นคนว่างงาน ตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

158686580161

กระทรวงแรงงานสหรัฐ เผยแพร่รายงานประจำสัปดาห์ล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่า ประชาชนยื่นขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลจากการว่างงาน เพิ่มอีก 6.6 ล้านคน ตลอดสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นจำนวนยื่นขอเพิ่มจาก 6.9 ล้านคนในสัปดาห์ก่อนหน้า และอีก 3.3 ล้านคน ในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 มี.ค. ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจสำหรับสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากอัตราว่างงานในประเทศ ลดลงสู่ระดับเกือบต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ก่อนจะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ จำนวนคนว่างงานระลอกล่าสุด 17 ล้านคน เท่ากับประมาณ 1 ใน 10 ของแรงงานทั้งหมดของประเทศ

 

ตัวเลขว่างงานล่าสุดของสหรัฐบ่งชี้ว่า ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 กำลังจะทำให้ชาวอเมริกันตกงานมากกว่าช่วงเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี2541

 

“ฟิลิป โธมัส” ศาสตราจารย์ด้านบริหารความเสี่ยงจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ให้ความเห็นว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคธุรกิจอย่างรุนแรงเป็นเวลาอย่างน้อย1ปี และทำให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักรร่วงลง 6.4% ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ จะมีชาวอังกฤษไม่กี่คนที่มีงานทำ ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ในประเทศอาจจะได้รับเงินเดือนน้อยลง ซึ่งภาวะขาลงทางธุรกิจและเศรษฐกิจแบบนี้จะทำให้มีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆมากกว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“สหราชอาณาจักรเคยมีประสบการณ์คล้ายๆ กันนี้ คือผลผลิตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรลดลง 6% ในช่วงปี 2550 และ 2552 ในช่วงวิกฤติการเงิน และสิ่งนี้ก็ทำให้อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนเราลดลงไปอย่างน้อย 3 เดือน” โธมัส กล่าว

158686581238

ในรายงานฉบับนี้ โธมัส กล่าวด้วยว่า ประชากรในประเทศร่ำรวยมีแนวโน้มที่จะมีชีวิตยืนยาวกว่าประเทศที่มีฐานะยากจนเพราะมีกำลังทรัพย์และมีทรัพยากรมากกว่าที่จะนำมาใช้กับการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของตัวเอง ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การเข้าถึงน้ำสะอาด ระบบการระบายน้ำที่ถูกสุขลักษณะ การจ่ายเงินเพื่อให้มีการทำงานที่มีความปลอดภัยเพียงพอ ไปจนถึงการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ชั้นดี

 

มีผลศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ บ่งชี้ว่า ในช่วงปี 2503 และปี 2553 อัตราการมีชีวิตยืนยาวในสหรัฐและสหราชอาณาจักรลดลงประมาณ 0.5% ในกลุ่มคนว่างงานที่เพิ่มขึ้นทุกๆ1%

 

ด้าน “คลีเมนส์ โนเอลเก” นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแบรนดีส ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจและการมีชีวิตยืนยาวในกลุ่มชาวอเมริกันผู้ใหญ่และสูงวัย มีความเห็นว่า

“ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย กิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านต่างๆจะกดตัว ปัญหามลภาวะลดลง ชั่วโมงทำงานลดลง ผู้คนมีเวลากับตัวเองมากขึ้น อัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนลดลง การเสียชีวิตจากโรคหัวใจก็ลดลง อีกทั้ง ผลศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ บ่งชี้ว่า ในช่วงปี 2503 และปี 2553 อัตราการมีชีวิตยืนยาวในสหรัฐและสหราชอาณาจักรลดลงประมาณ 0.5% ในกลุ่มคนว่างงานที่เพิ่มขึ้นทุกๆ1%"

แต่ "โรเบิร์ต ชิลเลอร์" นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล และศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐ เตือนว่า ทั่วโลกไม่ควรกลัวการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากจนเกินไป เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้ว เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะตกต่ำอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ มองว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในช่วงทศวรรษที่ 1930 เพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่สมัยนั้นกินเวลาถึง 10 ปี แต่เชื่อว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้จะสิ้นสุดลงภายในเวลา 1-2 ปีเท่านั้น