สศช.ตั้ง 5 คณะทำงาน เล็งผ่อนเกณฑ์ซอฟต์โลน 5 แสนล้าน

สศช.ตั้ง 5 คณะทำงาน เล็งผ่อนเกณฑ์ซอฟต์โลน 5 แสนล้าน

สศช.ถกคณะที่ปรึกษาธุรกิจภาคเอกชน นัดแรก ตั้งคณะทำงาน 5 ชุด ระดมแก้เศรษฐกิจ เล็งปลดล็อกบางธุรกิจเปิดบริการ หวั่นตกงาน 10 ล้านคน ชงรัฐอุ้มค่าจ้าง 50% “สมาคมธนาคาร” หารือผ่อนเกณฑ์ซอฟต์โลน 5 แสนล้าน

คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประชุมนัดแรกวานนี้ (13 เม.ย.) เพื่อกำหนดแนวทางจัดทำข้อเสนอการลดผลกระทบจากโควิด-19 ให้รัฐบาล โดยประธานสภาธุรกิจ 8 แห่ง ร่วมประชุมกับหน่วยงานรัฐ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงาน 5 กลุ่ม เพื่อสรุปมาตรการเศรษฐกิจเสนอให้รัฐบาล คือ 

1.กลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) มีนายปรีดี ดาวฉายประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เป็นประธานกลุ่ม

2.กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ เพื่อให้บางธุรกิจเปิดดำเนินการได้ก่อนหากสถานการณ์คลี่คลาย รวมถึงดูความต่อเนื่องของระบบขนส่งและธุรกิจ โดยมีนายกลินทร์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานกลุ่ม

3.กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี มีนายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธาน สอท.เป็นประธานกลุ่ม 

4.กลุ่มมาตรการเพื่อภาคเกษตร มีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นประธานกลุ่ม 

5.กลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล (Digital Solution) มีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เป็นประธานกลุ่ม

"ทั้ง 5 กลุ่ม จะทำรายละเอียดเสนอ สศช.ภายใน 1 สัปดาห์ จากนั้นจะเสนอรัฐบาลเร็วที่สุด โดยการแก้ปัญหาโควิด-19 ได้หารือกันว่าเป็นภาวะไม่ปกติ การแก้ปัญหาต้องใช้วิธีที่ไม่ปกติด้วยเพื่อแก้ได้เร็ว โดย สศช.จะสรุปความต้องการทุกภาคส่วน รวมถึงเปิดรับความคิดเห็นผ่าน Facebook “ร่วมด้วยช่วยคิด” เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีด้วย”

หารือเกณฑ์ซอฟต์โลน5แสนล้าน

นายปรีดี กล่าวว่า ที่ผ่านมามาตรการด้านสินเชื่อที่รัฐบาลร่วมกับสถาบันการเงินร่วมกันออกมาเป็นระยะโดยในส่วนแรก คืิอ สินเชื่อซอฟโลนท์จากธนาคารออมสินวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งม่ีความต้องการสินเชื่อจำนวนมาก และได้มีการจำกัดวงเงินรายละ 20 ล้านบาท

ส่วน พ.ร.ก.ให้ ธปท.ปล่อยซอฟต์โลนอีก 5 แสนล้านบาท เริ่มวางเกณฑ์การให้สินเชื่อกับเอกชน เช่น วงเงินไม่เกิน 20% ของวงเงินคงค้างจากปีก่อน แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยเงื่อนไขที่วางไว้ต้องหารือการผ่อนปรนให้เอสเอ็มอีมากขึ้น ซึ่งต้องหารือกับธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อ เพราะแต่ละธนาคารมีข้อกำหนดและพิจารณาความสามารถการชำระหนี้ในอนาคต 

ส่วนประเด็นการให้สินเชื่อวงเงินใหม่ตาม พ.ร.ก.ซึ่งมีการให้ข้อมูลว่าภาครัฐจะกำหนดการประกันความผิดชอบความเสียหายสัดส่วน 60-70% เพื่อให้ปล่อยสินเชื่อได้เร็วขึ้น โดยต้องดูรายละเอียดก่อนและดูสูตรการคำนวนด้วยก่อนจะมีเงื่อนไขออกมา

“ศุภชัย”มั่นใจ ศก.ไทยเข้มแข็ง

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเตรียมรับผลกระทบต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มทักษะแรงงานและประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 4 เรื่อง คือ 1.ฝึกทักษะทำงานผ่านระบบดิจิทัล 2.ความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนมีคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เพื่องานออนไลน์ 

3.การเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตและทำงานได้รวดเร็ว โดยใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้าเพื่อกำหนดแนวทางและวางแผนการพัฒนาธุรกิจในอนาคต 4.ปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจดิจิทัล เพิ่มมาตรฐานการปลอดภัยของข้อมูล กฎหมายการควบคุมและการรักษาความปลอดภัยให้สอดคล้องดิจิทัลทั้งหมด

“ประเทศไทยขณะนี้มีความเข้มแข็งในเชิงพื้นฐานเศรษฐกิจ โดยเรามีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 2.2 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นกว่า 50% ของขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ขณะที่ระดับหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 40% ของจีดีพีเท่านั้น ปัญหาโควิด-19 นั้นเป็นปัญหาชั่วคราว ขณะที่ปัญหาในขณะนี้ยังสามารถที่จะรับมือได้ไม่อยากให้แพนิกกันจนมากเกินไป”

ส.อ.ท.ชงรัฐช่วยค่าจ้าง50%

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ได้เสนอมาตรการที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติออกมาแล้ว โดยเสนอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มการค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี จากเดิมที่ 40% เพิ่มไปที่ 80% เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และลดเงินสมทบประกันสังคมฝ่ายนายจ้างจาก 5% เหลือ 1% และลดค่าไฟฟ้าลง 5%

นอกจากนี้ควรให้สำนักงานประกันสังคมช่วยกิจการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยช่วยจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง 50% คิดจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท หรือไม่เกิน 7,500 บาทต่อราย ส่วนนายจ้างจ่ายอีก 25% และนำรายจ่ายส่วนนี้ไปหักลดภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 3 เท่า ขณะที่ลูกจ้างจะลดเงินเดือนลง 25% 

ทั้งนี้ จากการประเมินลูกจ้างในระบบประกันสังคมมี 18 ล้านคน คาดว่าจะมีลูกจ้าง 10 ล้านคน (รวมแรงงานที่ตกงานจากการประกาศปิดกิจการของรัฐบาล) เข้าข่ายได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรง และควรได้รับการช่วยเหลือจากรัฐจากมาตรการนี้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการรักษาแรงงานไม่ต้องตกงานได้ รวมทั้งการผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการที่จ้างลูกจ้างรายวันจ่ายเป็นรายชั่วโมงได้แต่ไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน จากเดิมที่ต้องจ่ายเต็ม 8 ชั่วโมงต่อวัน จะช่วยคงการจ้างงานไว้ได้

รวมทั้งขอให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีงดจ่ายภาษีนิติบุคคล 2 ปี เพราะในขณะนี้เอสเอ็มอีก็แทบจะไม่มีกำไรอยู่แล้วและบางส่วนก็ขาดทุน ตลอดจนการลดค่าธรรมเนียมจ่ายค่าจำนอง และโอนที่ดิน ให้เหลือ 0.01% ส่วนการเพิ่มรายได้ให้กับเอสเอ็มอี รัฐบาลควรจะปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้หน่วยราชการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศไทย