'เอดีบี' เพิ่มงบช่วยเหลือเป็น 2 หมื่นล้านดอลล์ หนุนชาติกำลังพัฒนาสู้โควิด

'เอดีบี' เพิ่มงบช่วยเหลือเป็น 2 หมื่นล้านดอลล์ หนุนชาติกำลังพัฒนาสู้โควิด

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) อัดวงเงินให้ความช่วยเหลือเพิ่มอีก 3 เท่า เป็น 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 6.5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาของเอดีบี ต่อสู้กับการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ได้ประกาศเพิ่มกรอบวงเงินให้ความช่วยเหลืออีก 3 เท่า เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 โดยมีมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 6.5 แสนล้านบาท) และยังได้อนุมัติมาตรการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้การดำเนินงานในการให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีความคล่องตัว

กรอบการให้ความช่วยเหลือของเอดีบีดังกล่าวเป็นการเพิ่มจากวงเงินเริ่มต้นเดิมมูลค่า 6,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเพิ่มวงเงินอีก 1.35 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกของเอดีบีรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสุขภาพอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาด COVID-19

สำหรับกรอบวงเงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์นี้ จะรวมถึงวงเงินช่วยเปล่าและการปล่อยกู้แบบผ่อนปรนมูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์

“การแพร่ระบาดในครั้งนี้ จะทำให้ผลที่ได้รับทางเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาต่างๆ ในเอเชียและแปซิฟิก และความก้าวหน้าในการบรรเทาปัญหาความยากจนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่ นอกจากนั้น ยังส่งให้เศรษฐกิจถดถอยอีกด้วย” นายมาซาสึกุ อะซาคาวา ประธานเอดีบีกล่าว “การขยายกรอบการให้ความช่วยเหลือคลอบคลุมทุกด้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากกรรมการบริหาร จะทำให้การส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังรัฐบาลและภาคเอกชนของประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และคล่องตัว เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสและรับมือกับเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างเร่งด่วน”

เอดีบีได้ประมินผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสมรณะต่อเศรษฐกิจโลกคิดเป็น 2.3-4.8% ของ GDP เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของภูมิภาคจะลดต่ำลงจาก 5.2% เมื่อปีที่แล้ว เป็น 2.2% ในปี 2563

กรอบความช่วยเหลือใหม่นี้ จะประกอบด้วย การจัดตั้ง COVID-19 Pandemic Response Option ภายใต้วงเงินสนับสนุนของเอดีบีในการรับมือกับความผันผวนของระบบเศรษฐกิจ (ADB’s Countercyclical Support Facility) โดยวงเงินราว 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ จะจัดสรรไปให้กับทางเลือกใหม่ดังกล่าว เพื่อช่วยรัฐบาลของประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาดำเนินแผนการใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 โดยเฉพาะกับกลุ่มคนยากจนและเปราะบางอย่างมีประสิทธิภาพ ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อจัดหาเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันส่วนตัวอย่างรวดเร็วจากการจัดซื้อจัดจ้างที่ขยายวงเงินออกไป   

ทั้งนี้ วงเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์จากกรอบวงเงินให้ความช่วยเหลือ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ จะจัดสรรไว้สำหรับภาคเอกชน เงินกู้และการค้ำประกันจะมีไว้ให้สำหรับสถาบันการเงินที่ต้องฟื้นฟูการค้าและห่วงโซ่อุปทาน การยกระดับการกู้เงินรายย่อยในระดับฐานราก การสนับสนุนการค้ำประกัน และวงเงินพยุงกระแสเงินสดของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง จะดำเนินควบคู่ไปกับการให้เงินกู้ตรงกับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

กรอบการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว รวมถึง การปรับนโยบายและกระบวนการทำงานภายในเพื่อให้

เอดีบีสามารถตอบสนองต่อวิกฤติการณ์ได้ทันท่วงที  การขยายขอบเขตการช่วยเหลือภายใต้กรอบวงเงิน และการทำให้ข้อตกลงในการกู้เงินเหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศสมาชิกนั้นๆ

เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้กรอบความช่วยเหลือนี้ เอดีบีจะทำงานใกล้ชิดกับองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ), ธนาคารโลก, องค์การอนามัยโลก (WHO), กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) และหน่วยงานยูเอ็นอื่นๆ รวมทั้งชุมชนในระดับโลกอีกด้วย