ซีอีโออสังหาฯพึ่ง ‘โซเชียลมีเดีย’ ฝ่าโควิด..!กระตุ้นยอดขาย

แม้ว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ล็อคดาวน์ แต่สถานการณ์ บรรยากาศเหมือนถูกล็อคดาวน์ไปโดยปริยาย ส่วนหนึ่งเข้าสู่โหมดการทำงานจากที่บ้านจึงเป็นเหตุผลที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เกือบทุกค่ายต่างออกมา“กระตุ้นยอดขาย”ผ่านทางออนไลน์เต็มรูปแบบ

เมื่อใครๆก็ทำอะไรที่จะสามารถดึงดูดความสนใจให้คนหันมาสนใจกับการนำเสนอ สินค้าหรือบริการนั้นๆได้ถ้า‘ไม่ใช่ ’ดารา นักร้อง เซเลบ อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังก็ต้องมีวิธีการนำเสนอแปลกแหวกแนวหรือตามกระแสในช่วงเวลานั้นๆออกมา ที่คนๆนั้นจะนำเสนอให้กับคนที่เข้ามาดูแต่ต้องยอมรับว่า ในแง่ของ‘ต้นทุน’ ทางสังคมสำหรับผู้บริหารที่รั้งตำแหน่ง ‘ซีอีโอ’ สามารถเรียกกระแสความสนใจ ดึงดูดให้คนเข้ามาดูได้ไม่ยาก มีดีกรีไม่แพ้ ดารา นักร้อง เซเลบ หรือ อินฟลูเอนเซอร์กันเลยทีเดียว

หนึ่งในนั้นก็คือ “ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซีอีโอคนรุ่นใหม่ของวงการอสังหาฯ ที่มีไอเดียความสามารถในการ“พลิกสถานการณ์” ให้ธุรกิจไปรอดได้เสมอ ล่าสุด ได้ไลฟ์สด CEO GOLIVE #โก้มาเอง Ideo Q Victory เพื่อนำเสนอโครงการคอนโดมิเนียม ในย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ !! โดยมี MR. SPACE MAN มาสร้างสีสันในการนำเสนอโครงการ

เช่นเดียวกับ “ธนากร ธนวริทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้ใช้แอพพลิเคชั่นวิดิโอสั้นยอดฮิตของ TikTok ในการนำเสนอโปรโมชั่นออกมา

ห้วงเวลานี้ ต้องยอมรับว่า โซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางสำคัญที่ ซีอีโอ จะใช้เป็น ‘เครื่องมือ’ เข้าถึงลูกค้าและพนักงานในองค์กร เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า รวมถึงผู้ถือหุ้น ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจขาลงเช่นนี้ ทำดีกว่าไม่ทำอะไร

ศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล มองว่า การใช้สื่อโซเชียลเหมาะกับสถานการณ์ เนื่องจากผู้บริโภคใช้เวลาในการอยู่บ้านมากขึ้นกว่าปกติ เพราะตัวเลือกในการใช้สื่อหลัก ‘ลดลง’ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาฯ ต้องเลือกใช้สื่อที่สามารถเข้าถึงคนอยู่บ้านได้มากขึ้นผ่านสื่อที่คนนิยมเล่นเป็นประจำ จึงไม่แปลกที่ซีอีโอ จะลงมาใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารกับลูกค้าด้วยตนเอง ถือเป็นการ “ปรับตัว” ให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภค ส่วนจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากน้อยแค่ไหนนั้น เป็นเรื่องยากในการประเมินต้องรอดูผลตอบรับหลังจากสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย

“สถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นแรงผลักให้ผู้ประกอบการต่างหันมาใช้ โซเชียลมีเดียเพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคซึ่งเป็นไฟท์บังคับที่ต้องทำ ส่วนการได้ผลมากน้อยแค่ไหนต้องรอดูผลการตอบรับอีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์พิเศษ ต่อให้ได้ผลมากหรือน้อย ยังยากที่จะวัดว่าเป็นผลจากสื่อหรือความต้องการของผู้บริโภค”

ศิวัตร ระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ ซีอีโอ หรือนักการตลาดจะมองว่าอะไรที่สามารถทำได้ต้องลงมือทำ แต่ไม่มีใครตอบได้ว่า ความต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหน วิธีที่ดีที่สุด ในเวลานี้ การลงมือทำเอง จะได้ผลมากได้ผลน้อยไม่ต้องคิดมากดีกว่าไม่ทำอะไร เพราะไม่มีอะไรต้องเสีย

“จากปกติรูปแบบการทำโฆษณาจะต้องมีขั้นตอนการคิด ประมวลผล โปรดักท์ชั่นมากมายแต่ตอนนี้เป็นสถานการณ์พิเศษ ทำแบบนั้นไม่ทันเวลา ไหนจะมีเรื่องค่าใช้จ่าย ต้องใช้เวลา และปัจจัยอื่นๆมากมาย แต่สิ่งที่ดีที่สุดในเวลานี้อะไรที่ทำเองได้ลงมือทำเลย ”

ศิวัตร กล่าวว่า การลงมือทำเองก็ไม่ใช่ว่า จะทำอะไรก็ได้ ต้องคิดนิดหนึ่งว่า จะทำอย่างไร ซึ่งเป็นรายละเอียดที่แต่ละแบรนด์จะต้องไปศึกษาหาวิธีการที่เหมาะสมในรูปแบบไหนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ คนหันมาเสพสื่อผ่านโซเซียลมีเดีย และท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความเปราะบางในอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน หลักการพื้นฐานคือไม่ควรลงประเด็นลบ และอารมณ์ความรู้สึกในการซื้อของผู้บริโภคไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับก่อนที่เกิดโควิด -19 ฉะนั้นต้องพยายามที่ดึงให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วม (Engagement) ดังนั้นใครที่มีความคิดสร้างสรรค์ (Creative)ดีจะได้เปรียบคู่แข่ง เพระต่อให้ขายสินค้าไม่ได้แต่คนสามารถจดจำแบรนด์ได้

“ช่วงเวลานี้ ซีอีโอ นักการตลาดส่วนใหญ่ต้องติดตามสถานการณ์ตลอดเวลาและต้องคิดตัดสินใจเร็ว จะมัวแต่รอไปรอมาคงไม่ได้ ถ้าหยุด (โฆษณา / ทำตลาด)ก็หยุดไปเลย ถ้าไม่หยุดก็เดินหน้าต่อไป เพราะสถานการณ์โควิดส่งผลกระทบไปทุกส่วน ไม่เฉพาะเรื่องโฆษณา แต่ยังมีผลต่อช่องทางการจัดจำหน่าย ฯลฯ อีกหลายมิติที่ผู้บริหารต้องคิดไปพร้อมๆกัน ”

ศิวัตร กล่าวว่า ถ้าจะรอเวลาให้ทุกอย่างคลี่คลายไม่รู้ว่าจะต้องรอไปถึงเมื่อไร เพราะสถานการณ์ยากต่อการคาดเดาสถานการณ์ ฉะนั้นต้องตัดสินใจบนสถานการณ์ ณ ปัจจุบันแต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนก็ต้องมาปรับกันใหม่ ‘ไม่มี’อะไรผิดระวังถูก สิ่งที่ต้องระมัด ขณะนี้คงหนี้ไม่พ้นเรื่องงบประมาณ และการที่ซีอีโอออกมาสื่อสารด้วยตนเองอาจจะช่วยในการสร้างความเชื่อมั่นขึ้น เพราะเวลานี้ผู้บริหารต้องลงมือทำ ‘ไม่มี’ สูตรสำเร็จตายตัว