มองหา 'โอกาส' ท่ามกลางวิกฤติไวรัส

มองหา 'โอกาส' ท่ามกลางวิกฤติไวรัส

ในวิกฤติคครั้งก่อนที่โลกต้องเผชิญนั้น เมื่อระยะเวลาผ่านไปสถานการณ์จะดีขึ้นเสมอ และด้านเศรษฐกิจก็เช่นกัน แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ผ่านพ้นไป และยังไม่รู้ว่าจุดสิ้นสุดจะจบลงเมื่อใด แต่ในวิกฤติก็ยังมีโอกาสเสมอ หากธุรกิจต่างๆ พยายามมองหาและปรับตัวให้ทัน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในสหรัฐ ที่จำนวนผู้ป่วยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก หรือกว่า 4 แสนคน ทำให้มีการจ้างงานที่แย่ลงเป็นอย่างมาก โดยยอดขอสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกสูงถึง 10 ล้านคน ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐ ต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ เพื่อเยียวยาประชาชนไม่ให้การบริโภคครัวเรือนได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างหรือเลิกธุรกิจ

ด้วยนโยบายการคลังที่ใช้เม็ดเงินกว่า 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นราว 11% ของ GDP สหรัฐ และในด้านนโยบายการเงินก็กลับมาทำ Quantitative Easing (QE) แบบไม่จำกัดอีกครั้ง พร้อมกดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ 0% นับตั้งแต่ที่ยุติไปในปี 2015 เพื่อลดผลกระทบด้านการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงในตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งเมื่อดูจากเม็ดเงินนั้น อาจช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งที่ท้าทายสำหรับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจรอบนี้อาจต้องย้อนกลับไปที่ต้นตอของปัญหา นั่นคือ แผนการระงับการแพร่ระบาดของไวรัส หากการ แพร่ระบาดยังไม่สามารถควบคุมได้ เช่น มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อาจทำให้มาตรการเพื่อควบคุมโรคระบาดยิ่งรุนแรงขึ้น และยิ่งทำให้เศรษฐกิจบอบช้ำไปเรื่อยๆ แต่ในอดีตมนุษย์ผ่านโรคระบาดรุนแรงมาหลายครั้ง 

เช่น ไข้หวัดสเปน หรือโรค SARS เป็นต้น ซึ่งเมื่อระยะเวลาผ่านไปสถานการณ์จะดีขึ้นเสมอ และด้านเศรษฐกิจก็เช่นกัน ไม่ว่าวิกฤติเศรษฐกิจจะผ่านไปกี่ครั้ง ตลาดหุ้นภาพรวมมักจะกลับมาสู่สภาวะปกติ หรือเติบโตสู่จุดที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติทุกครั้ง หากเราประเมินได้ว่า โรคระบาดจะสิ้นสุดเมื่อใด รวมไปถึง เศรษฐกิจจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหนกว่าจะฟื้นตัวได้ และควรจะปรับพอร์ตการลงทุนอย่างไรให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ในด้านระยะเวลาของโรคระบาด จะพบว่าประเทศจีนที่เป็นประเทศต้นกำเนิดการระบาด สามารถควบคุมให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวันถึงจุดสูงสุดได้ภายใน 3 สัปดาห์นับตั้งแต่ประกาศปิดเมือง (Lockdown) ก่อนจำนวนผู้ป่วยใหม่ค่อยๆ ลดลง หากนำไปเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการระบาดรุนแรงอย่างอิตาลี เมื่อประกาศ Lockdown ผ่านไป 2 สัปดาห์ จำนวนผู้ป่วยใหม่ชะลอลงต่อเนื่อง

เพราะฉะนั้นหากเอาผลลัพธ์ของจีนและอิตาลีมาเทียบเคียง สหรัฐที่ประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อวันที่ 13 มีนาคม เพื่อให้ผู้ว่าการในแต่ละรัฐฯ สามารถสั่ง Lockdown เพื่อควบคุมการระบาดได้ทันที เพราะฉะนั้นอาจเป็นไปได้ว่าจำนวนผู้ป่วยใหม่ต่อวันอาจถึงจุดสูงสุดประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือกลางเดือนเมษายน และหลังจากนั้นจำนวนผู้ป่วยใหม่จะค่อยๆ ลดลง

สำหรับตลาดหุ้น กรณีสหรัฐ เนื่องด้วยการระบาดรุนแรงกว่าจีน ทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่า GDP สหรัฐจะหดตัวประมาณ 2-3 ไตรมาส และอาจกลับมาเป็นบวกต่อได้ในไตรมาส 1 ของปีถัดไป เพราะฉะนั้นตลาดหุ้นสหรัฐอาจยังต้องเผชิญความเสี่ยง เรื่องเศรษฐกิจหดตัวไปอีกสักระยะ จึงควรเน้นลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่ทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจหดตัว

โดยกำไรยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง เช่น กลุ่มสุขภาพ (Healthcare) เพราะสถิติในช่วงวิกฤติใหญ่ 2 ครั้งล่าสุด คือ Dot-com Crisis และ Hamburger Crisis กำไรไม่เคยหดตัวเลย หรือกลุ่มที่ได้ประโยชน์ทางอ้อมจากมาตรการ Social Distancing เช่น กลุ่ม E-Commerce ยังมีความน่าสนใจ โดย Contentsquare ได้ทำบทวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสช่วงเดือนมกราคม เป็นต้น 

มาจนถึงปัจจุบันพบว่า จำนวนรับส่งข้อมูลออนไลน์ (Traffic) เพิ่มขึ้น 10.3% แต่ที่สำคัญคือ จำนวนธุรกรรมออนไลน์ (Online Transaction) เพิ่มขึ้นถึง 32.6% หรือแปลงเป็น Conversion Rate เพิ่มขึ้นราว 18.8% แสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด และแน่นอนว่าธุรกิจที่กำลังให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Amazon, Netflix, Chegg หรือ ธุรกิจอื่นที่สามารถขายสินค้าและบริการ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ย่อมอยู่รอดได้ ในภาวะวิกฤติแบบนี้

ด้วยสถานการณ์วิกฤติที่พวกเรากำลังเผชิญ ถึงแม้ว่าหลายธุรกิจได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่าง Social Distancing และยังต้องใช้เวลาในการควบคุมโรคระบาดไปอีกระยะ

แต่หากเรามองลึกลงไป เรายังมองหาโอกาสการลงทุนได้ในสภาวะแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่กำไรเติบโตต่อเนื่องในทุกๆ วิกฤติ อย่าง Healthcare หรือกลุ่มที่ได้ประโยชน์ ทางอ้อมจากมาตรการ Social Distancing เช่น กลุ่ม E-commerce อาจเป็นโอกาส ที่ได้กำไรจากการลงทุนยามที่หลายๆ ธุรกิจ ไม่สดใสก็เป็นได้

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการ วางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ prtisco@tisco. co.th I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ AFPTTM Wealth Manager