ทำอย่างไรดี เมื่อรายได้หดในช่วงโควิด-19

ทำอย่างไรดี เมื่อรายได้หดในช่วงโควิด-19

5 วิธีแก้ปัญหาการเงินช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอยู่ขณะนี้ ทำให้รัฐบาลต้อง สั่งปิดสถานที่เสี่ยงหลายแห่ง กระทบไปถึงรายได้ของผู้ประกอบการ แรงงาน ลูกจ้าง พ่อค้าแม่ค้าเป็นลูกโซ่ หลายรายมีรายได้ลดลง หรือบางรายต้องหยุดกิจการชั่วคราว

โควิด-19 หายนะที่หลายคนต้องเผชิญ กลัวติดโรคก็กลัว แต่การไม่มีรายได้ ไม่มีเงินใช้ น่ากลัวยิ่งกว่า ช่วงนี้หลังจากที่รัฐบาลสั่งปิดสถานประกอบการหลายๆ ประเภทแล้ว ทำให้หลายคนเริ่มไม่มีรายได้ บางคนต้องตกงาน บางคนโดนลดเงินเดือน พ่อค้า แม่ค้า ไม่มีที่ให้ขายของ ผู้คนไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอย หลายๆ กิจการต้องปิดตัวลง ผลกระทบมากมายหลายอย่างที่หนักหนาแสนสาหัสในช่วงนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้ท่านผู้อ่านทุกท่านผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ ค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละอย่างกันอย่างมีสตินะครับ

วันนี้ผมเลยรวบรวมวิธีแก้ปัญหาการเงินช่วงโควิด-19 มาให้ท่านผู้อ่านลองอ่านกัน เผื่อจะใช้ให้เป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

1.สำรวจรายได้ของตัวเอง

เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เราได้รับผลกระทบทางการเงินแน่นอน ก่อนอื่นตั้งสติก่อน แล้วเริ่มสำรวจว่าตอนนี้เรามีเงินใช้จ่ายเท่าไหร่ มีเงินเก็บเหลือเท่าไหร่ เดือนนี้จะได้รับค่าจ้างหรือไม่ รับเต็มเดือนหรือครึ่งเดือน หรือกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อรวบรวมข้อมูลทางการเงินของตัวเองเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มวางแผนการใช้เงินในแต่ละวัน ถ้ายังพอมีรายได้เข้ามา อย่าลืมออมเงินไว้ยามฉุกเฉิน เพราะเราคาดเดาไม่ถูกเลยว่าจะต้องอยู่กับสภาวะเช่นนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ 

2.ลำดับความสำคัญของค่าใช้จ่าย

แน่นอนว่า ทุกคนมีค่าใช้จ่ายประจำแต่ละเดือนกันอยู่แล้ว แต่รายได้ที่น้อยลง หรือบางคนเริ่มไม่มีรายได้เข้ามาแล้ว จะทำอย่างไรดีล่ะ ลองลิสต์รายการค่าใช้จ่ายออกมาก่อนครับ อะไรชะลอได้ หรือพอมีวิธีชะลอ ก็ลองทำดูก่อน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต ลองปรึกษาธนาคารที่ท่านใช้บริการอยู่ ว่ามีมาตรการอะไรช่วยผู้ประสบปัญหาบ้างหรือไม่ บางธนาคารมีมาตรการให้สามารถหยุดชำระ ทั้งต้น ทั้งดอกได้ เป็นระยะเวลา 3 เดือน, บัตรเครดิตเปลี่ยนการจ่ายขั้นต่ำ จาก 10% มาเป็น 5% ลองลิสต์ออกมาดูและไปคุยกับธนาคารได้ครับ

สำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ ที่ต้องมีแน่นอน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ที่ยังไงคนเราก็ต้องกิน ต้องใช้ ให้สำรองเงินส่วนนี้ไว้ก่อนครับ

และที่สำคัญเลย งดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปให้หมด คนที่รักการสังสรรค์ มีความสุขกับการออกไปหาอะไรทานนอกบ้าน หรือคนที่ชอบปั่นโปรช้อปปิ้งทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ช่วงนี้งดให้หมดเลยครับ เพราะเรายังไม่รู้ว่าสถานการณ์นี้จะดีขึ้นเมื่อไหร่ หน้าที่การงานจะมั่นคงอีกนานแค่ไหน ช่วงนี้ก็หางานอดิเรกทำที่บ้านไปก่อน อย่างอ่านหนังสือ ดูหนัง ดูซีรีส์ ทำอาหารทานที่บ้าน ก็ดูมีความสุขที่เรียบง่าย ปลอดภัย แถมไม่เปลืองด้วย

3.หารายได้ด้วยวิธีอื่น

บางท่านหากเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดนั้นๆ โดยสั่งปิด หรือเป็นขายสินค้า หรือบริการที่รัฐยังไม่ให้ออกมาค้าขายได้ตามปกติ ก็ต้องลองปรับตัว ศึกษาการขาย แบบออนไลน์ดูครับ อาจจะเริ่มต้นลำบากสักหน่อย แต่ถ้าเราปรับตัวได้ อย่างน้อยก็ยังพอมีรายได้เข้ามาอยู่บ้าง ดีไม่ดี อาจจะได้ยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่าการค้าขายแบบเดิมอีกนะครับ หรือบางท่านอาจจะมีความสามารถในการทำอาหารต่างๆ ก็ทำอาหารออกมาขายกัน ลองติดต่อพวก Delivery ศึกษาข้อมูลการขายผ่านช่องทางเหล่านั้นดู หรือช่างตัดผม ร้านทำผมต่างๆ ก็ลองออกบริการตัดผมตามบ้าน เลือกแค่บริเวณบ้านที่เรารู้สึกปลอดภัย ทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ผมมั่นใจว่าคนใช้บริการต้องมีแน่นอนครับ ยิ่งเหล่าคุณผู้ชายแล้วล่ะก็ ตอนนี้ผมคงยาวเฟื้อยกันแล้ว

4.ตุนอาหารแต่พอดี

ตอนนี้หลายคนหวั่นใจออกไปกักตุนอาหารกันเต็มคันรถ แต่อย่าลืมว่าการไปซื้อสินค้าเหล่านี้ต้องใช้เงิน และที่สำคัญช่วงเวลานี้ โรงงานอาหารและระบบการขนส่งยังดำเนินการได้ตามปกติ การที่กักตุนอาหารเกินจำเป็นอาจเป็นการใช้เงินโดยเปล่าประโยชน์และอาหารอาจเสียคุณภาพ ดังนั้นเราควรกักตุนอาหารเท่าที่จำเป็น และสั่งอาหารออนไลน์บ้าง เพื่อความปลอดภัย แถมบาง App ก็มีโปรโมชั่นพิเศษอีกด้วย

5.ติดตามข่าวสาร

รัฐบาลและธนาคารอาจจะออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนออกมาเรื่อยๆ เช่น ลดดอกเบี้ย พักชำระหนี้ เงินเยียวยา หรืออื่นๆ ที่อาจจะมีมาตรการใหม่ๆ ออกมา การติดตามข่าวสารแบบทันเวลา จะทำให้เราไม่เสียสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการเหล่านั้นครับ

ทั้งหมดนี้ อาจจะใช้ไม่ได้สำหรับทุกคน แต่ผมหวังว่าจะเป็นประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อย เชื่อว่าทุกท่านที่ได้รับผลกระทบจะผ่านช่วงนี้ไปด้วยกันนะครับ หมั่นดูแลตัวเอง ล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่จำเป็นต้องออกไปข้างนอก ดูแลคนที่เรารักให้ดีที่สุด เพื่อเมื่อโรคร้ายนี้หายไป เราจะกลับมาอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้า พร้อมตา และดูแลกันอย่างมีความสุขต่อไป

ขอเป็นกำลังใจให้ผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ ค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละอย่าง อย่างมีสติ