'แพทย์' ชี้เชื้อสายพันธุ์โควิด-19 ต่างกัน ความรุนแรงไม่ต่างกัน

'แพทย์' ชี้เชื้อสายพันธุ์โควิด-19 ต่างกัน ความรุนแรงไม่ต่างกัน

ผู้ป่วยลดแต่ประมาทไม่ได้สบส. เล็งเพิ่ม 8 หมื่นกรมธรรม์ คุ้มครองอสม. "ก.ควบคุมโรค" ชี้สถานการณ์ดีขึ้น เชื้อสายพันธุ์ต่างกัน ความรุนแรงไม่ต่างกัน

เมื่อวันที่ 12 เม.ย.63   นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการวิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 ว่า วันนี้ผู้ป่วยรายใหม่ 33 รายต่ำสุดใน 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่าการควบคุมดีในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถประมาทได้ เพราะโรคทางเดินหายใจติดต่อกันโดยง่าย หากผู้ป่วยไม่ป้องกันตัวเอง หรือ อยู่ใกล้คนป่วยโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย ในกลุ่มผุ้ป่วยรายใหม่ 33 คน ที่น่าสนใจ คือ เกือบครึ่ง คือ 15 ราย ได้รับเชื้อจากผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า

ดังนั้น คำแนะนำเพิ่มเติมคือ เมื่อไหร่ที่เรามีผู้ป่วยทางเดินหายใจในครอบครัวหรือที่ทำงานต้องรีบป้องกันทันที แม้ในระยะแรกอาจะจยังไม่วินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด-19 เพราะผู้ป่วยโควิด-19 ในระยะแรก ก็มีอาการคล้ายไข้หวัด ไอแห้ง น้ำมูก จาม อาการน้อย แต่เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคโควิด-19 หากมีไข้หวัดต้องรีบป้องกัน เว้นระยะห่างจากผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ

158668303792

“ผู้ที่อยู่ในในครอบครัวเดียวกันมีความเสี่ยงที่สุด ต้องรีบป้องกันตนเอง ช่วงนี้ใกล้วันสงกรานต์ หลายคนอาจเดินทางไปเยี่ยมญาติ แม้ปีนี้เราจะแนะนำให้งดจัดงานสงกรานต์ เพื่อความปลอดภัยไม่ให้ใกล้ชิดกับญาติผู้ใหญ่โดยไม่จำเป็น เว้นแต่อยู่ในบ้านเดียวกัน ขอให้สวมใส่หน้ากากอนามัย เพิ่มระยะห่าง เพราะผู้สูงอายุมีอัตราป่วยตายสูงสุด 38 ราย โดยส่วนใหญ่สูงอายุและมีโรคประจำตัว โดยกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 70 ปีขึ้นไป มีอัตราป่วยตาย 10% เราต้องช่วยกันปกป้องผู้สูงอายุให้ปลอดภัย ไม่ป่วย ไม่ต้องเข้า โรงพยาบาล และเสียชีวิต”

158668307070

แนะบุคลากรทางการแพทย์ระวังตนเอง

นายแพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่เรื่องของบุคลกรทางการแพทย์ที่ยังมีรายงานการป่วย เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ เป็นกลุ่มสำคัญ และการติดเชื้อเกิดขึ้นได้ทั้งในภารกิจดูแลผู้ป่วย และติดเชื้อในบริบทเหมือนกับประชาชนทั่วไป หรือมีประวัติในการเดินทางไปสถานที่ระบาด อย่างไรก็ตาม 60% เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน 20% เกี่ยวกับการติดเชื้อทั่วไป และ 20% ที่เหลือยังก้ำกึ่ง

ทั้งนี้ 2 ปัจจัยหลัง เป็นส่วนที่ บุคลากรทางการแพทย์ต้องตระหนักว่า การใช้ชีวิตประจำวันต้องป้องกัน ไม่รวมกลุ่ม รับประทานอาหารแยกสำรับ ใช้ช้อนส่วนตัว และพูดคุยโดยใช้หน้ากากอนามัย ขณะที่ในระหว่างการปฏิบัติงานให้เน้นมาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้ ปัญหาเรื่องอุปกรณ์ป้องกันเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางดี และต้องใช้ให้ถูกต้อง

158668307160

ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในส่วนอื่นๆ วันนี้ พบว่า คนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ป่วยเพิ่ม 2 ราย ในจ.นราธิวาส ส่วนชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ เนื่องจากห้ามการเดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติ ซึ่งได้ผลดี ดังนั้น ความพร้อมในการป้องกันควบคุมโรค อยู่ในระดับเป็นที่น่าพอใจ ทำให้การพบผู้ป่วยรายใหม่ลดน้อยลง ส่วนมาก เป็นการสัมผัสกับผู้ป่วยก่อนหน้า หากอยู่ในระดับนี้ ผู้ป่วยอาจจะค่อนข้างคงที่และลดน้อยลง ถือว่าพี่น้องประชาชนมีส่วนช่วยกัน ขอให้อย่าประมาท ยังคงต้องทำตามมาตรการที่ภาครัฐแนะนำเพื่อให้มีผู้ป่วยน้อยที่สุด

“ทั้งนี้ หากดูตัวเลขผู้ป่วย 2,551 ราย อยู่โรงพยาบาล 1,295 ราย หรือ 51% กลับบ้าน 1,218 ราย อัตราการหายและกลับบ้าน สูงเป็นอันดับต้นหากเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก ถ้าพูดถึงจำนวนเตียง เรามีเตียง มากกว่าผู้ป่วยเยอะประมาณ 1,900 ในกทม. และปริมณฑล หากรวมเตียงต่างจังหวัดน่าจะมีเป็นหมื่น อย่างน้อยสิ้นเดือนเมษายน ก็ไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่เราสนใจ คือ ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยหายป่วยได้มากขึ้น หากมีผู้ป่วยรายใหม่น้อยเหมือนตอนนี้ ก็อาจจะได้เห็นคนป่วยรักษาหายเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่คนที่อยู่ในโรงพยาบาล อาการน้อย แต่ต้องอยู่ให้ครบ 14 วัน เมื่อกลับไปถึงชุมชน สามารถต้อนรับเขาได้ปลอดภัย สบายใจ ขอให้เข้าใจว่าเขาปลอดภัยแล้ว ไม่ต้องไปแสดงท่าทีรังเกียจ เพราะเขาหายป่วยแล้ว หลายคนมีภูมิคุ้มกัน และอาจจะสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ในอนาคต” นายแพทย์โสภณ กล่าว

จากกรณีตรวจกลุ่มเป้าหมายเชิงรุก แบบเคาะประตูบ้าน ในจ.ภูเก็ต นายแพทย์โสภณ ระบุว่า สำหรับข้อมูลจากภูเก็ต ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ข้อที่น่าสนใจ คือ การตรวจหาผู้ป่วยรายใหม่เชิงรุกในชุมชน มุ่งในพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วยมาก่อน รวมถึงผุ้มีประวัติเกี่ยวข้องในการสัมผัส หรืออาชีพบริการ ซึ่งทำมาราว 2-3 รอบ เช่น การตรวจหากลุ่มเสี่ยง พบผู้ติดเชื้อ 9% แต่พอขยับผู้ที่มีอาการป่วย แต่ประวัติไม่ชัดเจนมาก อัตราการพบเชื้อเหลือ 3.9% ในกลุ่มเสี่ยงน้อย ประชาชนทั่วไป คัดกรองในวงกว้าง 2,000 กว่าคนพบ 1.1%

“จะเห็นว่า ทั้งหมดที่พื้นที่ดำเนินการ ที่ผ่านมา มีการตรวจไปแล้ว 3,000 กว่าราย ทำให้เข้าใจว่า สถานการณ์ระบาดจำกัดในบางจุด เช่น พื้นที่ที่เคยพบผู้ป่วยมาก่อน แต่พอในวงกว้างออกมาการติดเชื้อยังน้อยอยู่ แต่การตรวจแบบนี้ทำให้เราพบผู้ที่ติดเชื้อ และนำไปสู่การกักกัน ป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ประชาชนทั่วไป”

เชื้อสายพันธุ์ต่างกัน ความรุนแรงไม่ต่างกัน

สำหรับ กรณีที่พบว่ามีเชื้อ 3 สายพันธุ์นั้น นายแพทย์โสภณ อธิบายว่า มีการศึกษาของไทย โดยหลายสถาบันวิจัย เช่น คณะแพทย์ฯ รามาฯ พบว่าสายพันธุ์ที่พบในไทย มี สายพันธุ์ย่อย คล้ายกับในต่างประเทศ เพราะผู้ป่วยช่วงแรกนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะจีน ยุโรป และอเมริกา เท่าที่ทางคณะแพทย์ฯ รามาฯ พบว่า เรามีสายพันธุ์ ที่เป็น A2 B1 และ B1.4 คล้ายที่พบในต่างประเทศ เพราะนำเข้าหลายทิศทางซึ่งไม่แปลก แต่ไม่มีข้อมูลว่าระดับความรุนแรงต่างกัน ต้องป้องกัน รักษา ติดตามต่อ โดยใช้มาตรฐานเดียวกันหมด ไม่ว่าสายพันธุ์ใด ในการให้การดูแลดีที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยรอดชีวิต มากที่สุด