ทิ้งขยะถูกวิธี ลดแพร่เชื้อโควิด | Green Pulse

ทิ้งขยะถูกวิธี ลดแพร่เชื้อโควิด | Green Pulse

แม้จะมีการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้หน้ากากผ้าแทนหน้ากากอนามัย แต่ขยะติดเชื้อที่เกิดจากหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วยังคงมีอยู่ เป็นปริมาณมากโดยทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักและพยายามจัดการปัญหานี้ โดยการคัดแยกขยะเหล่านี้ออกจากขยะทั่วไป

ทั้งนี้ ทางกรุงเทพมหานครได้ทำการจัดตั้งถังขยะติดเชื้อสีแดงทั่วกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนทิ้งหน้ากากอนามัยหรือทิชชูที่ใช้แล้วแยกจากขยะทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถจัดเก็บเพื่อนำไปกำจัดได้ง่ายขึ้น

โดยล่าสุด ทางผู้ว่าอัศวิน ขวัญเมืองได้ออกมาโพสต์เฟสบุ๊คเพจของตน เพื่อย้ำให้ประชาชนแยกทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว โดยผู้ว่าฯ อัศวินกล่าวว่า อย่านำหน้ากากอนามัย รวมถึงกระดาษทิชชูที่ใช้แล้ว ไปทิ้งรวมกับขยะประเภทอื่น ทั้งนี้ ยังได้ขอให้ประชาชนคัดแยกใส่ถุงต่างหาก มัดปากถุงให้แน่น และทำสัญลักษณ์หรือเขียนไว้เพื่อที่เจ้าหน้าที่เก็บขยะจะได้คัดแยกเป็นขยะติดเชื้อ และแยกไปเผาทำลายที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยติดเชื้อหนองแขมและที่อ่อนนุช เพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19

หรือถ้าทำได้ ให้ช่วยรวบรวมขยะติดเชื้อเหล่านี้ ไปทิ้งที่ถังรองรับขยะสีแดง ซึ่งกทม.ได้จัดเตรียมไว้สำหรับขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ เพื่อรวบรวมและนำไปเผาทำลายต่อไป

ทางด้านกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)ก็ได้ออกมารณรงค์ให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานครเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ ทางกรมฯ ได้ประเมินการใช้หน้ากากอนามัย จากความสามารถในการผลิตว่าอาจมีการใช้หน้ากากอนามัยถึงวันละกว่าล้านชิ้นต่อวัน

นอกจากหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ทาง คพ. ยังสำรวจพบปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มสูงขึ้นจากยอดสั่งซื้ออาหารออนไลน์ที่สูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า คพ. ได้รับข้อมูลจากผู้เก็บขนขยะของกรุงเทพมหานคร พบแนวโน้มปริมาณขยะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะมีปริมาณขยะน้อยลงกว่าช่วงปกติ แต่กลับพบขยะพลาสติกมีสัดส่วนปริมาณเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเภทกล่องพลาสติกใส่อาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแบบดีลิเวอรี่ ช้อนส้อมพลาสติก แก้วพลาสติก และหลอดดูดที่ใช้กับเครื่องดื่ม

เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องทำงานอยู่บ้าน (Work from home) ส่งผลให้ต้องใช้บริการสั่งของออนไลน์และอาหารดีลิเวอรี่ที่เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว
ทั้งนี้ คพ. ได้เสนอแนวทางการลดปริมาณขยะและขยะพลาสติกช่วงการระบาด โดยหากอยู่ในช่วงเก็บตัวอยู่บ้านและต้องใช้บริการสั่งอาหารแบบดีลิเวอรี่ ให้แจ้งทางร้านหรือพนักงานส่งของที่ให้บริการขอไม่รับช้อนส้อมพลาสติกได้ ซึ่งจะช่วยลดขยะพลาสติกในส่วนนี้ลงได้จำนวนมาก

ขณะที่ร้านอาหารควรหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทดแทนวัสดุย่อยสลายยากด้วยเช่นกัน

และที่จะช่วยได้คือ การทำอาหารทานเองที่บ้าน แทนอาหารสำเร็จรูปที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง และการซื้อตุนในปริมาณที่พอเหมาะสำหรับการบริโภคเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดขยะอาหาร

158666834019