วิธีชนะความวิตกกังวล

วิธีชนะความวิตกกังวล

เปิดวิธีลดความวิตกกังวลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ที่หลายคนอาจติดตามข่าวสารจนอาจส่งผลให้เกิดความกลัวขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว

คงมีคนไทยจำนวนไม่มากนักที่ติดตามสถานการณ์ปัจจุบันแล้วไม่กลัวการติดเชื้อ โควิด-19 ลึกๆ เข้าไปแล้วหวาดหวั่นว่าหากติดเชื้อจะถูกตีตราบาป คนทั้งองค์กรและคนที่ติดต่อด้วยจะลำบาก ถูกกักตัว 14 วัน เสียทั้งหน้า เสียทั้งเวลาเสียสุขภาพกายและจิตเพราะไม่รู้ว่าจะออก “รูปเบา” หรือ “รูปหนัก” และเสียโอกาสสร้างรายได้อีกด้วย

ประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt (ค.ศ.1882-1945) กล่าวประโยคอมตะที่รู้จักกันทั่วคือ “Nothing to fear but fear itself "(ไม่มีอะไรจะต้องกลัว จะมีก็แต่ตัวความกลัวนั่นแหละ) ความกลัวคือปีศาจที่ต่อเนื่องมาจากความเครียดและวิตกกังวลจนเกิดผลเสียขึ้นหลายประการ

มีการทดลองของนักวิจัยชาวคานาดาเกี่ยวกับความกลัวที่น่าสนใจ เขาทดลองกับนกกระจอก โดยเอาตาข่ายคลุมต้นไม้ในป่าที่มันอาศัยอยู่ จนไม่มีศัตรูธรรมชาติ เช่น เหยี่ยว ตัวแร็คคูน นกฮูก ฯลฯ เข้ามารบกวนความปลอดภัยของมันได้เลย จากนั้นเขาก็นำลำโพงตัวเล็กๆ จำนวนมากไปแอบไว้ในส่วนหนึ่งของบริเวณนั้นโดยเปิดเสียงสัตว์ที่เป็นศัตรู และอีกส่วนหนึ่งของป่าเขาแอบซ่อนลำโพงและเปิดเสียงป่าธรรมดาที่ไม่มีเสียงสัตว์ที่จะมาขู่เข็ญได้

เขาพบว่านกกระจอกกลุ่มที่ฟังเสียงขู่เข็ญออกไข่น้อยกว่าอีกกลุ่มหนึ่งถึง 40% ไข่ที่วางก็มีขนาดเล็กกว่าและมีไม่กี่ใบที่ออกเป็นตัว ลูกหลายตัวก็;อดอาหารตายเพราะพ่อแม่ไม่กล้าออกไปหากิน ส่วนตัวรอดที่รอดก็อ่อนแอ การทดลองครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ต้องใช้การขู่เข็ญจริงก็สามารถสร้างระบบนิเวศวิทยาแห่งความกลัวได้ พูดอีกอย่างว่าแค่ความกลัวในใจก็เพียงพอแล้วที่จะมีผลต่อพฤติกรรม

มนุษย์ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากนกซึ่งเป็นสัตว์เหมือนกัน กระบวนวิวัฒนาการของมนุษย์พัฒนาเป็นล้านปีให้มนุษย์มีสัญชาตญาณตอบสนองต่อสิ่งอันตราย (danger sensor)ถ้าsensorตัวนี้ไม่อ่อนไหวตอบรับกับสัญญาณบอกเหตุอันตรายเลยมันก็รอดชีวิตไปได้ไม่นานคงถูกสัตว์อื่นกินหมดหรือไม่ก็ตกหน้าผาตาย แต่ถ้า sensor ตัวนี้ มีความไวต่อสัญญาณบอกเหตุอันตรายมากเกินไป มันก็จะกลัวไปเสียทุกอย่าง จนอาจยืนตัวแข็งเพราะความกลัวและก็สูญพันธุ์ไปเช่นกัน

ธรรมชาติจึงสร้างให้มนุษย์มีระดับความไวของsensorต่อสัญญาณบอกเหตุในระดับ พอดี” กล่าวคือ มีความระมัดระวังพอควรหากมีสัญญาณการเข้ามาใกล้ของศัตรู ดังนั้นการมีความวิตกกังวล(anxiety)มีความเป็นห่วงและมีความกลัวในระดับ “พอดี” จึงทำให้มนุษย์สืบต่อพันธุ์มาถึงทุกวันนี้ได้โดยไม่หวาดกลัวจนไม่กล้าออกหาอาหาร

​กระบวนวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตสร้างความรู้สึกดังกล่าวให้เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลกใบนี้ ดังนั้นการที่เราวิตกกังวลจนนอนไม่หลับและหวาดกลัวจึงเป็นเรื่องธรรมดาทางชีววิทยามิฉะนั้นพวกเราสูญพันธุ์ไปนานแล้ว การมีความวิตกกังวลอยู่เสมอได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเป็นกลยุทธ์ในการอยู่รอดที่ยอดเยี่ยม

​อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันสิ่งแวดล้อมของโลกเปลี่ยนแปลงไปหมดสิ้นแต่สัญชาตญาณของความวิตกกังวลและความกลัวยังคงตกค้างอยู่กับตัวเราอย่างมีสัดส่วนที่ไม่สอดคล้องกับอันตรายจริงในการอยู่รอด เราไม่ต้องกลัวสัตว์ป่าและภัยธรรมชาติที่อยู่รอบตัวอีกต่อไปอย่างเมื่อ 150,000 ปีก่อน(ตอนที่เราเริ่มมีหน้าตารูปร่างเหมือนมนุษย์ในปัจจุบัน) ส่วนที่ตกค้างอยู่กับตัวเราจึงทำให้เราวิตกกังวลและกลัวจนเกินเหตุ เราวิตกกังวลกับหลายเรื่องที่เราทำอะไรกับมันได้น้อยมาก เช่น เรื่องโลกร้อน ตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรในวันพรุ่งนี้ เมื่อตายไปแล้วชีวิตเราจะเป็นอย่างไร ฯลฯ

ในทางการแพทย์ ความผิดปกติเกี่ยวกับความวิตกกังวล (Anxiety Disorder) เป็นกลุ่มโรคที่พบอยู่ทั่วไปในประชาชนทุกกลุ่ม 2 โรคที่รู้จักกันมากก็คือ Panic Disorders กับโรคกังวลทั่วไป(Generalized Anxiety) คนป่วยอาจมีอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ใจสั่น เหงื่อแตก เป็นลม นอนไม่หลับ หรืออาการทางจิตใจ เช่น เครียด กลัว หงุดหงิด กังวล ไม่สบายใจ

ความวิตกกังวลที่เริ่มจากเรื่องเล็กๆ และรับมาเป็นนิสัยข้ามระยะเวลานานๆ สามารถบั่นทอนชีวิตให้สั้นลงได้ ความวิตกกังวลคือปฏิกริยาทางธรรมชาติของร่างกายเราที่มีต่อความเครียด มันเป็นความรู้สึกกลัว หรือหวาดวิตกกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เช่น การไปโรงเรียนวันแรก การไปสอบสัมภาษณ์ หรือการติดเชื้อโควิด ฯลฯการเข้าใจเรื่องการฝัง “ชิบ” ไว้โดยธรรมชาติเพื่อให้เราอยู่รอดอาจทำให้เราวิตกกังวลน้อยลงก็เป็นได้

Rolf Doblelli แนะนำไว้ในหนังสือThe Art of the Good Life (2017)ว่ามี วิธีที่จะช่วยลดความวิตกกังวล 1.เขียนวันละ10 นาที เป็นเวลา 2-3 อาทิตย์ เกี่ยวกับความวิตกกังวลทุกสิ่งที่มีอยู่ใานใจ เมื่อถึงวันปลายอาทิตย์ก็หยิบมาอ่านและก็จะรู้ว่ามันซ้ำไปซ้ำมา และให้จินตนาการว่าผลเสียเลวร้ายที่สุดจากสิ่งที่วิตกกังวลนั้นคืออะไร การกระทำเช่นนี้ก็จะทำฉุกคิดได้ว่าบางส่วนของความวิตกกังวลนั้นถูกขยายออกไปเกินจริง ที่จริงแล้วมันมิได้เลวร้ายขนาดนั้น

ผู้เขียนเคยทำมากกว่านี้แล้วรู้สึกว่าได้ผล กล่าวคือให้ขยำกระดาษที่บรรยายความวิตกกังวลเหล่านั้นและโยนลงถังขยะไป การกระทำเช่นนี้คล้ายกับว่าเราตัดความกังวลทั้งหมดออกไปแล้วในเชิงจิตวิทยา

2.ซื้อประกันหากเป็นไปได้ของสิ่งที่กังวลนั้น การประกันเช่นนี้เรามิได้ต้องการเงิน (ค่าสินไหม)หากต้องการทำให้ความวิตกกังวลเหล่านั้นหายไปได้ 3.ทำงานหนักตามหน้าที่ของตนเองดีกว่านั่งนอนวิตกกังวล การหมกมุ่นในงานจะทำให้เราเพลินไปกับการใช้เวลาจนมิได้นึกถึงสิ่งที่วิตกกังวลเหล่านั้น

การเอาชนะความวิตกกังวลด้วยวิธีการข้างต้นจะทำให้มีโอกาสที่จะมีชีวิตที่เรียกว่าcarefree life (ชีวิตไร้กังวล) หรือชีวิตที่ดี อีกทั้งมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่มีคุณภาพยาวนานขึ้น

ความวิตกกังวลคล้ายกับการนั่งเก้าอี้โยก มันทำให้เรามีอะไรทำแต่ไม่ได้ทำให้เราไปถึงไหนเลย