หุ้นไทยเสี่ยง‘พักฐาน’แรง โบรกแนะขายล็อกกำไรช่วงรีบาวด์

หุ้นไทยเสี่ยง‘พักฐาน’แรง โบรกแนะขายล็อกกำไรช่วงรีบาวด์

“โบรกเกอร์” ฟันธง “หุ้นไทย” ไตรมาส 2 เสี่ยงปรับฐานแรง จับตาแนวรับสำคัญ 1,000 จุด เหตุเป็นช่วงที่เศรษฐกิจอ่อนแอสุดในรอบปี ขณะแนวโน้มกำไร บจ. ยังส่อแววย่ำแย่ แนะขายล็อกกำไรบริเวณ 1,200-1,250 จุด

ดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาสสอง(1-10เม.ย.) ปรับขึ้นมาแล้วราว 7.5% ล่าสุดปิดตลาดที่ 1,214 จุด หลังจากที่ไตรมาสแรกดัชนีปรับลดลงค่อนข้างแรงกว่า 28.47% อย่างไรก็ตาม “นักวิเคราะห์” ส่วนใหญ่ประเมินว่า ยังมีโอกาสที่ดัชนีจะ “พักฐาน” แรงอีกรอบ เนื่องจากเศรษฐกิจช่วงไตรมาสนี้ “อ่อนแอ” มากสุด และผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน(บจ.) มีแนวโน้มไม่สู้ดีนัก

นายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสายงานวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง กล่าวว่า  ช่วงไตรมาส 2 ดัชนีมีโอกาสปรับฐานลงอีกรอบ เนื่องจากแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหนักสุดในช่วงไตรมาสดังกล่าว และคาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะฟื้นตัว แม้รัฐบาลจะออกมาตรการชุดใหญ่มาช่วยหนุนก็ตาม

สถานการณ์หลังจากนี้มีโอกาสสูงที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” เพราะเศรษฐกิจที่หยุดชะงักจะส่งผลให้ประชาชนเริ่มไม่กล้าใช้จ่ายหรือกลัวที่จะใช้เงินมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบลุกลามต่อไปยังทิศทางผลประกอบการของอุตสาหกรรมรายกลุ่มให้มีตัวเลขติดลบ ประกอบกับคาดว่าวงเงินมาตรการช่วยเหลือประชาชนของภาครัฐที่จะออกมาราว 1.9 ล้านล้านบาท ยังเป็นเพียงตัวเลขเพดานที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าเม็ดเงินที่ออกมาจริงจะใช้ได้เต็มจำนวนหรือไม่

“ในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.น่าจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจได้รับผลกระทบหนักแน่ๆ เพราะทั้งภาคการส่งออก,การบริโภคภายในประเทศ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับยังไม่รู้ว่าจุดต่ำสุดอยู่ตรงไหน ซึ่งจะส่งผลให้คนไม่กล้าใช้เงินและเกิดภาวะเงินฝืดได้”

นายวิกิจ กล่าวต่อว่า การเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยช่วงไตรมาส 2 มีโอกาสปรับลดลงมาทดสอบแนวรับที่บริเวณ 1,100 จุด เนื่องจากอาจมีแรงเทขายทำกำไรหลังการประกาศงบผลประกอบการในงวดไตรมาส 1 ปี 2563 ออกมา ส่วนเป้าหมายดัชนีปีนี้ได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1,370 จุด จากเป้าเดิมที่ระดับ 1,680 จุด และประเมินว่าอาจมีการปรับลดเป้าลงได้อีกตามสถานการณ์ของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่น่าจะอ่อนตัวลงต่อเนื่อง

ส่วนด้านกลยุทธ์การลงทุนนั้น แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ซึ่งกลุ่มแรก คือ นักลงทุนที่ยังติดหุ้นอยู่นั้น แนะนำให้ขายหุ้นออกมาเพื่อปรับพอร์ตลงทุนใหม่ ส่วนกลุ่มที่สองซึ่งเข้าซื้อช่วงที่ตลาดปรับฐานลงแรงในช่วงก่อนหน้านี้ แนะนำให้เริ่มทยอยขายเพื่อล็อกกำไรเอาไว้ในช่วงที่ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นบริเวณ 1,250 จุด และกลุ่มสุดท้ายคือนักลงทุนที่ชอบเก็งกำไรระยะสั้น แนะนำให้เข้าซื้อเก็งกำไรในหุ้นที่ยังไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า แม้ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ จะเคลื่อนไหวในลักษณะของการฟื้นตัว แต่ระหว่างทางอาจมีการปรับฐานหรือย่อตัวลงบ้าง เนื่องจากปัจจัยต่างๆยังมีความไม่แน่นอนสูงทั้ง ภาวะสงครามราคาน้ำมันและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่จะปรับตัวติดลบและส่งผลต่อทิศทางกำไรของบริษัทจดทะเบียนให้ปรับตัวแย่ลงตามไปด้วย

โดยปัจจุบันฝ่ายวิจัยได้มีการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไทยทั้งปีนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันนักวิเคราะห์หั่นประมาณการแล้วเกือบ 30% และปัจจุบันยังมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงเพิ่มได้อีก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ทิศทางปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเมินว่าดาวไซด์ของดัชนีหุ้นไทยรอบนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 1,000-1,100 จุด ขณะที่กรอบบนอยู่ที่ระดับ 1,300 จุด ซึ่งหากดัชนีฯปรับตัวขึ้นมาในระดับดังกล่าวแนะนำให้ระมัดระวังและอาจต้องขายเพื่อล็อกกำไรเอาไว้

“กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้แนะนำว่าหากดัชนีฯปรับตัวขึ้นมาเหนือระดับ 1,200 จุดให้เน้นขายเพื่อล็อกกำไรเอาไว้ก่อนและรอเข้าช่วงดัชนีฯปรับฐานลงอีกครั้ง”

นายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย กล่าวว่ามองว่า มีโอกาสที่ดัชนีหุ้นไทยจะกลับไปสู่สมมุติฐานตลาดหุ้นกับสถานการณ์โควิด19 แบบที่ 4 หรือระดับ 1,021 จุดได้ หากภาครัฐยังคุมสถานการณ์ไม่ได้หรือการแก้ไขจำนวนผู้ติดเชื้อของคนไทยยังไม่เป็นศูนย์ ซึ่งจะส่งผลให้อาจมีการเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจให้ย่ำแย่ออกไปอีก โดยคาดว่าในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.2563 มีโอกาสที่จะเห็นตลาดหุ้นไทยพักฐานลงอีกครั้ง จากตัวเลขเศรษฐกิจที่จะออกมาที่คาดว่าจะติดลบถึง 5% ซึ่งจะส่งผลให้มีแรงเทขายทำกำไรออกมาจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามปัจจุบันตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาอยู่ในสถานการณ์ระดับที่ 3 หรือบริเวณ 1,230 จุด ซึ่งมีโอกาสขึ้นไปได้ถึงระดับ 1,250 จุด ขณะที่หากดูจากการรีบาวด์ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 17% (ช่วงปลายเดือนมี.ค.-ปัจจุบัน) จึงมีโอกาสสูงที่เห็นกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาแรงกว่าตลาดจะถูกเทขายทำกำไร พร้อมแนะนำให้ลงทุนหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19น้อยและฐานะการเงินแข็งแกร่ง เช่น กลุ่มไอซีที,อาหาร และประกัน