แนะรัฐบาลใช้เงินกู้ 1 ล้านล้าน ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากที่สุด

แนะรัฐบาลใช้เงินกู้ 1 ล้านล้าน ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากที่สุด

นักวิชาการแนะรัฐบาลใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงสุด แนะวางเงื่อนไขอบรมเพิ่มทักษะสร้างทุนมนุษย์ให้ประเทศ ทีดีอาร์ไอแนะรัฐประเมินผลกระทบหลัง30เม.ย.คาดบางธุรกิจกลับมาเปิดได้ ชี้ควรประเมินผลกระทบใหม่ไม่ควรให้ทุกคน 5,000 บาทเท่ากัน

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ตำแหน่ง ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาทซึ่งเงินกู้จำนวนนี้เป็นเงินที่จะเข้ามาช่วยให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะในช่วงที่ประชาชนได้รับความลำบากจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างหยุดชะงัก
ทั้งนี้วงเงินที่กระทรวงการคลังจะดำเนินการกู้เงินจะต้องมีการคำนึงถึงการใช้เงินกู้จำนวนนี้ให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจสูงสุดโดยในส่วนแรกวงเงิน 6 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้นอกจากงบประมาณแผนงานด้านสาธารณสุขยังรวมถึงการเยียวยาประชาชนประมาณ 9 ล้านรายเดือนละ 5,000 บาทจากเดิม 3 เดือน เป็น 6 เดือน
การเพิ่มจำนวนระยะเวลาที่จะเยียวยาประชาชนกลุ่มนี้เพิ่มอีก 3 เดือน ควรจะมีการเพิ่มเงื่อนไขในการช่วยเหลือช่วง 3 เดือนหลัง (ก.ค.-ก.ย.) ให้ประชาชนที่เข้าโครงการมีการอบรม ให้ความรู้ในทักษะที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอาชีพ หรือเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพในอนาคตซึ่งเป็นการสร้างความสามารถในการผลิตให้กับแรงงานในกลุ่มนี้มากขึ้นด้วยซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งจะสร้างประโยชน์กับประเทศในระยะยาว
“การให้เงินกับประชาชนในระยะ3 เดือนแรกอาจมุ่งไปที่การเยียวยา แต่ใน 3 เดือนหลัง ควรเพิ่มเงื่อนไขในการฝึกทักษะอาชีพให้กับคนในกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งรัฐบาลสามารถประสานงานกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันการศึกษา และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หรือหน่วยงานอื่นๆที่มีหลักสูตรที่สามารถอบรม ให้ความรู้ผ่านระบบออนไลน์ให้คนในกลุ่มนี้ได้เรียนซึ่งก็จะทำให้การให้เงินส่วนนี้ได้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจมากขึ้น”

158651300229
สำหรับวงเงินจาก พ.ร.ก.ที่กระทรวงการคลังได้เตรียมไว้สำหรับแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาท นายมนตรีกล่าวว่าการใช้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากที่สุดคือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และใช้การจ้างแรงงานในประเทศมาทำโครงการซึ่งจะได้ผลกว่าการกระจายเม็ดเงินไปทำโครงการขนาดเล็กๆ โดยโครงการการที่ควรทำคือโครงการทางด้านชลประทานขนาดใหญ่เช่นโครงการผันน้ำจากแม่น้ำขนาดใหญ่มาใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตรหรือให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในระยะยาว และหากเป็นโครงการขนาดใหญ่มากที่ทำข้ามพื้นที่หลายจังหวัดก็ให้ดึงเอาผู้มีรายได้น้อยในประเทศต่างๆมาทำงานและให้ค่าแรงจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจ มีการจ้างงานและสร้างสินทรัพย์ให้ประเทศ 
158651314551
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าเงินกู้ตาม พ.ร.ก.1ล้านล้านบาทเพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุดรัฐจะต้องจัดสรรลงไปให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงหรือเป็นโครงการที่ช่วยให้ภาคธุรกิจขนาดเล็กมากๆที่จะได้รับผลกระทบสูงมีทางออกในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามในช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้้หากสถานการณ์การระบาดของโรคไม่รุนแรงเพิ่มขึ้นการปรับตัวทั้งของผู้คนและธุรกิจต่างๆในระบบเศรษฐกิจจะเริ่มปรับตัวซึ่งอาจจะมีธุรกิจบางอย่างที่สามารถกลับมาเปิดได้โดยการเพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มเติม แต่บางธุรกิจ บางสถานที่ยังกลับมาเปิดไม่ได้เช่น สถานบันเทิง ผับ บาร์ สนามกีฬา เนื่องจากมีความเสี่ยงซึ่งแรงงานที่อยู่ในสองส่วนนี้ระดับความเดือดร้อนจะแตกต่างกันได้

“ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19อาจจะแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่จะเริ่มดีขึ้นหลัง 30 เม.ย. และกลุ่มที่ยังคงได้รับผลกระทบและซบเซาต่อเนื่อง รัฐบาลเองก็ต้องมาจำแนกความเดือดร้อนของคนแต่ละกลุ่มให้ชัดเจน เช่น คนที่ได้รับความเดือดร้อนสมควรได้รับ 5,000 บาทต่อเนื่อง และใครที่เดือดร้อนน้อยกว่าก็ควรได้รับลดลงมาอาจะจะ 4,000 - 1,000 บาท เป็นต้น ไม่ควรแจกเท่ากันทุกคน โดยงบประมาณส่วนที่เหลือก็สามารถที่จะนำมาช่วยเหลือกลุ่มอื่นๆที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม” นายนณริฏ กล่าว