ถอดรหัสโต 'ทีคิวเอ็ม' โควิด-19 ยกฐานะ !

ถอดรหัสโต 'ทีคิวเอ็ม' โควิด-19 ยกฐานะ !

สำรวจต้นเหตุราคา 'หุ้น ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น' พุ่ง 291% ผ่านเจ้าของตัวจริง 'อัญชลิน พรรณนิภา' แย้มผลประกอบการเติบโตระดับตัวเลข 'สองหลัก' ได้ แม้ในภาวะเศรษฐกิจถอดถอย หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 รุนแรง ตอกย้ำองค์กรแห่งนี้ปี 2568 ยอดขายแตะ 5 หมื่นล้าน !

ผลงานโดดเด่น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2561-2562) สะท้อนผ่านตัวเลข 'กำไรสุทธิ' ที่ขยับขึ้น จากระดับ 404.27 ล้านบาท เป็น 507.23 ล้านบาท ส่งผลให้ราคา หุ้น ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น หรือ TQM ผู้ประกอบการธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการนายหน้าประกันภัย ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้วเฉลี่ย 291% จากราคา 'สูงสุด' (New High) อยู่ที่ 90 บาทต่อหุ้น (14 ก.พ.2563)  

ขณะเดียวกัน 'หุ้น TQM' ยังได้รับความสนใจจากกองทุนทั้งในและต่างประเทศ บ่งบอกผ่านการทยอยเข้าถือหุ้นของนักลงทุนหน้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด สัดส่วน 5.69% , บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 4% , บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 3.25% , บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 3.25% , THE HONGKONG AND SHANGHAI BANKING CORPORATION LIMITED สัดส่วน 2.77%  , STATE STREET EUROPE LIMITED สัดส่วน 1.94% 

บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 1.43% , STATE STREET BANK AND TRUST COMPANY สัดส่วน 0.90% , บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 0.83% , THE BANK OF NEW YORK MELLON สัดส่วน 0.74% , บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 0.67% , RAFFLES NOMINEES (PTE) LIMITED สัดส่วน 0.63% และ BBHISL NOMINEES LIMITED สัดส่วน 0.58% ตามลำดับ (ตัวเลขวันปิดสมุดทะเบียน 17 มี.ค. 2563)  

'ดร.อัญชลิน พรรณนิภา' ประธานกรรมการ บมจ. ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น หรือ TQM เล่าให้ฟังว่า ในช่วงที่ผ่านมาหุ้น TQM ได้รับความสนใจจากนักลงทุน หลังจากหุ้นถูกนำไปคำนวณในดัชนี MSCI ซึ่งเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะสถาบันในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันสถาบันในประเทศถือหุ้นมากกว่า 10% สถาบันต่างประเทศประมาณ 4% และ ครอบครัวพรรณนิภาประมาณ 60%

ขณะเดียวกันบริษัทเดินหน้าขยายธุรกิจไป 'ต่างประเทศ' โดยเน้นในประเทศที่มีกำลังซื้อที่ดี และมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) โดยรูปแบบการไปลงทุนในต่างประเทศนั้นบริษัทจะร่วมลงทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นในประเทศนั้น โดยบริษัทมีความรู้ในโมเดลธุรกิจ และมีแพลตฟอร์ม โดยโมเดลการลงทุนจะเป็นลักษณะ 1+1 และคาดว่าบริษัทจะเป็นโบรกเกอร์รายแรกที่ขยายการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV

'ทุกวันนี้สถาบันเข้ามาขอพบทุกวัน เพราะอยากได้หุ้นเพิ่ม แต่เรายังไม่มีนโยบายที่จะขายหุ้นออกมาอีก แต่ช่วงราคาหุ้นปรับตัวลดลงระดับผู้บริหาร 3 คน เข้ามาเก็บหุ้นกว่า 4 แสนหุ้น เนื่องจากเห็นว่าราคาลดลงมามากกว่าพื้นฐานที่มีธุรกิจมีการเติบโต'

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น TQM เริ่มต้นจากราคาไอพีโอ 23 บาทต่อหุ้น ซึ่งราคาหุ้นมีปรับตัวขึ้นมาระดับสูงถึง 90% ซึ่งถือได้ว่าน่าจะเป็นบริษัทแรกๆ ที่มีการเติบโตมากที่สุด พอมาปีนี้ด้วยสภาวะตลาดหุ้น เศรษฐกิจ ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ก็ส่งผลมายังราคาหุ้นปรับตัวลดลง ซึ่งอยากให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่า บริษัทยังมีศักยภาพในการเติบโต มีการปรับตัว หาช่องทาง บริการให้มีความหลากหลาย และ ตรงใจผู้บริโภคให้มากที่สุด

เจ้าของตัวจริง ยืนยันว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 25631 ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 15-16% หรือ 15,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่มียอดขาย 12,000 ล้านบาท หลังจากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา(ก.พ.-มี.ค.) ยอดขายผลิตภัณฑ์เติบโตได้ดีกว่าที่คาดไว้ สืบเนื่องจากยอดขายประกันภัยไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 'เจอ จ่าย จบ' ที่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย เป็นผู้รับประกัน จากเดิมคาดยอดขาย 3 แสนราย แต่ปรากฏว่า ปัจจุบันเมื่อรวมกับ บริษัท วิริยะประกันภัย และ บริษัท สินทรัพย์ประกันภัย ยอดขายทะลุ '1 ล้านราย' เร็วกว่าเป้าหมายที่คาดใช้เวลา 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทยังขายประกันภัยโควิด-19 ได้ต่อเนื่อง เพราะความต้องการยังมีอยู่ เพียงแต่ต้องจำกัดการซื้อ 1 คน ต่อ 1 กรมธรรม์ เพื่อลดความเสี่ยง โดยจุดประสงค์คนที่ต้องทำประกัน ก็ต้องการแบ่งเบาความเสี่ยง ที่สำคัญความคุ้มครองไม่ได้สูงอยู่ที่ 5 หมื่นบาท เพราะฉะนั้น การที่คนจะยอมเสี่ยงถึงชีวิตเพื่อให้ติดนั้น เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นดังนั้น แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563 จะออกมาดีกว่าที่คาดไว้ เมื่อเทียบจากไตรมาส 4 ปี 2562 และ ไตรมาส 1 ปี 2562 เนื่องจาก 2 เดือนที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายประกันเติบโตมากกว่าที่คาดไว้มาก... 

เขา บอกต่อว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขาย 6 ปี ( 2564-2569) แตะระดับ '5 หมื่นล้านบาท' จากปี 2563 ที่บริษัทตั้งเป้ายอดขาย 1.5 หมื่นล้านบาท โดยยังมุ่งเน้นการเป็นผู้นำเทรนด์ดิจิทัลอินชัวร์รันส์โบรกเกอร์เพื่อเป้าหมายการเป็นผู้นำ Digital Insurance Broker in Region ซึ่งการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และ บริการที่เป็นการมอบประสบการณ์ที่ใหม่ และแตกต่างให้แก่ลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล และ ยังคงรักษาตลาดเดิมของ TQM ไว้ทั้งในส่วนงาน Tele sale งานขาย Face to Face งานขายต่างจังหวัด และ ลูกค้าองค์กร รวมทั้งกลุ่มบริษัทในเครือ เช่น บริษัท ที เจ เอ็น อินชัวร์รันส์ โบรกเกอร์ จำกัด ที่มุ่งเน้นตลาดดีลเลอร์ และ นายหน้าอิสระที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญ และ เทคโนโลยีช่วยสนับสนุนในงานขาย และ บริการของลูกค้า

'ย้อนหลังไป 10 ปีก่อน เรามียอดขายโตเฉลี่ยปีละ 10% อยู่แล้ว และ ปีนี้เราตั้งไว้ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งการที่จะไปถึงยอดขาย 5 หมื่นล้านบาทนั้น เราก็คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 30% เราคิดว่าทำได้ แต่ต้องรวมกับการเข้าซื้อกิจการด้วย เพราะถ้าโตเพียงลำพังคงทำได้แค่ 3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น'

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการ (M&A) ธุรกิจโบรกเกอร์ประกัน ทั้งการซื้อกิจการ หรือ การซื้อหุ้นบางส่วน เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าที่แตกต่างจากเดิม คาดว่าปีนี้จะได้ข้อสรุป 1 ดีล คาดว่าเงินลงทุนจะใช้จากกระแสเงินสดที่มีประมาณ 2,000 ล้านบาท

ขณะที่ธุรกิจที่เข้าลงทุนจะต้องเป็นธุรกิจที่มี 'กำไร' ในทันที ! ส่วนการโรคระบาดของโควิด-19 บริษัทได้เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิด-19 ร่วมกับพันธมิตรประกันเพื่อช่วยเหลือลูกค้าให้ได้รับความคุ้มครองในภาวะความเสี่ยงได้ทันท่วงทีด้วยการซื้อผ่าน TQM Insurance Gift ที่ TQM พัฒนาขึ้นเป็นรายแรก ผ่านช่องทางขายดิจิทัลที่ง่ายและ สะดวกแก่ผู้บริโภค

ทั้งนี้ ในปี 2563 ถือว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หรือ การเผชิญกับโรคระบาด ซึ่งทำให้หลายภาคส่วนเกิดความกังวลกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่สำหรับ TQM ตลาดหลัก 90% ยังคงเป็นประกันวินาศภัย เช่น ประกันรถยนต์ ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันภัยบ้าน ประกันกลุ่มองค์กร ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้ในทุกสถานการณ์

สำหรับภาพรวมผลประกอบการปี 2562 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,783.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.2% เป็นรายได้จากการให้บริการเป็นจำนวน  2,711.5 ล้านบาท และ รายได้จากดอกเบี้ย และ ผลตอบแทนจากเงินลงทุนราว 72.3 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิที่ 507.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103 ล้านบาท

ท้ายสุด 'ดร.อัญชลิน' ทิ้งท้ายไว้ว่า เชื่อว่าในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนนักลงทุนจะมีการบริหารพอร์ตลงทุนของตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งมองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นการลงทุนในระยะยาว ฉะนั้น การลงทุนจะต้องดูที่ผลการดำเนินงานที่มีการเติบโตต่อเนื่องเป็นหลัก

โควิด-19 ไม่กระทบกำไร 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ระบุว่า มีการปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 และ 2564 เป็นขยายตัว 25.5% และ 18.2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ 637 ล้านบาท และ 753 ล้านบาท ตามลำดับ สะท้อนการปรับเพิ่มสมมติฐานการเติบโตของยอดขายเบี้ยประกันขึ้นตามเป้าหมายในการเติบโตของบริษัทฯและปรับลด cost to income ratio ลงเพราะก่อนหน้านี้ประเมินไว้สูงเกินไป 

โดยภายหลังการปรับประมาณการคาดกำไรสุทธิปี 2563-2564 จะเติบโต 25.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ 18.2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากความพยายามในการผลักดันผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่แตกต่างออกสู่ตลาดพร้อมโอกาสในการเติบโตจากโครงการใหม่ๆ ของบริษัท และโอกาสในการขยายธุรกิจด้วยการทำ M&A ซึ่งฝ่ายวิจัยยังไม่ได้รวมไว้ในประมาณการจากการปรับกำไรสุทธิเพิ่ม

ดังนั้นจึงต้องปรับมูลค่าพื้นฐานใหม่ในปี 2563 เท่ากับ 60 บาท (เดิม 51 บาท) อิง PBV 7.07 เท่า (เดิม 6.16 เท่า) ตามวิธี GGM ภายใต้คาดการณ์ ROE ระยะยาวที่ 28.2% (เดิม 24%) และการเติบโตเฉลี่ยระยะยาวเท่ากับ 7% (เดิม 6%) แม้บริษัทประกาศจ่ายปันผล 1.1 บาทต่อหุ้น XD วันที่ 16 มี.ค. 63 คิดเป็น yield 1.7% 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง ระบุว่า มองว่ากำไรปีนี้จะขยายตัว 39% ดีตามประมาณการ ซึ่งไม่รวม M&A และไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว และผลจาก COVID-19 นอกจากนี้กิจการอาจมีอัพไซด์จาก Gross Margin และ ที่อาจดีกว่าประมาณการเราปีนี้ที่ 48% และ 18.6% จากการนำเอา IT มาใช้ดำเนินงานโดยคาดว่ารายได้เบี้ยปีนี้ขยายตัว 16% จากการเพิ่มฐานลูกค้า Non-Motor และ ขยายการขายไปสู่ระบบ Digital Channel มากขึ้น COVID-19 ช่วยสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องมีเบี้ยสุขภาพ 

สำหรับเป้าใน 5 ปีข้างหน้าเพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านบาทในปี 2568 นอกจากนี้เป้ารายได้ยังไม่รวมเรื่องของ M&A อีก 1ดีลปีนี้ และไม่รวมเรื่องการร่วมมือกับอาคเนย์ในการขายประกันชีวิตผ่าน BigC Supercentres และความร่วมมือกับธนาคารออมสินในการปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิต สำหรับ TFRS9 ไม่มีผลต่อการดำเนินงาน และ TFRS16 อาจมีผลต่อผลประกอบการประมาณ 10 ล้านบาทในปีนี้อีกด้วย !