'พร้อมเพย์' คืออะไร สำคัญแค่ไหนในยุค 'โควิด-19'

'พร้อมเพย์' คืออะไร สำคัญแค่ไหนในยุค 'โควิด-19'

ทำความรู้จัก "พร้อมเพย์" (Prompay) บริการโอน-รับเงิน ข้ามธนาคารแบบไม่เสียค่าธรรมเนียม และบทบาทตัวกลางส่งเงินสวัสดิการในการเยียวยาจากรัฐสู่ประชาชน ลดการแพร่เชื้อ "โควิด-19" ในยุคโรคระบาด

ในยุคที่คนไทยเริ่มใช้บริการทางการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างแพร่หลาย ส่งสัญญาณว่าประเทศไทย กำลังก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านการใช้จ่ายของคนไทย สู่การเริ่มต้น "สังคมไร้เงินสด" (Cashless Society)

นอกจากการรับ-โอน ในภาคประชาชนแล้ว "พร้อมเพย์" กำลังมีบทบาทสำคัญช่วงโควิด-19 ระบาด กับหน้าที่เป็นตัวกลาง รับ-ส่ง เงินสวัสดิการ และการเยียวยาต่างๆ จากภาครัฐสู่ประชาชน

"กรุงเทพธุรกิจ" จะพาไปทำความรู้จักกับพร้อมเพย์ว่าคืออะไร ใช้งานอย่างไร และสำคัญแค่ไหนในยุคโรคระบาดที่กำลังเผชิญอยู่นี้

  •  พร้อมเพย์ คือ? 

"พร้อมเพย์" ซึ่งอยู่ภายใต้การขับเคลื่อนของ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ทำขึ้นเพื่อเป็นบริการทางเลือกใหม่ให้ประชาชน ธุรกิจ และหน่วยงานต่าง​ๆ ใช้ในการโอนเงินและรับเงิน เป็นบริการเพิ่มจากการโอนเงินแบบเดิม ที่ให้ประชาชนเลือกใช้ได้และทำให้ผู้ใช้มีความสะดวกมากขึ้น

ระบบพร้อมเพย์จะใช้เลขประจำตัวประชาชน หรือ หมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับเงินแทนได้ ทำให้สะดวกแล​ะง่ายต่อการจดจำ จากเดิมที่ต้องรู้เลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารจึงจะโอนเงินให้ได้ โดยผู้ที่ใช้บริการผ่านพร้อมเพย์ จะได้รับประโยชน์จากค่าธรรมเนียมที่ถูกลงมาก โดยพร้อมเพย์ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2560 เป็นต้นมา

  •  พร้อมเพย์ ปลอดภัยหรือไม่ 

หลายคนมีความกังวลว่า การผูกข้อมูลในระบบกลางอย่างพร้อมเพย์อาจไม่ปลอดภัย ซึ่งความกังวลนี้ด้านหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า พร้อมเพย์มีระบบจัดเก็บ และป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่เข้มงวด พร้อมทั้งมีระบบรักษาความปลอดภัยของแต่ละธนาคารคอยดูแลเป็นอย่างดี

อีกทั้งยังมีผู้ให้บริการระบบกลาง ได้ให้บริการในระบบที่มีมาตรฐานความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ ตามมาตรฐาน ISO-27001 ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระบบสากล และมีการตรวจสอบประเมินความปลอดภัยจากหน่วยงานภายนอกที่ได้รับการรับรองอีกชั้นหนึ่ง จนเรียกได้ว่าพร้อมเพย์ เป็นระบบที่ "สะดวก ประหยัด และปลอดภัย" 

นอกเหนือจากความปลอดภัยของระบบกลางแล้ว ได้มีการออกแบบความปลอดภัยในส่วนของกระบวนการเข้าใช้งาน กล่าวคือ ผู้ใช้บริการที่ทุกธนาคาร จะต้องมีการใส่เลขรหัสหรือ Password และมีการยืนยันรายการก่อนทำการโอนทุกครั้ง 

  •  ยังไม่มีพร้อมเพย์ สมัครอย่างไร? 

พร้อมเพย์ ไม่ใช่การเปิดบัญชีธนาคารใหม่ แต่เป็นการผูกบัญชีธนาคาร (ของธนาคารใดก็ได้) กับหมายเลขโทรศัพท์ หรือบัตรประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกในการโยนที่ยึดหมายเลขโทรศัพท์ หรือบัตรประชาชน ไม่ต้องใช้บัญชีธนาคารในการโอน ไม่ต้องบอกสาขา และธนาคารที่จะรับโอน โดยสามารถผูก 1 หมายเลข ต่อ 1 บัญชีเท่านั้น 

ทั้งนี้ หากต้องการผูกบัญชีกับธนาคารไหน ก็สามารถลงทะเบียนพร้อมเพย์กับธนาคารเจ้าของบัญชีได้เลย โดยวิธีการลงทะเบียนพร้อมเพย์ของแต่ละธนาคารอาจมีความแตกต่างกัน 

158651119196

  •  พร้อมเพย์ ทำงานอย่างไร? 

158650708250

บริการพร้อมเพย์ สามารถรับเงินโอนและโอนเงิน ผ่านเลขประจำตัวประชาชน และ เบอร์โทรศัพท์มือถือ แทนการใช้เลขบัญชี

  • การใช้เลขประจำตัวประชาชน สำหรับการรับเงินจากภาครัฐ เช่น เงินคืนภาษี เบี้ยคนชรา และรัฐสวัสดิการอื่นๆ โดยภาครัฐจะมีการโอนเงินผ่านเลขประจำตัวประชาชนที่ผูกกับบัญชีธนาคารไว้ เพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการรับเงินของประชาชนยิ่งขึ้น

  • การใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ สำหรับการรับ-โอนเงินระหว่างบุคคลโดยที่ไม่ต้องจำเลขที่บัญชี และค่าธรรมเนียมถูกลง โดยผู้โอนไม่จำเป็นต้องถามชื่อธนาคารหรือสาขา เพราะใช้อัตราค่าธรรมเนียมเดียวกันไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินแบบต่างธนาคารหรือข้ามเขต ทำให้สะดวก ปลอดภัย ไม่ต้องพกเงินสด

ทั้งนี้ พร้อมเพย์จะสามารถให้บริการโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง ตู้ ATM, Mobile Banking และ Internet Banking ได้

  •  ค่าธรรมเนียมพร้อมเพย์ 

158651067014

  •  ใช้พร้อมเพย์ รับเงินจากภาครัฐได้อย่างไรบ้าง

การลงทะเบียนพร้อมเพย์เพื่อรับสวัสดิการจากภาครัฐ ในแต่ละเรื่องจะมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น จะต้องศึกษาเงื่อนไขการรับสวัสดิการแต่ละประเภท เนื่องจากบางสวัสดิการจะกำหนดว่าต้องลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้กับธนาคารใด หากไม่ได้กำหนดก็สามารถลงทะเบียนได้ทุกธนาคาร โดยต้องเป็นการลงทะเบียนแบบที่ผูกกับเลขประจําตัวประชาชนด้วย 

แม้ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมจ่าย ถอน โอน ในช่องทางออนไลน์จนทำให้หลายคนหันมาใช้บริการกับธนาคารโดยตรงแบบไม่ต้องผ่านระบบพร้อมเพย์

แต่ระบบพร้อมเพย์ ก็ยังรับบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางให้ประชาชนได้รับเงินจากภาครัฐ เมื่อมีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เนื่องจากมีข้อมูลกลางที่เชื่อมโยงและตรวจสอบได้ง่ายกว่า ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากการใช้งานในช่วงโควิด-19 ระบาด ที่ประชาชนต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดแพร่เชื้อ ลดการจับเงินสด ซึ่งอนุมานได้ว่าโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสดที่รวดเร็วขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

ที่มา: BOT ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ