'สงกรานต์ 2564' เปิดขั้นตอน 'สรงน้ำพระ' ที่บ้าน ไม่เสี่ยงโควิด

'สงกรานต์ 2564' เปิดขั้นตอน 'สรงน้ำพระ' ที่บ้าน ไม่เสี่ยงโควิด

"สงกรานต์ 2564" ชวนคนไทยรู้ขั้นตอน "สรงน้ำพระ" ง่ายๆ ที่บ้าน โดยไม่ต้องเสี่ยงออกไปวัดที่มีผู้คนพลุกพล่าน เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 พร้อมหาคำตอบว่าการ "สรงน้ำพระ" ในวันสงกรานต์ได้อานิสงส์อย่างไร?

"สงกรานต์" เป็นคำสันสกฤต หมายถึง ‘การเคลื่อนย้าย’ ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี คือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทย และบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กิจกรรมที่คนไทยนิยมทำกันตามประเพณีคงหนีไม่พ้น "สรงน้ำพระ" ทำบุญตักบาตร ขนทรายเข้าวัด และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่

อีกทั้ง ประเพณีสงกรานต์ ได้รับการสืบทอดมาแต่โบราณคู่กับ ตรุษ (วันเปลี่ยนปีนักษัตรตามหลักโหราศาสตร์ไทย) จึงเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึง ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เดิมวันที่จัดเทศกาลสงกรานต์กำหนดโดยการคำนวณทางดาราศาสตร์ แต่ปัจจุบันระบุแน่นอนว่าคือวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ออกประกาศวันสงกรานต์ พร้อมจัดทำภาพวาดนางสงกรานต์ ประจำปี 2564 ของฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ปีฉลู (มนุษย์ผู้ชาย ธาตุดิน) ตรีศก จุลศักราช 1383 ทางจันทรคติ เป็น อธิกมาส ทางสุริยคติ เป็นปกติสุรทิน วันที่ 14 เมษายนเป็นวันมหาสงกรานต์ตามหลักจันทรคติ ซึ่งตรงกับวันพุธ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 6 เวลา 3 นาฬิกา 39 นาที 40 วินาที

161719673460

 ภาพ : กรมประชาสัมพันธ์

นางสงกรานต์ปีนี้ทรงนามว่า รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมราภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูลพระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังวราหะ เป็นพาหนะ

วันที่ 16 เมษายน เวลา 07 นาฬิกา 37 นาที 12 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1383 ปีนี้ วันอาทิตย์เป็นธงชัย วันจันทร์เป็นอธิบดี วันเสาร์เป็นอุบาทว์ วันพุธเป็นโลกาวินาศ

โดยวันเสาร์เป็นอธิบดีฝนบันดาลให้ฝนตก 400 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า นาคให้น้ำ 6 ตัว เกณฑ์ธัญญาหารได้เศษ 0 ชื่อ ปาปะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล 1 ส่วน เสีย 9 ส่วน มหาชนร้อนใจด้วยอาหารแลเกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีอาโป (น้ำ) น้ำมาก

ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษเป็น ช่วงฤดูร้อน ประเพณีดั้งเดิมจึงมีการใช้ น้ำ เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ใช้รดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น เดิมพิธีสงกรานต์เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกครอบครัวหรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมวงกว้าง

จึงเกิด ธรรมเนียมนิยมกลับบ้าน ในเทศกาลสงกรานต์ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปีเป็นวันหยุดราชการ รวมทั้งกำหนดสัญลักษณ์ให้วันสงกรานต์เป็น วันครอบครัว ปัจจุบันมีการประชาสัมพันธ์ในเชิงท่องเที่ยวว่าเป็น Water Festival

ในปีนี้รัฐบาลได้หารือกับ ศบค. และออกประกาศหลักเกณฑ์การฉลองสงกรานต์ 2564 ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีสาระสำคัญคือ...

ให้งดเล่นน้ำสงกรานต์ที่มีคนหมู่มาก แต่ยังคงให้เดินทางข้ามจังหวัดได้ รวมถึงประเพณีสำคัญอย่างการ "สรงน้ำพระ" และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ก็ให้สามารถทำได้ ดังนั้น สงกรานต์ปีนี้เรามา สรงน้ำพระพุทธรูป อยู่ที่บ้านกันดีกว่า

เว็บไซต์ วัดป่ามหาชัย ระบุว่า ‘พิธีสรงน้ำพระในบ้าน’ เป็นพิธีกรรมที่จะต้องกระทำเป็นประจำทุกปีในวันสงกรานต์ โดยจะมีการทำความสะอาดองค์พุทธรูป หิ้งพระ เปลี่ยนผ้าขาวรองพระ เป็นอาทิ

  • ขั้นตอนการสรงน้ำพระพุทธรูป

1. อัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาเช็ดทำความสะอาดเบื้องต้นด้วยผ้าผืนใหม่หรือฟองน้ำสะอาดทีละองค์ หากเป็น ‘กรอบรูป’ ให้ใช้ฟองน้ำชุบน้ำบิดหมาดแล้วเช็ดให้เกลี้ยงเกลา หากเป็น ‘พระเครื่อง’ ควรหากล่องเก็บใส่ไว้ให้เป็นระเบียบ

2. เมื่อทำความสะอาดเสร็จแล้ว ให้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งหมดไปประดิษฐานชั่วคราวบนโต๊ะ โดยมีพานหรือถาดรอง ประดับโต๊ะด้วยดอกไม้หอม กลีบดอกไม้ หรือพวงมาลัยให้สวยงาม

3. เตรียมเครื่องหอม โดยการโรยดอกไม้หอม พวงมาลัย น้ำหอม น้ำอบ หรือน้ำปรุง ใส่ในขันน้ำสะอาดไว้สำหรับสรงน้ำพระ

4. ทำความสะอาดที่ประดิษฐานองค์พระประจำบ้าน เช่น หิ้งพระ โต๊ะหมู่บูชา และสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับที่ประดิษฐานองค์พระให้สะอาดสะอ้าน

5. ชวนคนในบ้านตั้งจิตอธิษฐานและร่วมสรงน้ำพระไปพร้อมๆ กัน โดยนำขันน้ำที่ใส่เครื่องหอมเตรียมไว้สรงที่องค์พระพุทธรูปให้ครบทุกองค์

158649869966

  • บทสวดขอขมาก่นอ "สรงน้ำพระ" 

ก่อนอัญเชิญพระพุทธรูปมาเช็ดทำความสะอาด ให้กล่าว คำขอขมา ก่อนเพื่อไม่ให้เกิดโทษภัย เริ่มด้วยการตั้งนะโม 3 จบ และกล่าวคำขอขมาดังนี้

ระตะนัตตะเย ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต

คำแปล : กายกรรม 3, วจีกรรม 4, มโนกรรม 3, ที่ข้าพเจ้าได้ประมาทพลาดพลั้งในพระรัตนตรัย ด้วยความตั้งใจก็ดี ไม่ตั้งใจก็ดี ต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ขอพระรัตนตรัยได้โปรดยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด

จากนั้นจึงอัญเชิญพระพุทธรูปไปตั้งสรงน้ำ ณ ที่กำหนด พร้อมกล่าวอาราธนาดังนี้

อุกาสะ ภันเต ภะคะวา อะยัง กาโล คิมหันตะอุตุ

กาละสัมปัตโต อิจฉามะ ภะคะวันตัง อะภิสิญจิตุง

สักกัจจัง อาราธะนัง กะโรมะ

คำแปล : ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอประทานพระวโรกาส เวลานี้เป็นหน้าร้อน ผองข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ปรารถนาอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าลงสรงน้ำด้วยความเคารพยิ่ง เพื่อความผาสุกของข้าพเจ้าทั้งหลาย

ก่อนสรงน้ำพระ ให้เริ่มด้วยการตั้งนะโม 3 จบ และ กล่าวคำอธิษฐานสรงน้ำพระ ดังนี้

อิมินา สิญฺจะเนเนวะ โรโค โสโก อุปัททะโว นิพพันตุ สัพพะโส เอเต สุขี โหนตุ นิรันตะรัง

คำแปล : เดชะ ข้าสรงน้ำ พระชุ่มฉ่ำตลอดกาล ทุกข์โศกโรคภัยพาล อันตรธาน เป็นสุข เทอญ

หลังจากกล่าวคำอธิษฐานเสร็จแล้ว จึงตักน้ำสรงพระพุทธรูปด้วยความเคารพ และอัญเชิญพระพุทธรูปกลับสู่โต๊ะหมู่บูชา

  • ผลบุญที่ได้จากการ "สรงน้ำพระ"

นอกจากนี้เว็บไซต์ วัดตระพังทอง เมืองเก่าสุโขทัย ได้อธิบายเกี่ยวกับการสรงน้ำพระเอาไว้ว่า บุญที่เกิดจากการสรงน้ำพระ คือ ความสุขใจ เบิกบานใจ ชุ่มชื่นใจ ความสะอาดของจิตใจ อันเกิดจากความเลื่อมใสในสิ่งที่ตนเคารพแล้วกระทำการบูชา ดังพระบาลีว่า “นัตถิ จิตเต ปะสันนัมหิ อัปปะกา นามะ ทักขิณา เมื่อจิตเลื่อมใสแล้ว จะได้ผลบุญไม่น้อย” 

การสรงน้ำพระ ก็เป็นการกระทำที่เกิดจากจิตที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้ว ต้องการถวายน้ำอบน้ำหอม อันเป็นอามิสบูชา อีกนัยหนึ่งเป็นการแสดงมุทิตาจิตในท่านผู้เป็นที่เคารพ ซึ่งพระพุทธรูปก็จัดอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพทางด้านจิตใจ โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ซึ่งปฏิบ้ติดีเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ สืบสานหลักธรรมนำเผยแผ่ สาธุชนสำนึกในคุณงามความดีของท่าน จึงถวายการเคารพบูชาด้วยการสรงน้ำ เป็นผลแห่งกุศลกรรมรูปแบบหนึ่ง

ระหว่างการสรงน้ำพระ อย่าลืมทำ Social Distancing แม้อยู่ในบ้าน ก็ไม่ควรประมาท..เพื่อคนที่คุณรักทุกคน

-------------------------

อ้างอิง : กรมประชาสัมพันธ์, watpamahachai.net, traphangthong.org