'Social Distancing' ฉุดร้านอาหารในญี่ปุ่นล้มละลาย

'Social Distancing' ฉุดร้านอาหารในญี่ปุ่นล้มละลาย

การระบาดของโรค "โควิด-19" ที่กำลังเล่นงานญี่ปุ่นในขณะนี้ กำลังส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารพากันปิดตัวเพราะล้มละลายกันไปตามๆ กัน

การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด ที่กำลังเล่นงานญี่ปุ่นอยู่ในขณะนี้ ประกอบกับมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมที่ทางการประกาศใช้ ทำให้ธุรกิจร้านอาหาร หรือภัตตาคารแทบจะทุกย่าน ไม่เว้นแม้กระทั่งย่านธุรกิจดังๆ ที่คนทั่วโลกรู้จักดีอย่างกินซา พากันปิดตัวเพราะล้มละลาย เนื่องจากหมดทุน ขณะที่บางแห่งพยายามหาแหล่งเงินกู้ เพื่อนำมาประคองธุรกิจให้รอดแบบวันต่อวัน

"โทโมยูกิ อุตสุโนะ" ผู้อำนวยการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารแห่งโตเกียว กลุ่มธุรกิจที่มีสมาชิกเป็นร้านอาหารและบาร์จำนวนเกือบ 8,000 แห่ง บอกว่า ช่วงนี้มีเจ้าของกิจการร้านอาหารและบาร์ มาขอความช่วยเหลือทุกวัน ส่วนใหญ่มาขอกู้เงินและสัดส่วนของเจ้าของกิจการที่มาขอกู้เงินเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าเป็น 45 ราย นับจนถึงวันที่ 6 เม.ย.วงเงินที่ขอกู้รวมทั้งสิ้น 700 ล้านเยน หรือ 6.4 ล้านดอลลาร์

“เมื่อ 2-3 เดือนก่อน เจ้าของกิจการที่ต้องการทำเรื่องกู้เงินส่วนใหญ่ต้องการนำเงินไปปรับปรุงร้าน ขยายธุรกิจใหม่ๆ และขยายสาขาของร้านอาหาร แต่ตอนนี้ พวกเขากำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์รุนแรงที่เป็นตายเท่ากัน เหตุผลในการขอกู้เงินจึงเปลี่ยนไป ความกังวลของเจ้าของกิจการเหล่านี้สูงมาก พวกเขารู้สึกว่าอนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน” อุตสุโนะ กล่าว

ล่าสุด วานนี้ (9 เม.ย.) "ฮารุฮิโกะ คุโรดะ" ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นและทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นตกอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอนอย่างมากแต่เขาก็ให้คำมั่นว่าบีโอเจจะใช้มาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น เพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคนี้

บีโอเจ เปิดเผยด้วยว่า ความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงสู่ระดับติดลบในไตรมาส 1/2563 ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 7 ปี เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำไตรมาส 1 ลดลงสู่ระดับ -8 จากระดับ 0 ในไตรมาส 4/2562 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกัน 5 ไตรมาส ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบริษัทนอกภาคการผลิต ซึ่งรวมถึงภาคบริการนั้น ลดลงแตะระดับ 8 ในไตรมาส 1/2563 จากระดับ 20 ในไตรมาส 4/2562 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 3 ไตรมาส

บีโอเจมีกำหนดเปิดเผยรายงานซากุระรีพอร์ท หรือรายงานภาวะเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคของญี่ปุ่นประจำไตรมาส 1/2563 ในวันนี้

ผู้อำนวยการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารแห่งโตเกียว บอกด้วยว่า มาตรการเข้มงวดในเรื่องต่างๆ ของรัฐบาล รวมถึง การรักษาระยะห่างทางสังคม ที่อาจจะช่วยรักษาชีวิตของผู้คนจำนวนมากเอาไว้ได้ แต่มาตรการเหล่านี้ทำร้ายธุรกิจ รายได้ของร้านอาหารและบาร์ในย่านกินซาร่วงลงเหลือครึ่งหนึ่งตั้งแต่เดือนมี.ค.จากช่วงก่อนหน้านี้ ที่ย่านนี้เป็นย่านที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักธุรกิจ

มีร้านอาหารและบาร์ที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคโควิด-19 ยื่นล้มละลาย 40 แห่งนับจนถึงวันที่ 6 เม.ย. เทียบกับเดือนก.พ.ที่มีการยื่นล้มละลายแค่ 3 ราย ก่อนที่เดือนถัดมาจำนวนจะเพิ่มขึ้นเป็น 32 ราย

ตามปกติ เดือนมี.ค. และ เดือนเม.ย. เป็นเดือนที่ทำเงินของบรรดาร้านอาหารในญี่ปุ่น บรรดานักธุรกิจจำนวนมากมักมาจัดงานปาร์ตี้เพื่อเลี้ยงส่งเพื่อนร่วมงานและเลี้ยงต้อนรับพนักงานใหม่ขององค์กรในช่วงเริ่มต้นปีงบการเงิน แต่สภาพธุรกิจในญี่ปุ่นตอนนี้ อุตสุโนะ เรียกว่า เป็น “หายนะ”

อุตสุโนะ บอกว่า ยังไม่มีสัญญาณใดๆ บ่งชี้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19จะสิ้นสุดลงเมื่อใด เจ้าของร้านอาหารบางแห่งอดทนรอไม่ไหว ตัดสินใจยุติกิจการในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เพราะคิดว่า ไม่สมเหตุสมผลหากต้องแบกรับหนี้โดยไม่มีทางหาเงินมาใช้หนี้และยังต้องเปิดร้านต่อไป

“ไทโกกุ ดาต้าแบงก์” ระบุว่า มีร้านอาหารและบาร์ที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคโควิด-19 ยื่นล้มละลาย 40 แห่งนับจนถึงวันที่ 6 เม.ย. เทียบกับเดือนก.พ.ที่มีการยื่นล้มละลายแค่ 3 ราย ก่อนที่เดือนถัดมาจำนวนจะเพิ่มขึ้นเป็น 32 ราย

ด้าน โยชิฮิโร ซากาดะ ผู้จัดการโตเกียว โชโก รีเสิร์ช มีความเห็นว่า ขณะนี้ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เริ่มส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค หลังจากที่ในช่วงเริ่มต้นแพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้มีการยกเลิกการจัดอีเวนท์ต่างๆ และร้านค้าพากันปิดร้านไม่ขายสินค้าในช่วงโควิด-19 ระบาด

ซากาดะ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมเสื้อผ้าก็ได้รับผลกระทบจากการที่ร้านค้าปลีกเสื้อผ้าหลายแห่งพากันปิดร้านด้วย และมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคต การระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบไปถึงอุตสาหกรรมการผลิตในอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมก่อสร้าง

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น ตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงโตเกียวและอีก 6 จังหวัด ได้แก่ ชิบะ, คานางาวะ, ไซตามะ, โอซากา, เฮียวโงะ และฟูกูโอกะ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศได้ส่งผลร้ายแรงต่อชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจ

แม้มาตรการดังกล่าวไม่ได้เข้มงวดเหมือนกับมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ทำให้ผู้ว่าการท้องถิ่นใน 7 เมืองของญี่ปุ่นมีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านและให้ภาคธุรกิจปิดทำการได้

แต่ "เอกิฮิโร นิสุกิ" ผู้อำนวยการบริหารฟูไน โซเคน คาดการณ์ว่า ความสูญเสียทางธุรกิจจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตามใดที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลบังคับใช้ บรรดาเจ้าของกิจการจะขาดสภาพคล่อง เพราะต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายแบบตายตัวแต่รายได้ไม่เข้าตามเป้า แถมบางรายรายได้เท่ากับศูนย์มาตั้งแต่เดือนมี.ค.