อียูอัดฉีด5แสนล้านยูโรเยียวยาผลกระทบโควิด-19

อียูอัดฉีด5แสนล้านยูโรเยียวยาผลกระทบโควิด-19

อียูอัดฉีด5แสนล้านยูโรเยียวยาผลกระทบโควิด-19 หลังเสร็จสิ้นการหารือมาราธอนร่วมกัน เน้นช่วยเหลือแรงงาน, บริษัท และรัฐบาลต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

คณะรัฐมนตรีคลังของสหภาพยุโรป(อียู)เห็นพ้องออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ในประเทศสมาชิก วงเงิน 500,000 ล้านยูโร หรือ 440,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากเสร็จสิ้นการหารือร่วมกันอย่างยาวนานที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังอียู ประสบความล้มเหลวที่จะทำตามข้อเรียกร้องจากฝรั่งเศส และอิตาลีที่ต้องการให้มีการแชร์ต้นทุนค่าใช้จ่ายของวิกฤติสาธารณสุขครั้งนี้ด้วยการออกโคโรนาบอนด์ และมาตรการเยียวยานี้มีมูลค่าน้อยกว่าที่ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)เรียกร้อง โดยที่ผ่านมา อีซีบี ระบุว่า การจะฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ อียูจำเป็นต้องใช้เงิน 1.5 ล้านล้านยูโร

นายมารีโอ เซนทีโน ประธานยูโรกรุ๊ป ชี้แจงว่า มาตรการเยียวยาดังกล่าวเป็นการให้ความช่วยเหลือกับแรงงาน, บริษัท และรัฐบาลต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19

ที่ผ่านมา ไอเอชเอส มาร์กิต บริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน ระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงภาวะถดถอย แต่ยุโรป จะได้รับผลกระทบหนักกว่า เศรษฐกิจเยอรมนีและอิตาลีเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือใกล้เข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส จึงอาจฉุดรั้งประเทศที่เหลือในยูโรโซนให้เข้าสู่ภาวะถดถอยตามไปด้วย

ตลาดต่างคาดหวังว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะใช้มาตรการปรับลดดอกเบี้ยเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่อีซีบีกลับตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับอีซีบี ที่ระดับ -0.50%

ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% แต่อีซีบีก็ประกาศเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อีก 1.2 แสนล้านยูโรจนถึงสิ้นปีนี้ พร้อมกับระบุว่าจะให้สินเชื่อใหม่แก่ภาคธนาคาร โดยเสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำลง เพื่อให้ธนาคารปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19