คนไทยไม่ทิ้งกัน ใช้ 5 พันให้เกิดประโยชน์

คนไทยไม่ทิ้งกัน ใช้ 5 พันให้เกิดประโยชน์

การจ่ายเงินช่วยเหลือ 3 เดือน หากมีเงื่อนไขให้ประชาชนมีโอกาสได้พัฒนาทักษะ เช่น พัฒนาฝีมือแรงงานด้วยการปรับมาใช้เครื่องมือทางออนไลน์ เพื่อรองรับหลังวิกฤติผ่อนคลายลง หากสามารถทำได้ จะทำให้งบประมาณที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบเกิดประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

กระทรวงการคลังได้เริ่มจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ให้กับผู้ลงทะเบียนที่ผ่านมาการตรวจสอบคุณสมบัติว่าได้รับผลกระทบจริง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมายืนยันว่า การจ่ายเงินดังกล่าวจะจ่ายให้ครอบคลุมมากที่สุด ส่วนกลุ่มใดที่อยู่นอกเหนือจากผู้มีสิทธิลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือจะมีมาตรการออกมารองรับช่วยเหลือเยียวยาให้ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ตามหลักการที่ต้องช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องช่วย

ในขณะที่การจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวในช่วงแรกประกาศว่าจะจ่ายคนละ 5,000 บาท รวม 3 เดือน จะทำให้ได้รับเงินคนละ 15,000 บาท ในขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้กำหนดกรอบการจ่ายเงินช่วยเหลือไว้ที่ 6 เดือน หรือเท่ากับจะได้รับเงินช่วยเหลือ 30,000 บาท ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าใจว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้น และกระทรวงการคลังต้องรีบออกมาชี้แจงว่าเป็นการตั้งกรอบระยะเวลางบประมาณไว้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ควรชี้แจงให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน 

มีการประเมินว่าในช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้ หากสถานการณ์การระบาดของโรคไม่รุนแรงเพิ่มขึ้นการปรับตัวทั้งของผู้คนและธุรกิจในระบบเศรษฐกิจเริ่มปรับตัว ซึ่งอาจมีบางธุรกิจกลับมาเปิดได้แต่บางธุรกิจ บางสถานที่ยังกลับมาเปิดไม่ได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่อการรวมกลุ่มคนที่ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยแรงงานทั้ง 2 กลุ่ม จะได้รับความเดือนร้อนในระดับที่ต่างกัน จึงจำเป็นที่การช่วยเหลือเยียวยาแรงงานทั้ง 2 กลุ่ม จะต้องแตกต่างกัน

ความเดือนร้อนของกลุ่มคนแต่ละกลุ่มทำให้ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องกำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและแรงงานที่แตกต่างกัน เพื่อให้การใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ได้ประโยชน์เต็มที่ โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือควรจ่ายตามระยะเวลาของการได้รับผลกระทบ ซึ่งเมื่อกิจการที่ลูกจ้างทำงานอยู่เปิดดำเนินการได้ รวมถึงการปิดเมืองในแต่ละพื้นที่สิ้นสุดลง หรือการประกาศใช้เคอร์ฟิวผ่อนปรนจนกลับมาอยู่ในภาวะปกติ และประชาชนกลับมาทำงานได้ตามปกติอาจพิจารณายุติเงินช่วยเหลือ

ในขณะที่ช่วงการจ่ายเงินช่วยเหลือ 3 เดือน จะมีความเป็นไปได้เพียงใดที่จะมีเงื่อนไขให้ประชาชนมีโอกาสได้พัฒนาทักษะ เพื่อรองรับหลังวิกฤติผ่อนคลายลง ซึ่งการระบาดของโรคโควิด-19 อาจทำให้รูปแบบการพัฒนาฝีมือแรงงานต้องปรับมาใช้เครื่องมือทางออนไลน์ หากสามารถทำได้จะทำให้งบประมาณที่ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเกิดประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ที่การทำความเข้าใจกับประชาชนให้รับทราบเงื่อนไขต่างๆ