“หุ้นโรงแรม” รีบาวด์ระยะสั้น-ทั้งปียังเหนื่อย !

“หุ้นโรงแรม” รีบาวด์ระยะสั้น-ทั้งปียังเหนื่อย !

การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 เพราะแทบทุกประเทศต่างออกมาตรการเข้ม จำกัดการเดินทางของนักท่องเที่ยวรวมทั้งคนในประเทศ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค

สำหรับประเทศไทยการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในรายได้หลัก คิดเป็นสัดส่วนราวๆ 12% ของจีดีพี และมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมากมาย ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร บริษัททัวร์ มัคคุเทศก์ ขนส่ง ฯลฯ แน่นอนว่าเมื่อการท่องเที่ยวต้องสะดุดจากพิษไวรัส ธุรกิจอื่นๆ ย่อมได้รับผลกระทบเจ็บตัวไปด้วย

ขณะนี้มีโรงแรมกว่าครึ่งประเทศต้องหยุดให้บริการชั่วคราวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงไปถนัดตา เพราะหากฝืนเปิดไปก็ไม่คุ้ม นอกจากนี้ หลายจังหวัดประกาศล็อกดาวน์ มีคำสั่งจากผู้ว่าฯ สั่งปิดโรงแรมชั่วคราว รวม 13 จังหวัด ณ วันที่ 7 เม.ย. ได้แก่ กาญจนบุรี, จันทบุรี, เพชรบูรณ์, ชลบุรี, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, ประจวบคีรีขันธ์, ขอนแก่น, อุดรธานี, นครราชสีมา, สุราษฎร์ธานี และเพชรบุรี

ทำให้บรรดาผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว โดยบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW เจ้าของเครือข่ายโรงแรมดังอย่าง แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ, เจดับบลิว แมริออท, ไอบิส, ฮ็อปอินน์ ทยอยปิดให้บริการโรงแรมในประเทศทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ไปถึงสิ้นเดือน หรือ จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดย ณ สิ้นปี 2562 มีโรงแรมในเครือทั้งหมด 65 แห่ง รวม 8,726 ห้อง

ส่วนโรงแรมฮ็อปอินน์ทั้ง 5 แห่ง ในฟิลิปปินส์หยุดให้บริการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ยกระดับประกาศใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19

กลุ่มเซ็นทรัล บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ประกาศว่าจะทยอยปิดให้บริการโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทาราในประเทศไทยบางแห่ง และอีกแห่ง 2 ในมัลดีฟส์

อีกหนึ่งกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ที่มีเครือข่ายโรงแรมทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา คาบสมุทรอินเดีย ยุโรป และอเมริการ รวม 530 แห่ง มากกว่า 78,000 ห้อง ภายใต้แบรนด์อนันตรา, อวานี, โอ๊คส์, ทิโวลี, โฟร์ซีซั่นส์, เซ็นต์ รีจิส, เรดิสัน บลู ฯลฯ

แจ้งทยอยปิดโรงแรมทั้งหมดในไทย และมาเลเซียที่ถูกสั่งปิดตามคำสั่งของรัฐบาล ส่วนในยุโรปสถานการณ์ยังน่าวิตก ต้องปิดโรงแรมทั้งหมดในประเทศอิตาลีและสเปนที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC แจ้งหยุดให้บริการโรงแรมชั่วคราวในประเทศไทย 7 แห่ง ที่เครือดุสิตเป็นเจ้าของ ประกอบด้วยโรงแรมดุสิตธานี พัทยา และโรงแรมดุสิตธานี ภูเก็ต ซึ่งหยุดให้การบริการทันทีตามคำสั่งของจังหวัด

ส่วนอีก 5 แห่ง ได้แก่ โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน, โรงแรมดุสิตดีทู เชียงใหม่, โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส เชียงใหม่, โรงแรม ดุสิตปริ๊นเซส ศรีนครินทร์ และโรงแรมดุสิต สวีท ราชดำริ กรุงเทพ ให้หยุดรับจองทันที

ด้านบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ปิดให้บริการโรงแรมในเครือ 5 แห่งในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 26 มี.ค.-15 เม.ย. 2563 ประกอบด้วย โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค, โรงแรมดับเบิ้ล ทรี บาย ฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพฯ, โรงแรมเลอ เมอริเดียน กรุงเทพฯ, โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ และโรงแรมแบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์

กลุ่มสิงห์ เอสเตท ภายใต้บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ปิดโรงแรมทั้งหมดในไทย ได้แก่ โรงแรม สันติบุรี เกาะสมุย, โรงแรม พีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ บีช รีสอร์ท, โรงแรม เอาท์ริกเกอร์ ลากูน่า ภูเก็ต บีช รีสอร์ท และ โรงแรม เอาท์ริกเกอร์ เกาะสมุย บีช รีสอร์ท ระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย. 2563

ส่วนโครงการครอสโรดส์ มัลดีฟส์ หยุดทำการชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563 โรงแรมในสหราชอาณาจักร 29 แห่ง ขณะนี้เกือบทั้งหมดหยุดให้บริการไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. และโรงแรมในสาธารณรัฐฟิจิและสาธารณรัฐมอริเชียส 3 แห่ง เตรียมความพร้อมหยุดทำการชั่วคราวตามมาตรการของภาครัฐ

ที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่มโรงแรมถูกถล่มขายหนัก ทำนิวโลว์ในรอบหลายปี รับข่าวร้ายไปมากแล้ว จะเห็นว่าในช่วง 2 สัปดาห์มานี้ เริ่มตั้งตัวได้ มีแรงซื้อกลับ แต่ยังไม่ยั่งยืน นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังแนะนำให้หลีกเลี่ยง เพราะถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อต้องเลื่อนเปิดให้บริการออกไปอีก ดังนั้น โอกาสที่จะถูกขายอีกรอบเป็นไปได้เสมอ

ยิ่งถ้าเห็นตัวเลขผลประกอบการที่จะทยอยประกาศในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า  แม้จะรู้กันอยู่แล้วว่าไม่สดใส แต่ก็ต้องระวังแรงขาย panic sell ไว้ด้วย เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ในช่วงที่ตลาดเบาะบางแบบนี้ ที่สำคัญต้องไปลืมว่าไตรมาสนี้ยังไม่ใช่จุดต่ำสุดแน่นอน