เตือน! วิกฤติโควิดเพิ่มประชากรยากจนทั่วโลก 500 ล้านคน

เตือน! วิกฤติโควิดเพิ่มประชากรยากจนทั่วโลก 500 ล้านคน

องค์กรด้านความช่วยเหลือระหว่างประเทศ เผย วิกฤติการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำลายเศรษฐกิจโลกและคร่าชีวิตผู้ป่วยไปแล้วเกือบ 90,000 คน อาจทำให้ประชากรโลกตกอยู่ในฐานะยากจนเพิ่มขึ้น 500 ล้านคน

มูลนิธิอ็อกซ์แฟม (Oxfam) เผยรายงานล่าสุดในวันนี้ (9 เม.ย.) ซึ่งมุ่งศึกษาผลกระทบจากวิกฤติไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ที่มีต่อปัญหาความยากจนทั่วโลก เนื่องจากครัวเรือนมีรายได้และการบริโภคที่ลดลง พบว่า การระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้บางประเทศมีฐานะยากจนลง จนเทียบได้กับเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว

“วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่นี้ นับว่าเลวร้ายกว่าวิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 2551 ด้วยซ้ำ” รายงานอ็อกซ์แฟมระบุ “จากการประเมินพบว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ระดับความยากจนทั่วโลกก็จะพุ่งสูงขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2533”

การเปิดเผยรายงานนี้มีขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลกในสัปดาห์หน้า

  • รายได้หด 20% อย่างแย่ที่สุด

คณะผู้วิจัยของอ็อกซ์แฟมอ้างอิงถึงเส้นความยากจนหลายระดับตามคำนิยามของธนาคารโลก ซึ่งครอบคลุมผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์ (ราว 62.32 บาท) ต่อวัน ไปจนถึงต่ำกว่า 5.50 ดอลลาร์ (ราว 180.41 บาท) ต่อวัน

ในกรณีร้ายแรงที่สุด หากคนกลุ่มนี้รายได้ลดลง 20% จำนวนประชากรที่ยากจนสุดขีดจะเพิ่มขึ้น 434 ล้านคน เป็น 922 ล้านคนทั่วโลก และภายใต้เงื่อนไขเดียวกันนี้จะมีประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 5.50 ดอลลาร์ต่อวันเพิ่มขึ้น 548 ล้านคน เป็นเกือบ 4,000 ล้านคน

รายงานชี้ว่า กลุ่มผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ชาย เนื่องจากมักประกอบอาชีพในเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งทำให้เข้าถึงสิทธิแรงงานได้น้อยนิดหรืออาจไม่มีเลย

“ประชากรที่ยากจนที่สุดเหล่านี้ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ไม่สามารถลางานหรือหาซื้อข้าวของยังชีพ” อ็อกซ์แฟมระบุ พร้อมชี้ว่า แรงงานนอกระบบกว่า 2,000 ล้านคนไม่มีสิทธิ์ลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารโลก เตือนว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะมีคนจนเพิ่มขึ้นถึง 11 ล้านคน หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่

  • เสนอทางออก 6 ข้อ

นอกจากนี้ อ็อกซ์แฟมเสนอแผนปฏิบัติการ 6 ข้อ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด ซึ่งรวมถึงการแจกเงินสดหรือเงินอุดหนุนแก่พลเมืองและภาคธุรกิจที่มีความเดือดร้อน, การยกหนี้, การสนับสนุนจากไอเอ็มเอฟ และการยกระดับความช่วยเหลือต่าง ๆ

ขณะเดียวกันยังเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์, ผลกำไรพิเศษ และสินค้าทางการเงินแบบเก็งกำไร เพื่อระดมเงินทุนที่จำเป็น

อ็อกซ์แฟม ระบุด้วยว่า รัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องระดมเงินทุนราว 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 82 ล้านล้านบาท) เพื่อสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถต่อสู้กับโรคโควิด-19 ได้