'เทพไท' ยินดีบริจาคเงินเดือน เข้ากองทุนสู้ไวรัสโควิด-19

'เทพไท' ยินดีบริจาคเงินเดือน เข้ากองทุนสู้ไวรัสโควิด-19

"เทพไท" ยินดีที่จะบริจาคเงินเดือนเข้ากองทุนสู้ไวรัสโควิด-19 เชื่อ ส.ส.แต่ละคนมีรูปแบบการช่วยเหลือประชาชนที่แตกต่างกัน

เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 63 นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสการเรียกร้องให้ ส.ส.และ ส.ว.บริจาคเงินเดือนเพื่อตั้งเป็นกองทุนสู้กับไวรัสโควิด-19 ว่า ในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้แสดงความเห็นไว้แล้วว่า สภาฯ ยังไม่มีความคิดเรื่องการหักเงินเดือนของ ส.ส. เพราะ ส.ส.ดูแลประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งต่างกับสมาชิกวุฒิสภาที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้ขอความร่วมมือให้สมาชิกวุฒิสภาบริจาคเงินเดือนคนละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทเข้ากองทุน ซึ่งทั้ง ส.ส. และ ส.ว. มีบริบททางการเมืองที่แตกต่างกันใน 3 ประการ คือ

1.เรื่องที่มา ส.ว.มาจาก การแต่งตั้งของ คสช. ไม่มีพื้นที่รับผิดชอบที่ชัดเจน ต่างกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีพื้นที่รับผิดชอบคือเขตเลือกตั้งของตนเอง

2.เรื่องบทบาท ส.ว.มีบทบาททางการเมืองแค่เป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ หรือสภาพี่เลี้ยงให้รัฐบาล แต่ ส.ส.มีบทบาทในฐานะตัวแทนของประชาชน ต้องทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับประชาชนโดยตรง

3.เรื่องหน้าที่ ส.ว.มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น ส่วน ส.ส.มีหน้าที่ออกกฎหมาย และควบคุม ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

เพราะฉะนั้น ทั้งที่มา บทบาท และหน้าที่ของ ส.ส.กับ ส.ว.แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ส่วนตัวไม่ขัดข้อง ยินดีที่จะบริจาคเงินเดือนเข้ากองทุนสู้ไวรัสโควิด-19 และเป็นสิทธิ์ของ ส.ส.แต่ละบุคคลที่จะบริหารจัดการกับเงินเดือนของตัวเองอย่างไร จะบริจาคเงินเดือนตลอดอายุของสภา หรือจะบริจาคเงินเดือนตลอดช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือจะบริจาคจำนวนกี่เดือนก็สามารถทำได้ตามจิตศรัทธา แต่ไม่ไปกดดันเพื่อน ส.ส.คนอื่นๆ เพราะ ส.ส.แต่ละคนมีรูปแบบและวิธีการบริจาคในการช่วยเหลือประชาชนที่แตกต่างกัน ในความเป็นจริง ส.ส.ทุกคน ต่างก็มีความรับผิดชอบต่อพี่น้องประชาชนในเขตเลือกตั้งของตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส.ส.คนใดไม่สนใจในการช่วยเหลือประชาชนก็สุ่มเสี่ยงกับการสอบตกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จึงต้องทำให้มีการร่วมกันต่อต้านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กับประชาชนในพื้นที่โดยปริยาย ต้องยอมรับความจริงว่ามี ส.ส.บางคนเสียค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือประชาชนมากกว่าเงินเดือนของ ส.ส.ที่ได้รับจากสภาฯด้วยซ้ำไป ส่วนตัวได้ใช้เงินเดือนในเดือนมีนาคมซื้อหน้ากากอนามัย และเงินเดือนในเดือนเมษายน ซื้อสเปรย์แอลกอฮอล์75% เพื่อแจกประชาชนในพื้นที่ และจะทำแบบนี้ต่อไปจนกว่าจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้

สำหรับการตั้งกองทุนเพื่อสู้กับไวรัสโควิด-19 อาจจะมีปัญหาในทางปฎิบัติว่าจะมีวิธีใช้เงินกองทุนอย่างไรให้กระจายไปได้ในทุกพื้นที่ ถึงมือประชาชนทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งแตกต่างกับการทำหน้าที่ของ ส.ส.จำนวน 500 คน ที่มีพื้นที่ความรับผิดชอบชัดเจน ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญและสนับสนุนบทบาทของ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน และทำงานใกล้ชิดกับประชาชน มีเครือข่ายเต็มพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลน่าจะใช้กลไกของฝ่ายนิติบัญญัติ ในการช่วยเหลือประชาชนร่วมกับฝ่ายรัฐบาล จะทำให้ประสบผลสำเร็จได้มากกว่า