รัฐบาลตั้ง 'ปลัดคลัง' คุมเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

รัฐบาลตั้ง 'ปลัดคลัง' คุมเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

รัฐบาล ตั้งปลัดคลังคุมกู้เงิน 1ล้านล้าน พร้อม สภาพัฒน์ ธปท. สศค.กลั่นกรองโครงการก่อนเสนอ ครม.

นายลวรณ แสงสนิท  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ในขั้นตอนต่อไปรัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการที่เสนอขอใช้เงินกู้ โดยได้ขอความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว พร้อมกับการพิจารณาร่าง พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวแล้ว ซึ่งการตั้งคณะกรรมการชุดนี้จะใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดนี้จะมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีกรรมการจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่สำคัญประกอบไปด้วย เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ผู้อำนวยการ สศค.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับอำนาจและหน้าที่ คือ หลังจากที่ร่าง พ.ร.ก.ประกาศใช้ จะวางเกณฑ์การใช้เงินกู้ การกลั่นกรองโครงการ รวมทั้งทำหน้าที่ในการกลั่นกรองโครงการเพื่อเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบก่อนที่โครงการจะได้รับการอนุมัติใช้เงิน รวมทั้งประเมินผลโครงการและกำกับติดตามการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก. ซึ่งต้องรายงานการใช้จ่ายเงินต่อ ครม.เป็นระยะ รวมทั้งรายงานเสนอต่อรัฐสภาภายในวันที่ 30 พ.ย.2563

นายลวรณ ตอบคำถามประเด็นสภาพคล่องในประเทศว่า มีเพียงพอรองรับการกู้เงิน โดยการกู้เงินจะเริ่มเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ และการกู้เงินแต่ละครั้งขึ้นกับการบริหารของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) โดยจะดูจังหวะของตลาดที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้วงเงินมากหรือน้อยเกินไป โดยเน้นต้นทุนทางการเงินที่ต่ำและเหมาะสมที่สุด

รวมทั้งไม่ได้เป็นการกู้เงินในครั้งเดียวมากรองไว้ ซึ่งมีกรอบการกู้ถึง ก.ย.2564 ทำให้สภพาคล่องในตลาดไม่ตึงตัวเกินไป โดยการกู้เงินต้องสอดคล้องกับโครงการที่มีแผนใช้เงินด้วย ซึ่งหาก พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้ภายในเดือน เม.ย.นี้ จะทำให้เริ่มกู้ได้ภายใน พ.ค.นี้ จะเริ่มกู้เงินส่วนแรกมาใช้ในโครงการเร่งด่วนภายในเดือน พ.ค.ทันที

สำหรับโครงการให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนเดือนละ 5,000 บาท ซึ่ง ครม.อนุมัติกรอบไว้ 6 เดือน แต่เมื่อจ่ายครบ 3 เดือน จะประเมินสถานการณ์โควิด-19 อีกครั้ง หากการระบาดสิ้นสุดอาจไม่ได้จ่ายต่อเนื่องไปจนถึง 6 เดือน