'เราไม่ทิ้งกัน' แล้วเงินจะถึงใคร? คำต่อคำ 'อุตตม สาวนายน' กับเงิน 1.9 ล้านล้านบาท

'เราไม่ทิ้งกัน' แล้วเงินจะถึงใคร? คำต่อคำ 'อุตตม สาวนายน' กับเงิน 1.9 ล้านล้านบาท

เคลียร์ทุกปม "เราไม่ทิ้งกัน" 5,000 บาท จากปาก "อุตตม สาวนายน" คลายทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรการเยียวยา รวมทั้งมาตรการ 1.9 ล้านล้านบาทที่จะเข้าไปหนุนให้ครอบคลุมประชาชนทุกคน

มาตรการ ลงทะเบียน www.เราไม่ทิ้งกัน.com รับเงิน เยียวยา 5,000 บาท โดยเปิดให้ ตรวจสอบสิทธิ์เราไม่ทิ้งกัน ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2563 เป็นต้นไป เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลและเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ในระยะที่ 2 ขณะที่มาตรการระยะที่ 3 นั้น รัฐบาลได้ออกมา เป็น พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท

คำถามสำคัญในวงเงินก้อนล่าสุดที่รัฐบาลออกมาตรการมานั้นอยู่ตรงที่ จะมีการบริหารจัดการอย่างไร และใครบ้างที่จะได้รับการดูแลจากเงินก้อนนี้

ล่าสุดวันนี้ (8 เม.ย.) อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มานั่งตอบทุกคำถามเกี่ยวกับ พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน และมาตรการที่เกี่ยวข้องในวงเงินดังกล่าวในรายการ newsroom ห้องข่าวเศรษฐกิจ ทางเนชั่นทีวี โดยเจ้าตัวเน้นย้ำเรื่องการดูแลให้ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่มให้มากยิ่งขึ้น

อ่านคำต่อคำจากปากของ ขุนคลัง คนล่าสุดได้ตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป!

158633706030

  • ผลกระทบจาก โควิด-19 จะสะเทือนเศรษฐกิจมากแค่ไหน

วิกฤติครั้งนี้เราไม่เคยเห็นมาก่อน เปรียบเทียบง่ายๆ คือปี ผลกระทบทางเศรฐกิจครั้งนี้แรงกว่าตอนวิกฤติปี 40 ที่มีไทยเป็นศูนย์กลาง ครั้งนั้นปัญหามาจากธุรกิจ สถาบันการเงินก็ปล่อยกู้เยอะ ภาคเอกชนมีผลกระทบ แต่ไม่ได้ถูกกระทบโดยตรง คนที่ตกงานเพราะภาคธุรกิจได้รับผลกระทบก็ยังสามารถกลับบ้านได้ หรืออย่างน้อยก็ยังมีข้าวกิน แต่ครั้งนี่ไม่ใช่ มันกระทบทั่วโลก การค้าขายของโลก ประเทศไทยเองส่งออกประมาณ 70% กระทบแน่นอน แต่มองภาพรวมต้องบอกว่า กระทบตั้งแต่ฐานรากขึ้นมาข้างบน ด้านผู้บริโภคตอนนี้กระทบแล้ว รัฐบาลมีมาตรการที่จำเป็นมาต่อสู้โควิด ทำให้กำลังซื้อในระบบหายไป เมื่อมีการซื้อน้อยการขายของได้น้อย เมื่อขายได้น้อยก็มีการลดค่าใช้จ่ายลงเป็นวงจร รัดตัวไปเรื่อยๆ กระทบกันไปทั้งหมด

  • ที่มาของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านคืออะไร และเป้าหมายสูงสุดของเงินก้อนนี้อยู่ตรงไหน

เม็ดเงินที่จะเสนอใช้สู้กับโควิด และดูแลเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งพ.ร.ก.ที่เสนอกู้นั้น คือ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนอีก 9 แสนล้านบาทนั้นจะใช้เงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็นผู้ดูแล แต่ต้องปลดล็อกให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเอาเงินมาใช้ได้

โดยรายละเอียดของงบประมาณ 1 ล้านล้านบาทนั้น การดูแลหลัก ก็คือ การดูแลภาคประชาชนให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งประชาชน และผู้ประกอบการมันแยกกันไม่ออกหรอกครับ ทุกคนได้รับผลกระทบหมด โดยเฉพาะภาคเกษตรกร กำลังซื้อหายไป รัฐบาลต้องดูแลให้เกษตรกรกลับมาเข้มแข็งให้ได้ ดูแลคนว่างงาน เกษตรกร และสาธารณสุข รัฐบาลใช้งบกลางฉุกเฉินไปเยอะเกี่ยวกับโควิด-19 แต่ก็ยังชัดเจนว่าไม่พอ จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมต้องกู้เงิน ถ้าพอเราไม่กู้อยู่แล้ว

  • ก้อนแรกจะใช้งบเท่าไหร่

งบก้อนแรกที่จะดูแลประชาชนโดยรวมให้ครบทุกกลุ่มโดยประมาณ 6 แสนล้านบาท คือ ดูแลคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยที่ว่าจะมีส่วนของประกันสังคมกับอาชีพอิสระที่รัฐดูแลอยู่แล้วด้วยงบประมาณจำนวนหนึ่ง แต่ที่จะเสนอเพิ่มคือ เกษตรกร โดย 5,000 บาทรอบแรกนั้นไม่ครอบคลุมครอบคลุมกับอาชีพเกษตรกร โดยเงิน 6 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งนั้นจะมาเติมในส่วนของการดูแลเกษตร อีกส่วนหนึ่งก็จะดูแลในส่วนของอาชีพอิสระ

  • รายละเอียดมาตรการเยียวของกลุ่มเกษตรกรเป็นอย่างไร

ตอนนี้กำลังเตรียมการ แต่หลักใหญ่ๆ นั้นจะดูเป็นรายครัวเรือน ข้อมูลที่ขึ้นทะเบียนตอนนี้มีพอสมควร แต่ส่วนจะเป็นในรูปแบบไหนนั้น กำลังดู แต่คงจะเป็นตัวเงิน ต้องเอาเงินใส่มือ นาทีนี้ มันเห็นชัด ถ้าระบบขาดสภาพคล่องมันมีผลชัดเจนอยู่แล้ว เพียวแต่ตอนนี้เรากำลังดูให้เหมาะสมรัดกุม ว่าให้เท่าไหร่ ทั้งหมดต้องผ่าน ครม. จะอุดช่องโหว่ ในการลงทะเบียนรอบนี้

ตอนนี้กำลังลงรายละเอียดกัน กำลังเตรียมการที่ต้องไปดูแล เพราะว่าภาคเกษตรกรเป็นกลุ่มใหญ่ของสังคม และเศษฐกิจ ที่โดนกระทบ และสมาชิกในครอบครัวที่ออกมาเป็นแรงงานได้กลับคืนท้องถิ่น

รวมๆ แล้วเราต้องดูแลภาคเกษตร เพราะมีคนกลับไปไม่มีงานทำ จากผลกระทบโควิด-19 ภาคเกษตร ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพราะกำลังซื้อลดลง ราคาพืชผลก็เริ่มตกต่ำ มันพันกันมา นี่เป็นเหตุผลที่จะดูแลภาคเกษตรนอกจากลูกจ้าง นอกจากระบบประกันสังคม อาชีพอิสระ

158633708368

 

สำหรับการดูแล คือ ให้สภาพคล่อง หรือ เติมเงินเข้าไปในกระเป๋า ตอนนี้กำลังจะเข้าฤดูกาลเพาะปลูก เมื่อถูกกระทบ ดีที่สุดคือจัดเงินทุน แต่เท่าไหร่ยังไง กำลังลงรายละเอียดกันอยู่ มีใช้ฐานข้อมูลที่ชัดเจนจาก กระทรวงเกษตรฯ จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมทั้งจากมหาดไทยนำมาประมวลตัวตนที่ถูกต้อง ซึ่งตอนนี้เท่าที่รู้ เกษตรกรคร่าวๆ มีราว 24 ล้านคน แยกเป็นครัวเรือนประมาณ 9 ล้านครัวเรือนจะถูกนำมาเติมในแง่ของครัวเรือนเกษตรกร เพื่อให้มีต้นทุน และเงื่อนไขสำคัญ คือเกษตรกรต้องได้รับผลกระทบจากโควิด-19

  • แล้วในกลุ่มธุรกิจท่องที่ยว โรงแรม ที่รัฐไม่ได้สั่งปิด แต่ปิดเอง เพราะไม่มีลูกค้า แล้วไม่เข้าข่ายเงื่อนไขจะมีการดูแลกลุ่มนี้อย่างไร

นี่ก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง หมายถึง ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ เขาถูกลดเงินเดือนก็มีการหารือแล้ว รัฐบาลก็ตระหนักถึงประเด็นนี้ ได้มีการหารือ มีแนวทางที่กระทรวงแรงงานฯ จะไปดูทำยังไงให้ดูแลกลุ่มนี้ได้ เป็นข้อสั่งการของท่านนายกฯ ให้กระทรวงแรงงานฯ ดูแล

ประการต่อมาคือ กลุ่มที่ไม่ถูกออกจากงานแต่ถูกลดรายได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอ หรืออะไรก็ตาม จะเยียวยาอย่างไร ขณะที่คนอีก 14 ล้านคนที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแต่ไม่ได้รับเงิน 5 พันบาท เขาจะได้รับมาตรการอะไร รัฐบาลจะพยายามดูแลทุกกลุ่ม สืบเนื่องจากผลกระทบ ถ้าท่านอยู่ในประกันสังคม ผลกระทบเข้าเกณฑ์ก็จะดูแลตามเกณฑ์ อาชีพอิสระ พวกนี้เราก็ดูแล กระทรวงการคลังฯ ดูแลตรงนี้ กลุ่มที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 39-40 คือ จ่ายเงินสมทบเอง ตรงนี้ก็ไม่ได้ทอดทิ้ง ได้รับสิทธิ์ 5 พันบาท เราก็จะพยายามดูแลให้ครบ

ส่วนกลุ่มบัตรสวัสดิการที่เดือดร้อน หนึ่งเรื่องบัตรสวัสดิการที่ได้รับก็จะได้ต่อไป ไม่ได้ไปลดอะไร ท่านได้สิทธินั้น ได้รับการเยีววยา แต่อย่างไรก็ตาม การที่อยู่ในกลุ่มบัตรสวัสดิการก็ไม่ได้ไปตัดสิทธิ์ท่าน ถ้าได้รับสิทธิ์ประกันสังคม ก็ยังได้อยู่ ถ้าประกอบอาชีพอิสระ ก็ยังได้อยู่ ไม่ได้ไปตัดสิทธิ์ท่านในการได้รับเงินต่างๆ

  • กลุ่มมนุษย์​เงินเดือนจะได้อะไรจากมาตรการการเยียวยารอบ 3 เพราะกระทบจากการลดเงินเดือน แต่ไม่ถูกยกเลิกจ้าง

เรื่องนี้กระทรวงแรงงานดูแลอยู่แล้ว การช่วยเหลือเยียวยาในกลุ่มชุดที่ 3 จะเข้ามาดูแล หลากหลายอาชีพที่ยังไม่ได้รับการดูแลรอบแรก ก็เป็นอีกงานหนึ่ง กลุ่มแรกเยียวยาที่เราพูดกัน กลุ่มที่สองก็ยึดโยงเศรษฐกิจภายในของเรา คือ รากฐานของเศรษฐกิจ รัฐเราต้องดูแล ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรม การผลิต แต่ต้องดูแลพื้นที่ด้วย วันนี้ชุมชนเราก็เป็นพื้นฐานเกษตร แต่วันนี้กำลังซื้อหายไป ขายของไม่ได้เลย มันลดลง

ต้องคิดล่วงหน้าว่าโลกภายหลังโควิด-19 เศรษฐกิจหลังโควิด-19 จะลดลงหรือไม่ เหมือนเดิมหรือไม่ ผมคิดว่าเราต้องคิดต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่แบ่งว่าวันนี้แค่เยียวยาแล้วค่อยไปแก้ข้างหน้า ปัจจุบันนี่ คือ โจทย์ใหญ่ แต่อะไรทำได้เพื่อเตรียมการฟื้นฟู มันจะได้ประโยชน์กับประชาชนอยู่แล้ว เพราะงั้นถ้าดูแลเศรษฐกิจฐานรากนี่คือเหตุผล เศรษฐกิจเสียหาย กำลังเข้าฤดูเพาะปลูกแล้วมีปัจจัยพอไหม ที่จะไปเพาะปลูก สอง แรงงานที่กลับไป เขาอาจกลับมาได้ที่เดิมหรือไม่ ไม่ทราบ อาจจะมีจำนวนพอสมควร หรือไม่ เพราะธุรกิจก็เรียนรู้ มีธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เปิดมากขึ้น

  • เงินอีก 4 แสนล้านบาท จะทำอะไรบ้าง

ผมบอกอย่างนี้นะครับว่า เพื่อให้คนในชุมชนไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือใครก็ตาม ตั้งหลัก ตั้งฐาน ตั้งมั่นให้ได้ ตั้งหลัก หมายถึงระยะสั้น ทำยังไงให้ตั้งหลักได้ ให้อยู่ได้ มีกินมีใช้ พอหมุนอยู่ก่อน แล้วก็ความตั้งใจเราก็จะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้ได้มากที่สุด แต่ที่เราควรต้องมองภาพข้างหน้าให้ยึดโยง คุณต้องพัฒนาอาชีพ อันนี้คือตั้งฐาน เราจะเพิ่มรายได้ให้เศรษฐกิจชุมชน ยกระดับอาชีพใหม่ สร้างงานสร้างอาชีพ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องถนนในหมู่บ้าน มุ่งไปที่เกษตรแปรรูป และรัฐวิสาหกิจชุมชน

โดยการดำเนินการดังกล่าวจะอยู่บนหลักการดูแลเฉพาะหน้า ระยะสั้น ตั้งหลักให้ได้ก่อน มุ่งเน้นในระดับชุมชน ในการหารายได้ใหม่ๆ พอตั้งหลักได้ ก็เสริมความรู้ เพื่อดูแลปัจจัยการผลิต ในภาพรวม เขาจะต้องใช้เวลาให้มีค่าที่สุด เสริมทักษะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งเน้นเรื่องการศึกษาเสริมทักษะงานใหม่ไว้รองรับในพื้นที่

  • กระทรวงไหนบ้างที่มีสิทธิใช้งบก้อนนี้

ทุกกระทรวงมีส่วนร่วม แล้วแต่ความเหมาะสม พอ พ.ร.ก.ผ่าน ก็เชิญหน่วยงานมาหารือกัน เพื่อเสนอ ครม. ทุกแผนงานเข้า ครม. ถึงจะปฏิบัติ นาทีนี้ ต้องมาร่วม มุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ งบประมาณที่จะกู้ มันมีความยืดหยุ่นได้ เพราะไม่มีใครบอกว่าโควิดจะไปยังไงต่อ ที่เศรษฐกิจติดตามเพื่อให้ใช้งบอย่างเหมาะสมที่สุด และครอบคุมทุกกลุ่ม กำลังไล่ๆ กันมา แต่เราดูแลไป ตามสถานการณ์โควิด-19 เราทำเท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์

158633711050

  • สำหรับผู้ประกอบการ SMEs จะมีการดูแลอย่างไร

การช่วยเหลือผู้ประกอบการ หรือที่เรียกว่า การช่วยเหลือ SMEs นั้น เราก็จะมีเรื่องของเงินกู้พิเศษแสนล้านบาท ก็ออกไปแล้ว ธนาคารออมสิน หรือ ธกส. ก็ออกไปแล้ว รวมถึงมาตรการอื่น ยังใช้อยู่ แต่ที่ออกมาจากผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย จะปล่อยให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกินร้อยละ 2 ให้ผู้ประกอบการ และ SMEs ที่มีบัญชีกู้อยู่แล้ว ถ้ามีบัญชีเงินกู้อยู่แล้ว ก็สามารถเข้าไปรับสิทธิ์ได้ มาตรการนี้ทำให้การปรับโครงสร้างนี้ทำได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น กลุ่มกู้อยู่แล้ว ก็สามารถมากู้เพิ่มได้ส่วนหนึ่ง เติมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการที่จำเป็นว่าจะไปเติมความอยู่รอด ให้สามารถจ้างงานได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ชี้แจงไปว่าให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย

ส่วนการควบคุมเงินกว่า 5 แสนล้านบาทให้ถึง SMEs โดยตรงนั้น ธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารรัฐเอง จะต้องตะหนักดัวยตัวเองว่าต้องช่วยกัน บางส่วนต้องเสียสละ และเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยโดยวิธีการและระบบมีการดูแลอยู่แล้ว มีคณะกรรมการกลั่นกรอง ต่อมาก็มาตรการติดตามประเมินผล รายงานครม.ทุกระยะ ไม่เกิน 60 วันต้องรายงานรัฐสภา โดยครม.เป็นคนกำกับดูแล

  • มั่นใจไหมว่า เงินก้อนนี้แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อยู่ทั้งหมด

เชื่อเช่นนั้น จากข้อมูลที่มีทั้งหมด เชื่อว่าสิ่งที่ออกมาจะจัดการสถานการณ์นี้ได้ จะเอาอยู่ได้ ทุกคนคิดร่วมกันเศรษฐกิจก็จะเดินไปได้ แต่ภาคส่วนต้องมาช่วยกันนะครับ