พยุงเศรษฐกิจ จำเป็นอย่างยิ่ง

พยุงเศรษฐกิจ จำเป็นอย่างยิ่ง

มาตรการพยุงเศรษฐกิจ ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจไทยชะลอตัวจากภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19 ล่าสุดมีมติ ครม.วงเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แม้จะไม่การันตีได้ว่าจะประคองเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน แต่ก็เป็นการเยียวยาประชาชน และสอดคล้องกับนานาประเทศ

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ ต้องบอกว่า เป็นครั้งประวัติศาสตร์อีกครั้งของประเทศไทย ที่ต้องระดมทุน ร่วมมือครั้งสำคัญของทุกองค์กร เพื่อออกมาตรการประคับประคองเศรษฐกิจไทย กับมหันตภัยโควิด วงเงินสูง 2 ล้านล้านบาท ที่สำคัญเราไม่อาจการันตีได้ว่า จะสามารถประคับประคองเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน เพราะตัวแปรอยู่ที่สถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่นิ่ง ทิศทางจะเป็นเช่นไร จะยุติไตรมาสไหน ดังนั้นมาตรการชุดใหญ่ 2 ล้านล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานที่คาดว่าจะยุติในไตรมาส 2 แต่หากยืดเยื้อกว่านี้ ก็ต้องเตรียมออกมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งเป็นความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ แม้บางมาตรการจะเป็นเรื่องระยะสั้นก็ตาม ซึ่งแนวทางของไทยก็สอดคล้องกับหลายประเทศ ที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้และมาตรการที่ผ่านคณะรัฐมนตรีวานนี้ก็อยู่ภายใต้วินัยการเงิน การคลัง 

มาตรการที่ออกมา เริ่มจาก 1.การออกพระราชกำหนดหรือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท แนวทางที่ 2.การออก พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จัดตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลตลาดตราสารหนี้เอกชนวงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อให้ ธปท.สามารถเข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนที่มีเครดิตเรทติ้งไม่น้อยกว่า investment grade ขึ้นไป

3.การออก พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.จัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลน วงเงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ พิจารณาวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน หรือสินเชื่อระยะยาว อายุการปล่อยกู้ไม่เกิน 2 ปี สำหรับผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีรายกลางและรายย่อย ซึ่งมียอดสินเชื่อรวมทั้งกลุ่มไม่เกิน 500 ล้านบาท และจำกัดเฉพาะบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือในตลาดใหม่ คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 1.7 ล้านราย และ 4.การออกพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่ปรับลดจากงบประมาณของกระทรวงต่างๆ 8 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท 

ถามว่าดำเนินการเช่นนี้ของไทย เสียวินัยการเงินการคลังหรือไม่ ต้องบอกว่ายังอยู่ในกรอบวินัยตามหลักการสากล อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมายืนยัน การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทของรัฐบาลจะทำให้หนี้สาธารณะของรัฐบาล ในปี 2564 ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 57% ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ 42% ของจีดีพี

โดยประมาณการการขยายตัวของจีดีพีปีนี้ตามที่ ธปท.ประเมินจะอยู่ที่ ลบ 5.3% และบวก 3% ในปีหน้า ซึ่งก็ถือว่าใกล้เพดานหนี้ 60% จีดีพี ที่ยอมรับการทั้งโลก แต่เมื่อใดที่สูงกว่าระดับนี้ ก็ถือว่าน่าวิตก เนื่องจากเป็นความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ เพราะมาตรการประคับประคองเศรษฐกิจแบบแจกเงิน อุ้มหุ้นกู้ ไม่เฉพาะไทย ระดับประเทศชั้นนำ ญี่ปุ่น สหรัฐ ก็ดำเนินการตามนี้

ล่าสุด แลร์รี่ คุดโลว์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ออกมาบอกแล้วว่า บรรดาที่ปรึกษาของทำเนียบขาวกำลังหารือถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับการออกพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เพื่อระดมทุนสำหรับการรับมือโควิด-19 เพราะตอนนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 7 เม.ย.2563 สหรัฐพบผู้ติดเชื้อสะสมรวม 367,650 ราย เสียชีวิต 10,943 ราย ส่วนญี่ปุ่นได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว และรัฐบาลจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดมูลค่า 108 ล้านล้านเยน หรือราว 9.89 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด คิดเป็น 20% ของจีดีพีของญี่ปุ่น รวมถึงการแจกเงินสดรวมทั้งสิ้น 6 ล้านล้านเยนให้แก่ครอบครัวและบริษัทที่ได้รับผลกระทบ