เมื่ออัตราหย่าร้างเพิ่มขึ้น ภายหลัง 'โควิด-19'!

เมื่ออัตราหย่าร้างเพิ่มขึ้น ภายหลัง 'โควิด-19'!

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาปรับวิถีการทำงาน จากออฟฟิศสู่บ้าน หลายคนอิ่มเอมการทำงานและพักผ่อนในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่คู่สามีภรรยาต้องอยู่ที่บ้านด้วยกันตลอดเวลา กลับกลายเป็นบ่อเกิดของปัญหาการหย่าร้างที่เพิ่มมากขึ้น

ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 นี้ การทำงานที่บ้าน หรือ Work from home (WFH) กลายเป็นเรื่องปกติของเกือบทุกครัวเรือน ในสัปดาห์แรกๆ หลายๆ คนก็ยังมีความสุขกับการทำงานที่บ้าน เนื่องจากรู้สึกเหมือนได้พักร้อนไปในตัว แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปและยังไม่มีทีท่าว่าการทำงานที่บ้านจะจบสิ้นลงเมื่อใด ความรู้สึกดีๆ เหมือนได้พักร้อนก็เริ่มหมดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าในบ้านใดที่ทั้งสามีและภรรยาต่างจะต้องทำงานที่บ้าน และพบเจอกันตลอด 24 ชั่วโมงทุกๆ วัน ในพื้นที่ที่จำกัด น้ำผึ้งพระจันทร์ที่ว่าหวานก็อาจจะเริ่มขมได้

เมื่อคู่สามีภรรยาต้องอยู่ที่บ้านด้วยกันตลอดเวลา ก็มีมุกตลกที่แพร่หลายกันว่าเมื่อโควิดคลี่คลายแล้ว ภายในสิ้นปีนี้หรือปีหน้า ถ้าไม่มีเด็กเกิดใหม่มากขึ้น ก็จะมีอัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ได้มีตัวเลขออกมายืนยันในเรื่องนี้แล้ว โดยหลังจากคำสั่งปิดเมืองที่เมืองซีอาน ประเทศจีน ผ่านพ้นไป เดือน และเมื่อเหตุการณ์เริ่มคลี่คลายและมีการเปิดทำงานของหน่วยราชการตามปกติเมื่อวันที่ มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่าอัตราการหย่าร้างในเมืองซีอานเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ ขณะที่สำนักงานทะเบียนแห่งหนึ่ง ในเขตเมืองซีอาน ที่ต้องมีการจองและนัดหมายเพื่อขอหย่าร้างนั้น เต็มตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค.จนถึงวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา (ที่ประเทศจีน จะไปทำการหย่าร้างจะต้องขอนัดหมายไปก่อน และบางสำนักงานก็รับได้แค่ 5 นัดหมายต่อวัน)

ดังนั้นเหตุการณ์เช่นนี้ จะต้องตระหนักว่าเมื่อสามีภรรยาจะต้องอยู่บ้านด้วยกันตลอดทั้งวัน ถ้าไม่ระวังให้ดีอาจจะส่งผลในเชิงเสียต่อความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ได้ เพราะต้องอย่าลืมว่าความท้าทายที่สำคัญในชีวิตคู่ของคน 2 คนที่มีพื้นฐานที่ไม่เหมือนกัน คือการบริหารความแตกต่างระหว่างกัน ซึ่งในอดีตวิธีหนึ่งในการบริหารความแตกต่างระหว่างคน 2 คน คือการออกไปทำงานที่ทำให้ไม่ต้องพบเจอกันอย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน

แต่เมื่อสถานการณ์โควิดผลักดัน คู่สามีภรรยากลับต้องอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลานานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ความแตกต่างที่มีอยู่ระหว่างคน 2 คน ก็จะยิ่งถูกขยายให้ชัดเจนและใหญ่โตยิ่งขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการใช้ชีวิตคู่ทั้งหลายก็เริ่มออกมาให้คำแนะนำต่อคู่สามีภรรยาที่ต้องทำงานและใช้ชีวิตร่วมกันในช่วงสถานการณ์โควิดนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะออกมาคล้ายกัน นั่นคือ จะต้องเริ่มจากจะต้องยอมรับถึงความแตกต่างระหว่างแต่ละคนให้ได้ก่อน ถึงแม้บางคู่จะแต่งงานกันมานานเป็นสิบๆ ปี แต่ในอดีตก็ไม่ได้มีโอกาสอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมงนานเป็นเดือนๆ ขนาดนี้ ดังนั้นต้องเริ่มจากอย่าไปตั้งสมมติฐานว่าอีกฝ่ายหนึ่ง จะคิดเหมือนตนเองในทุกๆ เรื่อง มิฉะนั้นก็จะเริ่มหงุดหงิดและอารมณ์เสียได้ง่าย ถ้าอีกฝ่ายทำสิ่งที่ขัดกับสิ่งที่ตนเองต้องการ

จากนั้นก็จะต้องเริ่มสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น โดยควรจะเป็นการตกลงร่วมกันในประเด็นสำคัญๆ ทั้งการใช้ชีวิตร่วมกัน การดูแลบ้าน และการทำงานของแต่ละฝ่าย อาทิ คนหนึ่งอาจจะมีงานสำคัญที่จะต้องทำให้เสร็จและไม่อยากจะถูกรบกวน ก็ควรจะพูดคุยกันให้ชัดเจนถึงความสำคัญและจำเป็น มิฉะนั้นก็อาจจะถูกอีกฝ่ายตอแยตลอดว่าทำแต่งาน โดยไม่สนใจช่วยงานบ้านเลย การกำหนดตารางในแต่ละวันร่วมกันก็เป็นข้อเสนอแนะหนึ่ง โดยเฉพาะการล็อกช่วงเวลาที่ไม่ต้องการที่จะถูกรบกวนเพื่อที่จะได้มีสมาธิกับงาน หรือ ถ้ามีพื้นที่เพียงพอ ก็กำหนดพื้นที่ในการทำงานไม่ให้อยู่ที่เดียวกัน และเมื่อฝ่ายหนึ่งเข้าไปในพื้นที่ทำงานของตนแล้ว อีกฝ่ายก็ไม่ควรจะรบกวนถ้าไม่จำเป็น

จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัวสำหรับทุกๆ คู่ สำคัญคือจะต้องยอมรับถึงความแตกต่างและต้องสื่อสารกันให้มากขึ้น ดังนั้นในสถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เพียงแค่ดูแลสุขภาพกายของตนเองและคนรอบตัวเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ในชีวิตอยู่ก็ต้องได้รับการดูแลด้วยเช่นเดียวกัน