จับตาแรงขายต่างชาติ โบรกฟันธง ‘เริ่มชะลอ’

จับตาแรงขายต่างชาติ โบรกฟันธง ‘เริ่มชะลอ’

จบไตรมาส 1 ปี 2563 ของตลาดหุ้นไทย ด้วยการที่นักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นฝ่ายขายสุทธิอีก 1.15 แสนล้านบาท ต่อเนื่องจากปีก่อนทั้งปี ซึ่งขายสุทธิ 4.52 หมื่นล้านบาท

 รวม 3 ปีที่ผ่านมา ขายสุทธิไป 4.83 แสนล้านบาท ส่วนเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ต่างชาติขายสุทธิไป 6 พันล้านบาท

หากพิจารณสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย จะเห็นว่าจากมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดกว่า 8 ล้านล้านบาท ในไตรมาสแรก เป็นสัดส่วนจากนักลงทุนต่างชาติถึง 39% รองลงมาคือนักลงทุนรายบุคคลในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนราว 38% ขณะที่นักลงทุนสถาบันมีสัดส่วน 12% และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อีก 11%

ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า ทิศทางเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) น่าจะยังคงเป็นฝั่งขายต่อเนื่องในระยะถัดจากนี้ เพราะปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณเชิงบวกจากตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งจีดีพี กำไรบริษัทจดทะเบียน และล่าสุดดัชนีดอลลาร์ (Dollar index) ก็ปรับตัวแข็งค่าอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าแรงขายอาจจะค่อยๆ เบาลง เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติขายมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และสัดส่วนการถือครองก็ลดลงมาใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2551

“แม้ว่าแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติจะลดลงไป แต่ผู้เล่นหลักในตลาดหุ้นไทยปัจจุบันคือสถาบันและนักลงทุนในประเทศ หากแรงขายมีน้อย เชื่อว่าเม็ดเงินภายในประเทศก็เพียงพอจะผลักดันดัชนีกลับขึ้นไปได้เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น”

สำหรับทิศทางตลาดในไตรมาส 2 นี้ เชื่อว่าจะยังเป็นลบต่อเนื่องจากไตรมาสแรก เพราะเศรษฐกิจไทยอิงกับภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก จึงมีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ยากหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่คลี่คลาย ทั้งนี้ ประเมินว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยุติใน 2 เดือน ระดับดัชนีที่ 1,000 จุด น่าจะเป็นแนวรับสำคัญ แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปมากกว่านั้น มีโอกาสที่ดัชนีจะลงไปทดสอบระดับ 900 จุด นอกจากนี้ ประเมินกรอบด้านบนไว้ที่ 1,163 จุด และ 1,223 จุด

ทางด้าน บล.เอเซียพลัส ระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ปัจจัยรุมเร้ามากมาย กดดัน Fund Flow ไหลออกจากตลาดการเงินของไทย ทั้งในส่วนของตลาดหุ้น ที่ต่างชาติขายสุทธิกว่า 1.21 แสนล้านบาท (ณ  7  เม.ย.) และขายสุทธิตลาดตราสารหนี้อีก 1.12 แสนล้านบาท กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าขึ้นมา จนล่าเคลื่อนไหวในระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ หรือกว่า 10% ด้วยแนวโน้มของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ต่างชาติมีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ ส่งผลให้ Fund Flow ยังมีโอกาสชะลอการไหลเข้าต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ประเด็นดังกล่าว แม้จะกดดันภาพรวมตลาด อย่างไรก็ตามยังพอมีหุ้นที่ได้ปัจจัยหนุนเฉพาะตัวเข้ามาชดเชย Fund Flow ที่ขาดหายไป โดยฝ่ายวิจัยแบ่งกลยุทธ์ออกเป็น 2 ส่วน คือ

หุ้นที่ได้แรงหนุนจาก Fund Flow ในส่วนของกองทุน SSF เงื่อนไขพิเศษเข้ามาชดเชยพอดี ฝ่ายวิจัยได้มีการรวบรวมและวิเคราะห์ว่ากองทุนรวมทั้งหมดที่มีนโยบายคล้ายคลึงกับ SSF เงื่อนไขพิเศษ ทั้งหมด 14 ใน 18 กองทุน ว่ามีหุ้นอะไรบ้างเป็นที่นิยมในการลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ CPALL, BAM, GULF, INTUCH และ CPF

อีกส่วนหนึ่ง แนะนำหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า โดยเฉพาะกลุ่มส่งออกเกษตรและอาหาร เพราะจะทำให้การแข่งขันกับคู่แข่งในประเทศเพื่อนบ้านได้ดีขึ้น และแปลงรายได้เป็นเงินบาทได้มากขึ้น หนุนประสิทธิภาพการทำกำไรของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยฝ่ายวิจัยชอบ 3 หลักทรัพย์ ได้แก่ CPF ซึ่งแนวโน้มกำไรสุทธิปี 2563-2564 จะเพิ่มขึ้น 16.8% และ 4.7% ตามลำดับ ถัดมาคือ STA โดยคาดผลการดำเนินงานปี 2563 จะพลิกกลับมาเป็นกำไรสุทธิ 813 ล้านบาท จากที่ขาดทุนสุทธิ 149 ล้านบาท ในปี 2562 สุดท้ายคือ TU ซึ่งแนวโน้มกำไรสุทธิปี 2563-2564 จะฟื้นตัว 26.6% และ 9.4% ตามลำดับ