เลื่อนเปิดเทอม พ่อแม่กุมขมับ! จะรับมือลูกช่วงอยู่บ้านอย่างไรดี?

เลื่อนเปิดเทอม พ่อแม่กุมขมับ! จะรับมือลูกช่วงอยู่บ้านอย่างไรดี?

หลังคำสั่ง "เลื่อนเปิดเทอม" ไปเป็นวันที่ 1 ก.ค.63 เพื่อลดความเสี่ยงของโรคระบาด "โควิด-19" ที่อาจทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเครียดจนต้องยกมือกุมขมับว่า จะรับมือกับเด็กๆ ไม่ว่าจะเด็กเล็ก วัยเรียน หรือวัยรุ่นอย่างไรดี.. เรื่องนี้ "ยูนิเซฟ" มีคำแนะนำมาฝาก

มาตรการกักตัวอยู่บ้าน ตามนโยบายของรัฐบาลไทยเพื่อป้องกันโรคโควิด-19’ นั้นส่งผลกระทบทุกภาคส่วน ตั้งแต่เศรษฐกิจระดับประเทศ จนถึงประชาชนตัวเล็กๆ ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงาน โดยหลายๆ ออฟฟิศเริ่มสั่งให้ทำงานที่บ้าน หรือ Work from home

ส่วนโรงเรียนก็ปิดยาวๆ โดยล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีประกาศให้สถานศึกษาเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 จากวันที่ 16 พฤษภาคม .. 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม .. 2563

แน่นอนว่า ความเครียดของประชาชนพุ่งขึ้นเป็นเท่าตัว โดยเฉพาะบ้านหรือครอบครัวที่มีเด็กเล็ก วัยเรียน วัยกำลังโต ยิ่งทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเครียดจนต้องยกมือกุมขมับ และหาทางจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ยูนิเซฟ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (unicef) ให้คำแนะนำเคล็ดลับในการดูแลเด็กในภาวะการระบาดของไวรัสโคโรน่า สรุปได้คือ 

158625846113

  • เวลาว่างเยอะนัก ก็ใช้กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวไปซะเลย 

สภาพสังคมเร่งรีบในปัจจุบัน ทำให้ความใกล้ชิดของครอบครัวยุคใหม่ลดน้อยลง ปัจจุบัน มีเด็กเพียง 1 ใน 3 หรือราว 30% ที่ได้อยู่กับพ่อแม่จริงๆ นอกนั้นคืออยู่กับปู่ย่าตายาย ผู้ปกครอง เด็กไม่มีความผูกพันที่มั่นคงกับคนเลี้ยงดู และเจอปัญหาการเลี้ยงดูในหลายรูปแบบ ได้แก่การตามใจเพราะพ่อแม่จะรู้สึกว่าตนเองไม่มีเวลา จึงทดแทนโดยการซื้อของให้ ตามใจ พาไปเที่ยว ด้านปู่ย่าตายาย ไม่มีแรงจะบ่น จะจบด้วยการตามใจ 

ดังนั้นแล้ว ช่วงเวลากักตัวถึงถือเป็นโอกาสดีที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองจะได้ใกล้ชิดกับบุตรหลานของตนเองด้วยการทำกิจกรรมอย่างเต็มที่ ทั้งนี้การใช้เวลาทั้งวันก็อาจจะเป็นปัญหาที่ปวดหัวมากกว่าเดิม จึงมีเคล็ดลับคือ 

จัดสรรเวลาให้เด็ก อาจจะใช้เวลาวันละ 20 นาที ที่สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ทั้งหมด 

ถามความคิดเห็นของพวกเขาว่าอยากทำอะไร หากผู้ปกครองเลือกกิจกรรมโดยไม่ได้ถามความต้องการของบุตรหลาน จากที่ต้องการกระชับความสัมพันธ์อาจกลายเป็นการบังคับและส่งผลให้ความสัมพันธ์แย่ลงก็ได้ ดังนั้นการว่าถามถือเป็นแนวทางที่ดี เพื่อให้เขาได้แสดงความคิดเห้นและตกลงร่วมกัน ทั้งยังเป็นการฝึกนิสัยการแสดงความคิดเห็นอีกด้วย 

  • พูดกับลูกด้วยความเข้าใจ 

ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน และ ลูกเราก็ไม่ได้น่ารักสำหรับเราในบางเวลาเช่นเดียวกัน  อย่างช่วงงอแง งี่เง่า ที่ทำให้พ่อแม่ต้องกุมขมับ โดยเฉพาะช่วงกักตัวอยู่ในบ้าน ที่ทำให้เด็กเครียดส่งแสดงพฤติกรรมไม่น่ารักออกมาหลายอย่าง ดังนั้นแล้วการดุ ด่า ว่ากล่าว จึงถือเป็นวิธีปราบลูกขั้นต้นที่ทุกบ้านเลือกใช้ ตัวอย่างเช่น การกล่าวว่า “หยุดเดี๋ยวนี้นะ!” “เลิกทำ! ไม่งั้นจะโดนฟาด”  แต่การพูดหรือดุบางประโยคอาจทำให้เด็ก เครียด หรือสถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม  

ยุนิเซฟแนะนำว่าหลักการพูดคือต้องเข้าใจพวกเขาและพูดในเชิงบวก เอาใจลูกมาใส่ใจเรา ทำความเข้าใจในสิ่งที่ลูกคิดหรือสิ่งที่ลูกรู้สึกว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขา ถ้าพ่อแม่เข้าใจลูกและรู้ว่าพวกเขามีความคิดอย่างไรแล้วล่ะก็ (ต้องเข้าใจจริงๆ นะ ไม่ใช่แสร้งว่าเข้าใจ)   จะนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อ-แม่กับลูกวัยรุ่น เนื่องจากลูกจะรับรู้ถึงความใส่ใจห่วงใยของพ่อแม่ ทำให้เด็กในวัยนี้ไม่เกิดความรู้สึกต่อต้านหรืออยากท้าทายซึ่งจะทำให้ลูกกล้าจะเปิดใจพูดคุยกับพ่อแม่ในที่สุด นอกจากนี้ยังทำให้เด็กๆ ใจเย็นลงอีกด้วย 

158625848992

     

ในสถานการณ์โรคละบาดเช่นนี้ ก็ต้องอธิบายสถานการณ์ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น หรือเรากำลังเผชิญกับอะไร

    

  • จัดการกับภาวะอารมณ์ของพ่อแม่เป็นอันดับแรก 

เมื่อลูกทำอะไรให้เราโกรธ เด็กน้อยของเรากำลังกดสวิตซ์ให้ความโกรธของพ่อแม่อย่างเราเริ่มเดินเครื่อง ภาวะเช่นนี้ นักจิตวิทยาเรียกว่าปีศาจน้อยปฐมวัยซึ่งหมายถึงเด็กๆ มักเป็นสิ่งเร้าให้อารมณ์โกรธพลุ่งพล่านได้มาก และจบเรื่องราวฉากนี้ด้วยการที่พ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่ระเบิดอารมณ์และการกระทำที่รุนแรงออกไปยังลูก อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว และทำให้สถานการณ์ทุกอย่างแย่ลงกว่าเดิม  ดังนั้นแล้วขั้นตอนแรกจึงต้องระงับอารมณ์ของผู้ปกครองให้อยู่ในภาวะปกติเสียก่อน เคล็ดลับคือ 

158625850157

ตั้งสติก่อนสตาร์ต หายใจลึกๆ หยุดกิจกรรมที่ตัวเองกำลังทำอยู่ และดึงระดับความโกรธลงมาแล้วค่อยลงมือโกรธอย่างมีเหตุผลความสงบของคุณพ่อคุณแม่ที่เกิดขึ้นจะทำให้เรียนรู้บทเรียนใหม่ เพื่อแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยการไม่ใช้อารมณ์สาดใส่กันอีกด้วย

Timeout การหยุดตัวเอง หรือ timeout เพื่อเดินออกจากจุดนั้น และไปทำอย่างอื่นเพื่อสงบจิตใจก่อน เดินผละออกจากลูกมาเพื่อลดการปะทะ และความตึงเครียด รอให้อารมณ์เย็นลงสักนิด แต่ทั้งนี้ การเดินผละออกจากลูกไม่ได้หมายความว่า จะทำให้ลูกรู้สึกว่าเกมนี้พวกเขาถือไพ่เหนือกว่า แต่หลายครั้งที่นักจิตวิทยาพบว่า เมื่อพ่อแม่เดินหนี จะทำให้เด็กๆ รู้สึกได้เองว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีสิ่งไม่ปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเด็กโตสักหน่อยแล้ว พวกเขาจะมีความเข้าใจและหยุดพฤติกรรมที่เร่งเร้าความโกรธของพ่อแม่ได้ และคาถาที่สำคัญที่สุด

"พ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดีของลูก หากเราเรียนรู้ที่จะจัดการอารมณ์ของพวกเขาได้อย่างสมเหตุสมผล ขณะเดียวกันหากเราโกรธระดับสิบ ลูกก็จะซึมซับความแรงของอารมณ์ของเราติดตัวเขาไปจนโต"

สุดท้ายนี้ ถึงแม้เด็กๆ หลายคนจะต้องปิดเทอมยาวนานกว่าปกติ ไม่มีซัมเมอร์ พ่อแม่อย่าลืมเรื่องสุขลักษณะนิสัย เวลาทานอาหาร และเวลานอนยังควรต้องสม่ำเสมอ ตรงเวลา และทุกงานที่ลูกทำ อย่าลืมชมลูกๆ ทุกครั้งด้วย ชมแบบระบุพฤติกรรมที่ดี สิ่งที่ลูกทำ เช่น “คุณแม่ชื่นชมหนูมากเลยนะคะลูก ที่หนูเก็บของเล่นเมื่อเล่นเสร็จ หนูมีความรับผิดชอบมากๆ เลยค่ะ”

และขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ที่ตอนนี้ต้องเข้าสู่โหมด Working From Home เราจะสู้ไปด้วยกัน!