เปิดไฟลิ่งค้าปลีก “OR” สวนภาวะพร้อมเข้าตลาดหุ้น

เปิดไฟลิ่งค้าปลีก “OR”   สวนภาวะพร้อมเข้าตลาดหุ้น

นักลงทุนเฝ้าติดตามการนำธุรกิจค้าปลีก บริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ของกลุ่ม ปตท. กระจายหุ้นให้กับประชาชน (IPO) และ เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มาโดยตลอด

น่าจะตื่นเต้นปนสงสัยกับการยื่นไฟลิ่งเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา ว่าเป็นช่วงเวลาะเหมาะสมหรือไม่

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะนำบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนตั้งแต่ปี 2561-2562 แต่ต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2563 หากแต่ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัส ที่ต้องใช้พ.ร.บ. ฉุกเฉิน ตามมาด้วยการประกาศเคอร์ฟิวนั้นทำให้การใช้ชีวิตประจำวันยากลำบากมากขึ้น จึงทำให้มีหลายบริษัทจำใจต้องเลื่อนเข้าตลาดหุ้นออกไปอย่างไม่มีกำหนด

หากแต่กลุ่มปตท. กลับมองสวนทางกับบรรยากาศในช่วงนี้ จึงทำให้เป็นที่ชัดเจนว่าในปีนี้จะมีหุ้นใหญ่และอยู่ในความสนใจเข้ามาดึงบรรยากาศการลงทุนในครึ่งปีหลัง ซึ่งการเสนอขายหุ้นหลังจากยื่นข้อมูลไฟลิ่งกับทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บริษัทจะต้องจดทะเบียนซื้อขายภายใน 6 เดือน หลังจากคำขอเสนอขายหุ้น IPO ได้รับอนุญาต และสามารถขอขยายเวลาได้อีก 6 เดือน (รวมระยะเวลาแล้วไม่เกิน 1 ปี นับจากได้รับอนุญาต)

รวมทั้งความน่าสนใจของการเป็นหุ้นใหญ่ และกำไรดี เป็นที่ดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนจากธุรกิจค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศเป็นกลุ่มรายได้ Non Oil ที่เติบโตมาตลอดและเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกลุ่มที่ต้องการเพิ่มการเติบโตในส่วนนี้จากกำไรขั้นต้นที่สูง และการหนีจากคำว่า ‘ผูกขาด’

ด้านการเป็นหุ้นขนาดใหญ่ของ ‘OR’ กลับค่อนข้างผิดไปจากที่นักลงทุนคาดการณ์ ด้วยแผนการกระจายหุ้นจำนวน 3,000 ล้านหุ้น คิดเป็นเพียง 25 % ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด ทำให้การกระจายหุ้นเพื่อเป็นมหาชนในครั้งนี้กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่จากภาครัฐ เช่น กระทรวงการคลัง กองทุนวายุภักษ์ ฯ เจอ Dilution Effect น้อยลง และคงความเป็นเจ้าของอยู่เหมือนกับการนำ ปตท. เข้าตลาดหุ้น

นอกจากนี้จำนวนหุ้นที่มีการกระจาย แบ่งเป็น 300 ล้านหุ้นให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นเดิมของ ปตท. เป็นผู้จองสิทธิก่อน ตามรายชื่อ 5 อันดับแรก ยังเป็น กระทรวงการคลัง และกองทุนวายุภักษ์ รวมเป็น 63.27 % ส่วน 2,400 ล้านหุ้น เป็นกลุ่มประชาชนทั่วไปและกลุ่มเฉพาะเจาะจง และที่เหลือ 300 ล้านหุ้นรองรับจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Green Shoe)

ตามวัตถุประสงค์การระดมทุนเพื่อใช้ขยายธุรกิจระหว่างปี 2564-2567 หลักๆจะเป็นการขายเครือข่ายสถานีบริการ ขยายธุรกิจสำหรับตลาดพาณิชย์ ค้าปลีก ที่เหลือเป็นลงทุนคลังและศูนย์กระจายสินค้า และลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ

ด้านการเป็นหุ้นมีที่กำไรวัดจากรายได้ ปี 2560-2562 อยู่ที่ 547,251 ล้านบาท , 594,128 ล้านบาท และ 577,134 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 12,505 ล้านบาท ,9,014.5 ล้านบาท และ10,764 ล้านบาท ตามลำดับ

โดยมีโครงสร้างรายได้หลักมาจากมาจากธุรกิจน้ำมัน มีสัดส่วน 91.1 % ของรายได้รวม เช่น ปั๊ม PTT มีสาขา 1,911 สาขา ลูกค้าตลาดพาณิชย์ หรือ ลูกค้าที่บริหารจัดการปั๊ม 2,600 ราย ศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto 50 แห่ง ซึ่งรายได้ในกลุ่มนี้มีกำไรขั้นต้นสูงถึง 70.1 % และยังมีกำไร(ก่อนหักรายการระหว่างกัน) หรือ EBITDA ถึง 70.6 % จึงทำให้เรียกได้ว่าเป็นรายได้ที่สร้างทั้งกำไรและส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงถึง 40 % จนยากที่จะมีคู่แข่ง

ขณะที่ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และร้านค้า คิดเป็นสัดส่วน 2.9 % ของรายได้รวม สามารถทำกำไรขั้นต้นได้ 25 % ซึ่งประกอบไปด้วย ร้านคาเฟ่เมซอน 2,912 ร้าน ร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ 281 ร้าน เช่น ‘เท็กซัส ชิคเก้น ‘ ‘ฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ’ ‘จิฟฟี่ ‘ เป็นต้น

ธุรกิจอื่นมีต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน5.7 % ของรายได้รวม มีกำไรขั้นต้น 4.7 % และ EBITDA 4.2 % มีการลงทุนในฟิลิปินส์ กัมพูชา และสปป.ลาว ด้วยปั๊มน้ำมัน 302 แห่ง FIT Auto 4 แห่ง ร้านคาเฟ่อเมซอน 216 ร้าน และร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ อีก 79 ร้าน

ข้อมูลดังกล่าวทำให้ ‘OR’ กลายเป็นหุ้นใหญ่กำไรดีได้ไม่ยาก สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนในช่วงที่สถานการณ์คลี่คลายดีขึ้น จึงทำให้จังหวะในการเข้าของหุ้นใหญ่ค้าปลีกรายใหม่จะเป็นเซนติเมนต์บวกให้กับตลาดหุ้นไทยไปด้วยจากความต้องการของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่นั้นเอง