บินไทยลุยเช็คเครื่องบิน เตรียมรับปฏิบัติการฟื้น

บินไทยลุยเช็คเครื่องบิน เตรียมรับปฏิบัติการฟื้น

ฝ่ายช่างการบินไทย เตรียมพร้อมพนักงาน 3.7 พันคน เร่งงานเช็ค-ซ่อมอากาศยานครั้งใหญ่ หลังหยุดบินชั่วคราวทุกเส้นทางเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี เผยมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มจากการรับดูแลเครื่องบินสายการบินอื่นด้วย

นายเชิดพันธ์ โชติคุณ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง (DT) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่บริษัทฯ ได้ประกาศให้พนักงานหยุดงานชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. – 31 พ.ค.2563 เพื่อสอดคล้องกับการประกาศหยุดบินชั่วคราวเป็นระยะเวลา 2 เดือนนั้น ในส่วนของฝ่ายช่าง ยังเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องจัดตารางงานสลับกันมาทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะนับเป็นโอกาสที่จะตรวจเช็ค และเร่งงานซ่อมบำรุงอากาศยาน

“เครื่องบินของการบินไทยที่มีอยู่จำนวนประมาณ 82-83 ลำ ตอนนี้ก็จอดพัก เพราะเราไม่ได้ทำการบิน ถือเป็นโอกาสที่เราจะนำเครื่องบินทั้งหมด ทยอยเข้ามาตรวจเช็ค และดำเนินการซ่อมบำรุงตามวาระ เพื่อบำรุงรักษาเครื่องให้พร้อมต่อการเปิดทำการบินอีกครั้ง”

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพนักงานฝ่ายช่างของการบินไทย มีจำนวนอยู่ราว 3.7 พันคน ขณะนี้ศูนย์ซ่อมมีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ การซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) ที่ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา และศูนย์ซ่อมดอนเมือง ขณะที่การซ่อมบำรุงปกติ จะดำเนินการที่ศูนย์ซ่อมสุวรรณภูมิ 

ทั้งนี้ นอกจากการเตรียมความพร้อมเพื่อซ่อมบำรุงอากาศยานของการบินไทยแล้ว ขณะนี้ยังเป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้จากการเปิดรับซ่อมอากาศยานของลูกค้าสายการบินอื่น

นายเชิดพันธ์ ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าของการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา ด้วยว่า จากที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการฯ ได้มีมติขยายกำหนดยื่นข้อเสนอให้กับบริษัท แอร์บัส จากเดิมวันที่ 6 มี.ค.2563 เป็นวันที่ 20 เม.ย.2563 นั้น ขณะนี้การบินไทยยังไม่ได้รับข้อมูลจากทางแอร์บัสเพิ่มเติม ว่าจะมีการยื่นข้อเสนอหรือไม่ อีกทั้งปัจจุบันการบินไทยก็อยู่ระหว่างวางแผนรับมือโควิด -19 และเตรียมกลับมาทำการบิน

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า พนักงานฝ่ายช่างการบินไทย เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ไม่ได้ใช้สิทธิหยุดงานเหมือนกับบางหน่วยธุรกิจ เนื่องจากช่วยที่อุตสาหกรรมการบินต้องหยุดบินชั่วคราว ถือเป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้ในการซ่อมอากาศยาน ซึ่งเบื้องต้นพนักงานฝ่ายช่างได้จัดทำตารางงานสลับหมุนเวียนกัน เพื่อมาช่วยงานซ่อมบำรุงอากาศยานโดยไม่ได้หยุดพัก และไม่ได้ค่าตอบแทน หรือค่าล่วงเวลา

ทั้งนี้ การหยุดบินชั่วคราวของการบินไทยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถือเป็นการหยุดบินครั้งแรกในรอบ 60 ปีนับตั้งแต่มีการจัดตั้งการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ จึงนับเป็นครั้งแรกที่จะมีการซ่อมบำรุงอากาศยานครั้งใหญ่ อากาศยานจะได้รับการตรวจเช็คสภาพและความพร้อมเกือบทุกลำ เพื่อเตรียมกลับไปทำการบินอีกครั้ง

“การตรวจเช็คอากาศยานในฝูงบินของการบินไทยทั้งหมดนี้ ไม่ได้เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับองค์กร เพราะการซ่อมบำรุงอากาศยานที่เป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ มีกำหนดไว้ในกรอบเวลาซ่อมตามกำหนดอยู่แล้ว เราไม่สามารถนำเครื่องมาซ่อมก่อนเวลากำหนดได้ แต่จะเป็นการตรวจเช็คสภาพความพร้อม หากเครื่องบินลำไหนถึงเวลาซ่อมเราก็จะนำเข้าซ่อมทันที”

สำหรับงบประมาณค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยาน ในปี 2562 ที่ผ่านมา การบินไทยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1.71 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ที่มีรายจ่าย 1.84 หมื่นล้านบาท ขณะที่งบประมาณค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยาน รวมการบินไทยและไทยสมายล์ อยู่ที่ 1.93 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ที่มีรายจ่ายรวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนงบประมาณในปีนี้ คาดว่าจะรวมอยู่ที่ราว 2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา นายจักรกฤศฏ์ พาราพันธกุล รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) ได้ลงนามออกประกาศ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 042/2563 เรื่องบริษัทฯ หยุดการทำการบินเป็นการชั่วคราว โดยระบุว่า บริษัทต้องหยุดทำการบินเป็นการชั่วคราวตั้งแต่  1 เม.ย.2563- 31 พ.ค.2563 เนื่องจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ส่งผลกระทบ ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องให้พนักงานหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2563 - 31 พ.ค.2563