หมอห่วงเชื้อ 'โควิด' ส่อลากยาวถึงปีหน้า

หมอห่วงเชื้อ 'โควิด' ส่อลากยาวถึงปีหน้า

แพทย์ย้ำการระบาดโควิด-19 ลากยาวหรือไม่ ขึ้นกับความร่วมมือประชาชน-มาตรการภาครัฐ ชี้สถานการณ์ดีกว่าภาพรวมทั่วโลก แต่ยังวางใจไม่ได้ มีโอกาสกลับมาระบาดรอบ 2 โดยธรรมชาติโรคระบาดเกิดได้ถึง "3 เวฟ"

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดไปกว่า 200 ประเทศทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 1.2 ล้านคน การคาดการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาจากหลายฝ่าย ได้เน้นย้ำถึงมาตรการและความร่วมมือของประชาชนเป็นสำคัญในการกำหนดทิศทางโรค อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ของรัฐที่จะออกมา อาจต้องดูพื้นฐานประชาชนในชาติร่วมด้วย

ถึงแม้จะมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลปิดประเทศเหมือนประเทศจีน เพื่อให้โรคสงบโดยเร็วในระยะเวลาเพียง 3 เดือน แต่หากมองข้อมูลลึกลงไปในรายละเอียดจะพบว่า ประชาชนชาวจีนต้องทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด และแม้ว่าโรคจะสงบแล้ว ก็ยังไม่สามารถเปิดประเทศได้เนื่องจากยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ การที่มีผู้นำเชื้อเข้าประเทศใหม่ อาจทำให้เชื้อลุกลามและแพร่กระจายรุนแรงได้เหมือนในระลอกแรก

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่กำหนดจำนวนการติดเชื้อ คือ ความรู้ความเข้าใจ ของประชาชนในชาติ หากเราแนะนำเขาว่าอย่าออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น ใส่หน้ากากอนามัย ทำ Social Distancing เว้นระยะห่างกัน 2 เมตร หากเขาทำจำนวนการติดเชื้อจะลดลง แต่หากยังไปเบียดไหล่กันในสถานบันเทิง ดื่มกิน ตั้งวงทานข้าวกันที่สวนสาธารณะ ริมทะเล แบบนี้ผู้ติดเชื้อไม่ลด ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจ บวกกับความมีวินัยของคนในชาติ คือปัจจัยสำคัญ วินัยจะเกิดหลังความรู้ความเข้าใจ หากไม่มีความรู้ความเข้าใจไม่มี จะเหมือนคนดื้อที่ไม่เชื่อว่ามันจะแพร่ และมีคนส่วนน้อยที่รู้ แต่ก็ยังดื้อ ภาคประชาชนสำคัญกว่าภาครัฐ

นอกจากนี้ยังมีมาตรการของรัฐ รัฐต้องออกมาตรการที่เข้มและเหมาะกับอุปนิสัยของประชาชน เราจะไปบอกว่ารัฐออกมาตรการเข้มไปหรืออ่อนไปไม่ได้ จนกว่าเราจะดูนิสัยของประชาชนในประเทศก่อน หากประชาชนมีวินัย ระมัดระวัง รัฐจะออกมาตรการเบามาก ให้แต่ความรู้อย่างเดียว ไม่ต้องเคอร์ฟิว ไม่ปิดผับ ไม่ปิดสนามมวย แต่จะไม่มีคนไปเอง แต่การที่รัฐต้องปิดสถานบันเทิง ปิดสนามมวย เพราะยังมีคนที่ไม่เข้าใจไปในสถานที่เหล่านี้

เมื่อรัฐพึ่งระเบียบวินัยไม่ได้ จึงต้องออกมาตรการ ส่วนมาตรการจะเข้มมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับประชาชน หากเราทำตัวกันได้ดีมาก รัฐจะผ่อนมาตรการลงเรื่อยๆ หากประชาชนส่วนน้อยไม่มีระเบียบวินัย รัฐจะออกมาตรการเข้มขึ้น และกระทบต่อคนส่วนใหญ่ ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ จะเป็นตัวกำหนดการเพิ่มผู้ติดเชื้อ

  • 2 ทางเลือกเปลี่ยนแปลง (โรค)

นายแพทย์เฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยทำได้ดีปานกลาง จะดีมากประชาชนต้องร่วมมือให้ดีกว่านี้ สุดท้าย การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ คือ โดยธรรมชาติ คือ เชื้อแพร่ไปจนมีคนติดเชื้อครบ 60% ของประชากรโลก โรคนี้จะมีภูมิคุ้มกันจากผู้รอดชีวิตเอง และโรคจะสงบไม่มีการระบาด ดูตัวอย่างจากไข้หวัดสเปนเมื่อกว่า 100 ปีก่อน พอมีผู้เสียชีวิตครบ 50 ล้านคน ติดเชื้อ 1 ใน 3 ของประชากรโลกทุกอย่างก็จบ มนุษย์ที่เหลือก็ดำเนินชีวิตต่อไปได้ คนเสียชีวิตทั่วโลกจะอยู่ที่ประมาณ 10-100 ล้านคน

และเปลี่ยนแปลงด้วยน้ำมือมนุษย์ คือ มาตรการที่จะเข้มหรืออ่อน แต่ต้องทำ สุดท้าย คือ การคิดวัคซีนสำเร็จเมื่อไหร่ เรื่องตามธรรมชาติก็จะถูกทอนให้จบลงโดยเร็ว แทนที่จะมีคนเสียชีวิต 10-100 ล้านคน ติดเชื้อ 1,000 ล้านคนจะไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะวัคซีนจะปูพรมฉีดให้ประชากรทั่วโลก

“ในฐานะแพทย์ ผมลุ้นให้มีวัคซีนให้ได้ ใครมีสรรพกำลังตรงไหน รัฐจะเอื้อให้นักวิจัยมาเจอกันได้อย่างไร ร่วมมือกัน วัคซีนต้องใช้เวลาอย่างน้อยไม่มีทางเร็วกว่าสิ้นปีนี้ เพราะแม้จะคิดค้นได้ และทดลองฉีดในคน กว่าจะพิสูจน์ว่าปลอดภัยและได้ผลกับคนตามเกณฑ์ก็ต้องราวสิ้นปี หากวัคซีนออกเมื่อไหร่ โรคก็จบเมื่อนั้น หากวัคซีนไม่ออก ก็ต้องเป็นไปตามธรรมชาติของไวรัส ก็ต้องสู้กันไป เราต้องประคองประเทศไว้ อย่าให้คนติดเชื้อมาก อย่าให้คนเสียชีวิตมาก ทุกประเทศทำแบบนี้” นายแพทย์เฉลิมชัย กล่าว

  • สถานการณ์ทั่วโลกยังไม่ดี

นายแพทย์เฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า ในระดับโลกถือว่าสถานการณ์ไม่ดียกเว้นประเทศจีน ผู้ป่วยทั่วโลก 1,201,964 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 5 เมษายน) อัตราการเพิ่ม 9.7% เมื่อเทียบกับวานนี้ อัตราการเสียชีวิต 64,727 ราย หรือ 5.39% ขณะที่ไทย มีผู้ติดเชื้อ 2,169 ราย อัตราการเพิ่มต่อวัน 4.93% ต่ำกว่าสัดส่วนของโลก อัตราการเสียชีวิต 1.36% หรือ 23 คน

“แม้สถานการณ์ของไทยดีกว่าทั่วโลก แต่สบายใจได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ได้ เราจะร้ายแรงน้อยลงก็ต่อเมื่อทำให้อัตราการติดเชื้อของไทยลงไปต่ำกว่าวันละ 3% ขณะเดียวกัน สถานการณ์ผู้เสียชีวิตจะสัมพันธ์กับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ คือ หากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเกินระบบสาธารณสุขรองรับไว้ อัตราการเสียชีวิตจะก้าวกระโดดขึ้นมาเอง ทั้งๆ ที่คุณภาพของแพทย์ พยาบาล เครื่องช่วยหายใจ เหมือนเดิม แต่รองรับไม่ทัน อัตราการเสียชีวิตจึงไว้ใจไม่ได้ เพราะหากผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลเมื่อไหร่ อัตราการเสียชีวิตจะสูง เช่น อิตาลี สเปน

นายแพทย์เฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า เวลาผู้ติดเชื้อน้อย อัตราการเสียชีวิตจะน้อย แต่หากมีผู้ติดเชื้อมาก อัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นแบบไม่สัมพันธ์กัน ยกตัวอย่างเช่น หากเรามีผู้ติดเชื้อ 10,000 ราย มีผู้เสียชีวิต 100 ราย คิดเป็น 1% แต่หากเรามีผู้ติดเชื้อ 1 แสนคน เราจะไม่มีผู้เสียชีวิต 1,000 ราย มันจะกลายเป็น 3,000 – 5,000 ราย จากระบบสาธารณสุขที่รองรับไม่ไหว คนที่ไม่ควรเสียชีวิตก็ต้องเสียชีวิตไปด้วย เพราะเครื่องช่วยหายใจไม่พอ แพทย์ไม่พอ เช่น ในประเทศอังกฤษ ที่ต้องปล่อยให้นอนเสียชีวิตตามทางเดินโรงพยาบาล หรือ อิตาลี ช่วงแรกที่ต้องนอนอยู่นอกโรงพยาบาล หรือที่นิวยอร์ค ก็เกิดเหตุการณ์เดียวกัน

  • แม้โรคสงบเร็วก็เปิดประเทศไม่ได้

นายแพทย์เฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของประเทศจีนประคองเร็วแบบเจ็บปวด หยุดโรคได้ภายใน 3 เดือน ประชากรจะต้องเสียสละ สำหรับคนที่เรียกร้องให้ทำแบบจีน แน่ใจหรือไม่ว่าหากเจอเหตุการณ์แบบนั้นแล้วจะรับความเดือดร้อนได้ เพราะเขาไม่ได้ปิดเมืองหรือปิดหมู่บ้านเท่านั้น แต่เขาปิดบ้านทุกคน แต่ละครอบครัวต้องหาคนที่แข็งแกร่งที่สุด โอกาสเสียชีวิตน้อยที่สุด ครอบครัวละ 1 คน กำหนดชื่อ และอนุญาตให้ออกมาได้ 1-2 ครั้ง ตามจุดที่กำหนด เขาเข้มขนาดนั้นถึงจะสำเร็จ จีนทำได้เพราะเขาไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ เขารู้ว่าเขาทำสิ่งที่ดี เป็นเผด็จการเพื่อให้คนรอดตาย

“หากไทยเราเอาอย่างจีน ก็ไม่แน่ใจว่าจะรับไหวหรือไม่ แต่หากทำแล้วโรคสงบ หลังจากนั้นก็ยังเปิดประเทศไม่ได้ เพราะเราไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งก็เหมือนกับจีนที่ตอนนี้ยังเปิดประเทศไม่ได้ เขาอยู่กันเองในประเทศ หากคนติดเชื้อรายใหม่เข้าไปแม้แต่รายเดียว ก็จะเกิดการระบาดรอบที่ 2 และจะรุนแรงไม่ต่างจากรอบแรก ดังนั้น การล็อคดาวน์ มันมีผลเสียรออยู่ คือ เปิดประเทศไม่ได้ จนกว่าจะมีวัคซีนใหม่”

  • จบไวไม่ได้แปลว่าจะหายขาด

นายแพทย์พจน์ อินทลาภาพร อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ หัวหน้างานโรคติดเชื้อกลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี โครงการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจจะต้องงดขายเหล้าจะตรงเป้ามากขึ้น ต่อให้มีร้านอาหาร แต่ไม่มีเหล้าขายคนก็ตั้งวงไม่ได้ โอกาสที่จะเอาเชื้อไปแพร่ที่บ้านก็จะน้อยลง และอาจต้องปรับระบบงบประมาณให้มีสัดส่วนในการนำ งบกลาง มาช่วยเรื่องโควิดให้มากขึ้น เพราะถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งและคุ้มค่า เพราะชีวิตคนถือเป็นทรัพยากรที่ประเมินค่าไม่ได้ เป็นเรื่องสำคัญ

“โรคโควิดจะยืดเยื้อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการระบาด ธรรมชาติของโรคระบาดทั่วไปจะเป็นระลอกประมาณ 3 เวฟ ในขณะที่ไทยอยู่ในเวฟแรกขาขึ้น เวฟแรกของจีนลงไปแล้วกำลังเข้าสู่เวฟที่ 2 แต่ละประเทศเข้าสู่เวฟ 1 และ เวฟ 2 ไม่พร้อมกัน ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดทั่วโลก เหมือนมองไปที่ผิวน้ำทะเล มีคลื่นซ่อนๆ กันอยู่ ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่คาดการณ์ยาก

ปกติเวลามีการระบาดของโรค การคำนวณด้านระบาดวิทยา ต้องคำนวณว่าประชากรที่ไม่มีภูมิต้านทานโรคเลย เวลาป่วยแต่ละครั้งจะมีผู้ป่วยกี่เปอร์เซ็น ยกตัวอย่างว่า หากมีประชากรต้องป่วย 1 ล้านคน จะให้คน 1 ล้านคน ป่วยในเวลา 2 -3 เดือน หรือทยอยป่วยในเวลา 2 ปี เราคงอยากให้ป่วยไป 2 ปีมากกว่า เพราะหากป่วยใน 3 เดือน คนไข้ล้น โรงพยาบาลเตียงน้อย แพทย์ไม่เพียงพอ โอกาสที่คนป่วยจะเสียชีวิตก็จะสูง ในขณะเดียวกันหากให้ทยอยป่วย 2 ปี ทรัพยากรต่างๆ จะเพียงพอมากกว่า เพราะสามารถบริหารเตียงได้ และสามารถดูแลคนไข้ได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

แต่เมื่อมันยืด ความเสียหายชีวิตคนน้อย แต่ด้านเศรษฐกิจอาจจะกระทบระยะยาว แต่หากถามว่าจบเร็วและเศรษฐกิจดีระยะยาวจริงหรือไม่ อันนี้ไม่แน่อีก สมมติเราจบได้ภายใน 6 เดือน แต่ประเทศอื่นยังไม่จบ ก็ติดกลับมาใหม่อีก ท้ายสุดเราลงทุนไปก้อนใหญ่ แต่ก็กลับมาระบาดอีกซ้ำเดิม กลายเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้

“โรคโควิด-19 แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ผ่านมา ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน ก็สงบ แต่ตอนนั้นข้อดีคือมียารักษามาทันการ และยาก็ได้ต่อเนื่องเรื่อยๆ ทำให้เรารักษาได้ทัน แต่ตอนนี้สถานการณ์ต่างกัน ยาที่มีก็ไม่ใช่ยามาตรฐาน นอกจากนี้ ทั่วโลกก็ยังพยายามเอายาไปใช้ทำให้ยาไม่พอ ดังนั้น โรคโควิด -19 จึงอาจจะต้องใช้เวลายาวนานกว่าคาดการณ์ว่าอาจจะยาวนานไปจนหลังปีใหม่ในปี 2564” นายแพทย์พจน์ กล่าว

  • ปชช.-มาตรการต้องไปด้วยกัน

นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานกรรมการสาธารณสุข และนายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์น่าจะค่อยๆ ดีขึ้น ถ้าเราจำกัดเรื่องจำนวนคนต่างชาติเข้ามา เพราะช่วงที่ผ่านมาคนที่ป่วยมาจากคนต่างชาติและคนไทยที่กลับบ้าน ระยะที่เราคัดกรองคนมากขึ้น ก็จะเจอมากขึ้น เหมือนอู่ฮั่นที่ระยะหนึ่งเจอมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเขาเร่งรัดเรื่องการคัดกรองการสัมผัสโรค แต่จะเจอในลักษณะยังไม่ป่วยเยอะก็จะเอาไปกักตัว กักแยก เพื่อไม่ให้ไปแพร่โรค นี่เป็นมาตรการที่ผู้เกี่ยวข้องกำลังเตรียมการกันอยู่ พอเราตรวจเยอะก็เจอคนติดเชื้อเยอะ คนที่อาการน้อยหรือไม่มีอาการในช่วงแรกต้องให้ตรวจปอดที่โรงพยาบาล หากไม่มีอาการเลย 1-2 วันก็ย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม เพื่อกันเตียงไว้รับคนที่มีโอกาสจะป่วยหนักหรือป่วยหนัก นี่เป็นมาตรการที่เราเตรียมการ

ทั้งนี้ประชาชนกับมาตรการต้องไปในทิศทางเดียวกัน เพราะมาตรการเราต้องการลดการสัมผัสโรค ไม่ให้มารวมกลุ่มกัน ตั้งแต่ปิดสถานบริการ หรือเคอร์ฟิว ไม่ให้คนกลุ่มใหญ่มาเจอกัน รวมถึงมาตรการ Social Distancing การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล จะต้องได้ใช้ทั้งในเชิงประชาชนให้ความร่วมมือ โดยสมัครใจ และที่บังคับให้ทำ เช่น ขึ้นรถเมล์ก็ต้องนั่งเว้นวรรค ร้านอาหารก็ต้องนั่งเว้นวรรค การเข้าแถวต้องตีเส้นทั้งหมด นอกจากนี้ต้องเว้นระยะห่างระหว่างผู้สูงอายุในบ้าน อย่าเอาโรคไปให้ผู้สูงอายุ ต่อหน้าผู้สูงอายุต้องใส่หน้ากากอนามัย และพยายามอย่าสัมผัสร่างกาย ยืนห่างกันพอสมควร

“อยากจะเน้นย้ำ สำหรับคนที่กลับจากต่างประเทศ หรือต่างชาติที่เข้ามา ต้องโดนกักกัน 100% เวลา 14 วัน ขอให้ให้ความร่วมมือด้วย ไม่เช่นกันก็สะสมไปเรื่อยๆ ไม่จบ วันนี้ต้องเอาจริงเพราะหากปล่อยไปมากกว่านี้จะเอาไม่รอด แทนที่ต้องกักตัวคนเดียว ก็จะพาลเอาพี่น้องเขาที่สัมผัสในคืนแรกมาด้วย กลายเป็นปัญหา ต้องให้ความเข้าใจและความร่วมมือ เพราะมันผิดกฎหมายและเขาจะทำให้คนอื่นลำบากต้องหยุดงาน ต้องมีเคอร์ฟิว ต้องตกงาน ต้องรู้ว่าหน้าที่คืออะไรตามกฎหมาย”