ปชป. ห่วง 'ขยะติดเชื้อ' เป็นแหล่งแพร่โควิด – 19

ปชป. ห่วง 'ขยะติดเชื้อ' เป็นแหล่งแพร่โควิด – 19

"ศิริภา" ห่วง "ขยะติดเชื้อ" เป็นแหล่งแพร่โควิด – 19 วอนรัฐรณรงค์แยกขยะทิ้งลงถังปิด

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 63 น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากถึง 1,275,146 คน ที่นอกจากเรามีความจำเป็นเร่งด่วนในการหามาตรการป้องกันแล้ว ซึ่งขณะนี้เชื่อว่ารัฐบาลได้ทำอย่างเต็มที่ แต่ก็มีบางเรื่องที่รัฐบาลควรหามาตรการควบคู่กันด้วย การวางแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมพร้อมรับมือกับ “ขยะติดเชื้อ” จากอุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดใช้แล้วทิ้งที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการฆ่าเชื้อก่อน และกำจัดด้วยการเผาด้วยเตาเฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสโควิด 19 แพร่กระจายอีกทาง

“ตัวอย่างเช่น หน้ากากอนามัย ชนิดใช้แล้วทิ้งเป็นขยะติดเชื้อ หากไม่กำจัดอย่างถูกวิธีจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ปัจจุบันมีเพียงหน่วยงานสังกัด กทม. ได้เริ่มดำเนินการเพิ่มจุดตั้งถังขยะติดเชื้อ แต่เนื่องจากขณะนี้ที่มีการระบาดไปยังต่างจังหวัด จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มจุดตั้งถังขยะชนิดปิดสนิท ทั่วทั้ง กทม. และท้องถิ่น พร้อมรณรงค์เรื่องการคัดแยกขยะติดเชื้อ และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงวิธีการทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกสุขลักษณะ” น.ส.ศิริภา กล่าว

น.ส.ศิริภา กล่าวต่อว่า หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งนั้น มีส่วนผสมของ “พอลิโพรไพรีน” (polypropylene) หรือมีส่วนผสมของพลาสติกในการป้องกันเชื้อโรคและกันของเหลว ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานมากในการย่อยสลาย อันจะกลายเป็นปัญหาสำคัญสำหรับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะก่อให้เกิดมลพิษอันตรายต่อวัฏจักรชีวิตของทั้งคนและสัตว์อย่างร้ายแรง ดังที่เคยมีข่าวสัตว์ทะเลเสียชีวิต จากการกินขยะที่เป็นชิ้นส่วนพลาสติก และไมโครพลาสติก ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เป็นอาหาร ทำให้ขยะพลาสติกตกค้างอยู่ในสัตว์ และเมื่อนำสัตว์นั้นมาเป็นอาหาร สิ่งตกค้างก็สามารถเข้าสู่ร่างกาย และเป็นอันตรายมากต่อสุขภาพได้ จึงเห็นว่ารัฐควรสนับสนุนรณรงค์ให้ผู้ที่ไม่เสี่ยงหันมาใช้หน้ากากผ้าแทนการใช้หน้ากากอนามัย เพื่อลดปริมาณขยะที่เป็นพิษและย่อยสลายได้ยาก แล้วสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยไม่จำเป็น

ทั้งนี้ เชื่อว่า การบริหารจัดการปัญหาอย่างรัดกุม และเป็นยุทธศาสตร์ จะสามารถผูกมาตรการร่วมในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้าไปในแผนหลักของทาง ศบค. ได้อย่างเป็นระบบ เพราะหลายเรื่องมีการดำเนินการมาอยู่แล้ว และบางเรื่องจะเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อป้องกันปัญหาใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น

ดังนั้น รัฐบาลควรหามาตรการควบคู่ไปกับการรณรงค์ป้องกัน คือมาตรการเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะติดเชื้อ อย่างหน้ากากอนามัยชนิดใช้แล้วทิ้ง รวมถึงขยะพลาสติกอื่นๆ ที่มีอัตราเพิ่มมากขึ้นในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด 19 อาทิ ขวดเจลล้างมือที่ใช้แล้ว กระดาษชำระเปียก หรือกล่องอาหารพลาสติก (บริการสั่งอาหารกลับบ้าน) ซึ่งการรณรงค์เกี่ยวกับการนำบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือย่อยสลายง่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้อย่างคึกคัก จะต้องได้รับการกระตุ้นขึ้นมาอีกครั้ง ผ่านมาตรการต่างๆ ในการรับมือกับขยะพลาสติกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องบูรณาการควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19