'อัศวิน' แม่ทัพบีเจซี ชี้โควิด 'ตัวเร่ง' องค์กรโตแกร่ง

'อัศวิน' แม่ทัพบีเจซี ชี้โควิด 'ตัวเร่ง' องค์กรโตแกร่ง

“บีเจซี” กลายเป็นหนึ่งในองค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย มีรากฐานจากการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค โรงงานบรรจุภัณฑ์แก้ว กระป๋อง หลังการซื้อ “บิ๊กซี” ก้าวสู่ “บิ๊กค้าปลีก” มีรายได้ “แสนล้าน”  วันนี้ “โควิด-19” กำลังพลิกองค์กรก้าวอีกสเต็ป 

"บีเจซี-บิ๊กซี" หนึ่งใน 5 ธุรกิจหลักของไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือทีซีซี กรุ๊ป อาณาจักรของ "เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี" ที่ยังสร้างการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ทว่า ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภาพการขับเคลื่อนอาณาจักรโดย "เขยเล็ก-บุตรสาว" "อัศวิน-ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล" กำลังเผชิญความท้าทายอย่างมาก 

แม่ทัพใหญ่ “บีเจซี-บิ๊กซี” เผยผลกระทบโควิดลามทุกภาคส่วนทั้งองค์กร ลูกค้า คู่ค้า ด้านบริษัทวางแผน 5-10 มีความแข็งแกร่ง แต่ต้อง “สปีด” ปรับตัวเร็วขึ้นตลอด 3 เดือนแรก หลังโรคระบาดเป๋นตัวแปรในอัตราเร่ง ย้ำภาคการผลิตทั้งสินค้าจำเป็นเดินหน้า ลุยเพิ่มกำลังการผลิตทิชชู่ ในไทย เวียดนาม กัมพูชา ด้านโรงงานขวดแก้วในไทย มาเลเซีย เวีดยนาม เข้มผลิตสินค้าป้อนเวชภัณฑ์ยา อาหาร 

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรหลายประการ โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรก ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากบริษัทมีการปรับตัวท่ามกลางวิกฤติเพื่อพลิกเป็นโอกาส และผลักดันให้องค์กรมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น 

158618286350

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนธุรกิจระยะยาว 5-10 ปี ในการสร้างองค์กรให้มีความแข็งแกร่ง แต่จากวิกฤติทำให้ต้องทำสิ่งต่างๆเกิดขึ้นภายในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เช่น การปรับองค์กรให้มีประสิทธิภาพหรือ Non-bureaucracy system หามาตรการต่างๆมาดูแลพนักงาน การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน ทั้งทำงานจากที่บ้านหรือ Work from home การประชุม สื่อสารกับพนักงานทั้งในองค์กรและสาขา ผ่านวิดีโอคอลล์ เป็นต้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงกันมากขึ้น ตลอดจนการดำเนินงานต่างๆเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าหรือผู้บริโภคในยุคสมัยใหม่ด้วย 

นอกจากนี้ ด้านการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเวชภัณฑ์ยา ไม่ว่าจะเป็นกระดาษทิชชู่ แอลกอฮอล์เจล ผลิตภัณฑ์ล้างทำความสะอาด และสบู่ฯ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากในยามวิกฤติ ได้ดำเนินการเพิ่มกำลังการผลิต โดยเฉพาะโรงงานทิชชู่ ทั้งในประเทศไทย กัมพูชา เวียดนาม รวมถึงโรงงานบรรจุภัณฑ์สินค้า โดยเฉพาะขวดแก้วทั้งในไทย มาเลเซีย และเวียดนาม ยังดำเนินการอยู่ให้บริการและดูแลการผลิตอย่างดี เพราะเป็นส่วนสำคัญในการป้อนบรรจุเวชภัณฑ์ยาและสินค้าอาหารที่จำเป็น

1586182602100

ส่วนธุรกิจเวชภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการทำงานอย่างหนัก โดยพนักงานราว 400 ชีวิต ได้บริการสินค้า อุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ต่างๆ เพื่อส่งมอบถึงมือบุคลากรทางการแพทย์ในยามวิกฤติเช่นกัน ขณะเดียวกันคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี รองประธานบริษัท ได้ให้มอบเสื้อผ่าตัด หน้ากา เฟสชีลด์ต่างๆ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือในการนำไปปฏิบัตหน้าที่ดูแลป้องกันและรักษาผู้ป่วย

ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่อย่าง บิ๊กซี ยังคงเปิดให้บริการและทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นช่องทางในการนำสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเข้าถึงลูกค้าในภูมิภาคอาเซียน ไม่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น โดยอาศัยความแข็งแกร่งของทีมงานการขนส่งและกระจายสินค้าหรือโลจิสติกส์ ศูนย์กลางกระจายสินค้า(ดีซี)นำสินค้าจากคู่ค้าที่มีอยู่อย่างจำกัด ส่งต่อไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น รวมถึงการใช้เครือข่ายโลจิสติกส์ช่วยรัฐบาลนำสินค้าเวชภัณฑ์ เช่น หน้ากากอนามัย ส่งต่อให้เข้าถึงประชาชนทั่วประเทศมากขึ้น 

158618262143

 “ต้นปี เราหวังว่าจะเป็นอีกปีหนึ่งที่ดี แต่ 3 เดือนแรกของปี 2563 กลับเป็นห้วงเวลาที่มีความท้าทายอย่างมาก เพราะบริษัทเรามีการปรับตัวเผชิญทั้งวิกฤติและโอกาส เพื่อทำให้องค์กรแข็งแกร่ง เรามีการตัดสินใจหลายอย่างอย่างรวดเร็ว เพื่อจะดูแลพนักงาน คู่ค้า ลูกค้าและพันธมิตรของเรา ขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบกับลูกค้า คู่ค้าของบริษัท เดือนก.พ.บิ๊กซีบางสาขาได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง เดือนมี.ค. ท้าทายอย่างมาก เพราะการแพร่ระบาดของโรคกระทบคู่ค้า ลูกค้าในประเทศมากขึ้น ในเวลานี้จึงเป็นทั้งความยากลำบากและท้าทาย เพราะสินค้าต่างๆที่เป็นของคู่ค้า หรือสินค้าที่บีเจซีผลิตได้มีอยู่จำกัด ทำให้เราต้องทำงานกับทุกส่วนใกล้ชิดมากขึ้น”

 อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดกับทุกภาคส่วน ทำให้เชื่อมั่นว่าองค์กรจะฝ่าวิกฤติไปด้วย และมีโอกาสแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต